xs
xsm
sm
md
lg

Review : Asus EeePad Slider ทางเลือกของคนต้องการคีย์บอร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



กลายเป็นเจ้าพ่อทำแท็บเล็ตพร้อมคีย์บอร์ดไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ Asus ที่นอกจากจะมีรุ่น Tranformer ที่เป็นแท็บเล็ตที่สามารถเชื่อมต่อกับฐานเพื่อใช้งานคีย์บอร์ดแล้ว ก็ยังมี Slider ที่เป็นแท็บเล็ตที่มาพร้อมคีย์บอร์ด QWERTY ที่สามารถสไลด์ออกมาใช้งานได้ทันที

การออกแบบและสเปก



ความโดดเด่นของ Eee Pad Slider SL101 คงหนีไม่พ้นคีย์บอร์ด 4 แถวที่อยู่ใต้หน้าจอ เพราะทำให้ผู้ใช้สามารถป้อนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วทุกที่ทุกเวลา ถ้าตอนไหนไม่ต้องการใช้งานคีย์บอร์ดก็สามารถสไลด์เก็บเพื่อใช้เป็นจอทัชสกรีนธรรมดาได้



ตัวเครื่องมีให้เลือก 2 สีคือ น้ำตาล และ สีขาว โดยมีขนาดตัวเครื่องของ Slider อยู่ที่ 273 x 180.3 x 17.3 มิลลิเมตร น้ำหนัก 960 กรัม จะเห็นได้ว่าตัวเครื่องค่อนข้างหนา ไม่ต่างจากโน้ตบุ๊กในท้องตลาดสักเท่าไหร่ ส่วนขนาดหน้าจออยู่ที่ 10.1 นิ้ว แบบ LED Backlight ความละเอียด WXGA (1280 x 800 พิกเซล) มีเซ็นเซอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ กล้องหน้าความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซล



ด้านหลัง - ตัวเครื่องให้อารมณ์เหมือนโน้ตบุ๊กของเอซุส มีฐานยางช่วยให้ยึดติดกับพื้นผิวเวลาวางเครื่อง ตรงกลางเป็นกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมออโต้โฟกัส




ด้านซ้าย - มีปุมเปิดเครื่อง ปรับระดับเสียง รีเซ็ต และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด ด้านขวา - เป็นพอร์ตยูเอสบี และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มมง



ด้านบน - เป็นที่อยู่ของช่องเสียบสาย miniHDMI และพอร์ต 30 pin สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และชาร์จเครื่อง



เลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดที่ให้มาเป็นแบบมาตรฐานภาษาอังกฤษ คือมีให้เพียง 4 แถว แต่ตัวคีย์บอร์ดสามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ โดยจะมีปุ่มควบคุมเพิ่มเติมอย่าง โฮม ย้อนกลับ เมนู และค้นหา ติดอยู่ที่คีย์บอร์ดด้านล่างด้วย



โดย Eee Pad Slider มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.1 (สามารถอัปเกรดเป็น 3.2 ได้ในอนาคต) ทำงานด้วยหน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra 2 ดูอัลคอร์ 1 GHz RAM 1 GB หน่วยความจำภายใน 16 GB (ใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้) รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 b/g/n บลูทูธ 2.1

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ และ ทดสอบประสิทธิภาพ



การที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.1 (HoneyComb) เหมือนกันทำให้ฟีเจอร์ของ Eee Pad Slider ไม่แตกต่างจากแท็บเล็ตแอนดรอยด์รุ่นอื่นๆในตลาดมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะทาง Asus ได้ใส่ความสามารถพิเศษเพิ่มเข้าให้อย่าง แหล่งเก็บข้อมูลออนไลน์ การใช้งานแท็บเล็ตควบคุมคอมพิวเตอร์ และแอปฯสำหรับอ่านหนังสือ - นิตยสาร

หน้าจอหลักของ Slider มีทั้งหมด 5 หน้าด้วยกัน ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใข้สามารถปรับแต่งภาพพื้นหลัง เปลี่ยนไอคอนลัดของแอปพลิเคชันได้ตามความต้องการ โดยมีปุ่มควบคุมหลักอยู่มุมซ้ายล่างคือ ปุ่มย้อนกลับ โฮม และเรียกดูแอปฯที่ใช้งานก่อนหน้านี้ ส่วนฝั่งขวาล่างเป็นส่วนแสดงข้อมูลการแจ้งเตือนต่างๆ ตามปกติ



ในแอนดรอยด์ 3.1 ผู้ใช้สามารถเรียกดูรายการย้อนหลังได้เป็น 10 แอปฯ จากเดิมที่เคยจำกัดอยู่ราว 5 แอปฯ ล่าสุดเท่านั้น ซึ่งในจุดนี้ยังช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกสลับไป-มา ระหว่างการใช้งานแต่ละแอปพลิเคชัน ในรูปแบบของมัลติเทสกิ้งได้ด้วยนั่นเอง



Asus Web Storage เป็นหนึ่งในบริการที่อยู่ใน My Cloud คือแหล่งเก็บข้อมูลที่กล่าวถึงไปในข้างต้น ซึ่งผู้ใช้สามารถสมัครล็อกอินเข้าไปใช้งานได้จากตัวเครื่อง โดยทาง Asus จะให้ที่เก็บข้อมูลกลับมา สามารถใช้เก็บได้ทั้งไฟล์เอกสาร รูปภาพ หรือใช้เป็นแหล่งสำรองข้อมูลจากในตัวเครื่องก็ได้ และยังมีความสามารถในการแชร์โฟลเดอร์เพื่อใช้งานร่วมกันในกลุ่มได้ ถือว่าเปนการประยุกต์คลาวด์มาให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดที่ผู้ใช้ทุกรายต้องใช้เอซุสเหมือนกัน



ส่วนอีกความสามารถหนึ่งของ My Cloud คือถ้าผู้ใช้มีการลงโปรแกรมเดียวกันไว้บนคอมพิวเตอร์ และล็อกอินใช้งานด้วยไอดีเดียวกัน ผู้ใช้จะสามารถใช้บริการของ Remote จากตัว Slider เข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์ ได้ทุกรูปแบบการใช้งาน



ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปยัง My Computer เพื่อโอนย้ายไฟล์ (สามารถสั่งโอนไฟล์เข้า My Cloud แล้วมาเปิดในแท็บเล็ตได้) หรือจะใข้สั่งการอย่างอื่นในคอมพิวเตอร์ อย่างเปิดเว็บไซต์ เล่นมัลติมีเดียในเครื่อง ทั้งนี้ ยังสามารถเรียกคีย์บอร์ดเสมือนขึ้นมาเพื่อใช้ในการพิมพ์ได้ด้วย



นอกจากนี้ยังมีสอนวิธีการใช้งาน อย่างเช่นการสัมผัสครั้งเดียวเท่ากับคลิกซ้าย กดค้างเท่ากับคลิกขวา สองนิ้ว ใช้ในการสกอลล์หน้า แตะสองครั้งเป็นการดับเบิลคลิก สัมผัสและค้างในการลาก พินช์ในการซูมเข้าออก



อีกแอปฯที่น่าสนใจคือ ​My Library ซึ่งเป็นแอปฯรวมทั้งหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่เมื่อทำการสมัครสมาชิกแล้ว จะสามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาอ่านได้ เบื้องต้นยังสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี แต่ในอนาคตตรงส่วนนี้อาจมีค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลดเกิดขึ้น



หน้าจอการแสดงผลขณะอ่านหนังสือพิมพ์ สามารถเรียกดูได้ทั้งแนวตั้งแนวนอน ใช้การเลื่อนนิ้วเพื่อดูข้อมูล หลักการเดียวกับการดูรูปภาพ ความลื่นไหลในการใช้งานค่อนข้างสูง เรียกได้ว่าสามารถซูมเข้าไปอ่านตัวอักษรได้เลย โดยไม่ต้องรอเวลาโหลดที่ทำให้เสียอารมณ์ในการอ่าน



แอปฯ MyNet คือการนำระบบ DLNA มาใช้งาน เพื่อให้แท็บเล็ตสามารถใช้การเชื่อมต่อเข้าไปในเครือข่าย เพื่อเล่นไฟล์มัลติมีเดียทั้ง เพลง ภาพนิ่ง และวิดีโอ ไปยังเครื่องลูกข่ายอื่นๆ ที่อยู่ในระบบ รวมถึงสามารถสั่งเล่นไฟล์ในเครื่องลูกข่ายอื่นมายังตัว Slider ได้ด้วย



และจากการที่ตัว Slider สามารถเสียบแฮนดี้ไดร์ฟยูเอสบีได้ จึงมีระบบ My File มาจัดการข้อมูล โดยสามารถเลือกจัดการได้แบบทั้งโฟลเดอร์ หรือไฟล์เดียว ในการสั่งคัดลอก ย้ายไฟล์ ได้ตามปกติ



การใช้งานเว็บเบราว์เซอร์ก็ไม่แตกต่างจากแท็บเล็ตแอนดรอยด์ HoneyComb รุ่นอื่นๆในตลาด สามารถเรียกใช้งานได้พร้อมกันหลายๆหน้าต่าง รองรับการใช้งานแฟลช มีโหมดซ่อนตัวในการท่องเว็บให้เลือกใช้ บุ๊กมาร์คหน้าเว็บเพจที่ต้องการได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นมาตรฐานของเว็บเบราว์เซอร์บนแท็บเล็ตแอนดรอยด์ไปเรียบร้อยแล้ว



ในส่วนของเครื่องเล่นเพลงเอง ก็ยังแบ่งการแสดงผลออกเป็น ตามศิลปิน หรือตามอัลบั้มให้เลือกกัน ขณะเล่นเพลงก็มีโชว์ชื่อเพลง ศิลปิน อัลบั้ม หน้าปกอัลบั้ม แถบควบคุม ปรับเล่นซ้ำ เล่นสุ่มได้ตามปกติ



โหมดกล้องถ่ายภาพที่ให้มาก็เป็นหน้าตาอย่างที่คุ้นเคยกันในแอนดรอยด์แท็บเล็ตรุ่นอื่น มีปุ่มชัตเตอร์อยู่ฝั่งขวา ล้อมรอบด้วยการตั้งค่าต่างๆ ไล่ตั้งแต่ สมดุลแสงขาว เลือกโหมดถ่ายภาพ เข้าสู่การตั้งค่า เพิ่มลดแสง ตั้งขนาดภาพ สลับกล้องหน้าหลัง



ถึงแม้จะมีคีย์บอร์ดมาให้ แต่ตัวเครื่องก็ยังมีคีย์บอร์ดเสมือนมาให้ใช้งานกันบนหน้าจอ โดนเป็นคีย์บอร์ดแบบ 4 แถวทั้งภาษาไทยและอังกฤษ แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดคีย์บอร์ดอื่นๆเพิ่มได้จากในแอนดรอยด์มาเก็ต



การตั้งค่าของ Slider ก็ไม่แปลกใหม่อะไร ไล่ตั้งแต่ตั้งค่าการเชื่อมต่อ เสียง หน้าจอ ตำแหน่งและความปลอดภัย แอปพลิเคชัน บัญชีและการซิงค์ข้อมูล ข้อมูลส่วนบุคคล ที่เก็บข้อมูล ภาษาและการป้อนข้อมูล การเข้าถึง เวลาและวันที่ สุดท้ายคือรายละเอียดตัวเครื่อง



ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพ Slider ได้คะแนน Quadrant 1681 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับแท็บเล็ตที่ใช้หน่วยประมวลผล Tegra 2 รุ่นอื่นๆ ที่มักจะได้คะแนนมากกว่า 2,000 คะแนน แต่ที่น่าสนใจคือหน้าจอรองรับจุดสัมผัสพร้อมกัน 10 จุด ส่วนการทดสอบด้านการประมวลผลภาพอย่าง An3DBench และ An3DBench XL ได้ 8,577 คะแนน และ 29,373 คะแนนตามลำดับ ส่วน NenaMark 1 ได้ 44.9 fps

จุดขาย

- แน่นอนว่าจุดขายหลักของ Eee Pad Slider คงหนีไม่พ้นคีย์บอร์ดสไลด์ ที่ช่วยให้การป้อนข้อมูลเข้าไปยังแท็บเล็ตทำได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องพกคีย์บอร์ดแยกจากตัวเครื่องอีกต่อไป
- การทำงานของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.1 ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานบนแท็บเล็ตโดยเฉพาะ รองรับการเชื่อมต่อยูเอสบี ทำให้สามารถหาเมาส์มาเสียบเพื่อใช้งานร่วมกับคีย์บอร์ดได้
- ระบบ My Cloud ที่ทางเอซุส ให้มาทั้งที่เก็บข้อมูล และความสามารถในการรีโมทเข้าควบคุมเครื่องคอมพิวเตอร์
- หน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ช่วยให้สามารถใช้ประมวลผลภาพยนตร์ความละเอียดสูง 1080p ได้สบายๆ

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- ตัวคีย์บอร์ดที่ให้มายังไม่มีการสกรีนภาษาไทย แต่สามารถพิมพ์ภาษาไทยได้ ถ้าผู้ใช้จำเลย์เอาท์ปุ่มได้ การเปลี่ยนภาษายังค่อนข้างยุ่งยาก ต้องใช้การสัมผัสที่หน้าจอเพื่อสลับภาษา
- การใช้งานส่วนใหญ่จำเป็นต้องเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้ง My Cloud หรือ My Library แต่ตัวเครื่องที่วางจำหน่ายยังไม่รองรับการใส่ซิมการ์ด 3G
- การที่มีคีย์บอร์ดทำให้ ขนาดของตัวเครื่องค่อนข้างหนา ซึ่งขัดกับจุดประสงค์หลักของแท็บเล็ตที่ต้องพกพาง่าย บาง เบา
- ตัวล็อกหน้าจอของคีย์บอร์ดที่สไลด์ขึ้น ใช้เป็นตะขอเกี่ยวธรรมดาๆ ทำให้ถ้ามีการเคลื่อนไหวจอจะขยับไปมาได้ค่อนข้างง่าย รวมถึงในการสไลด์จำเป็นต้องแงะจากหน้าจอส่วนบนขึ้นมาทางเดียวเท่านั้น
- พอร์ตเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และเสียบสายชาร์จ ไม่ใช่แบบมาตรฐาน (เป็น 30 pin) ทำให้ต้องพกพาสายไปด้วยทุกที่ตลอดเวลาที่จำเป็นต้องใช้งาน

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป



Eee Pad Slider คงเป็นอีกหนึ่งแท็บเล็ตทางเลือกในตลาด สำหรับผู้ที่ชื่อชอบสินค้าในตัวของแบรนด์เอซุส จากความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครของคีย์บอร์ดแบบสไลด์ พร้อมกับช่องเสียบยูเอสบีขนาดปกติ ทำให้สามารถใช้แฮนดี้ไดร์ฟเสียบกับตัวเครื่องเพื่อใช้งาน หรือจะเป็นเสียบเมาส์ในการควบคุมก็ได้

กับราคาเปิดตัวที่ 17,900 บาท ถ้าชอบการดีไซน์ และคีย์บอร์ดสไลด์มาใช้งานนั้น ก็ถือว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ถ้าไม่ได้ต้องการคีย์บอร์ดสไลด์ ยังมีเครื่องรุ่นอื่นให้เลือกหาอีกพอสมควร ทั้งของ เอซุส เองอย่าง Eee Pad Tranformer หรือแบรนด์คู่แข่งอย่าง Acer หรือแบรนด์มือถืออย่าง Samsung Apple

ตัวเลือกอื่น

Lenovo ThinkPad Tablet
Samsung Galaxy Tab 8.9
Samsung Galaxy Tab 10.1
Acer ICONIA A500

Company Related Links :
Asus












แอปพลิเคชันที่ให้มาในเครื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น