แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ Iconia A100 ก็ได้ฤกษ์แอบวางจำหน่ายแบบเงียบๆตามร้ายขายสินค้าไอทีกันแล้ว และน่าจะถือว่าเป็น แอนดรอยด์ แท็บเล็ต รุ่นแรกที่วางจำหน่ายพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ Honeycomb 3.2 ก็ว่าได้
จุดเด่นของ Iconia Tab A100 คงหนีไม่พ้นขนาดหน้าจอ 7 นิ้ว ที่ให้ขนาดพกพาง่าย บนระบบปฏิบัติการ Honeycomb 3.2 หน่วยประมวลผล Nvidia Tegra 2 Dualcore 1 GHz มีทั้งหน่วยความจำภายในเครื่อง และสามารถใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มได้
แต่น่าเสียดายที่ A100 ยังไม่สามารถรองรับการใช้งาน 3G ได้ คาดว่าเนื่องมาจากทางเอเซอร์ต้องขอใบอนุญาตจากทาง กสทช. ก่อน ดังนั้นผู้ที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน 3G ในตัวคงต้องรอสักพัก และทางเอเซอร์ก็จะวางจำหน่ายรุ่น A101 เหมือนๆกับที่เคยวางจำหน่าย A500ตามด้วย A501
Feature On Acer Iconia Tab A100
อย่างที่บอกว่า Honeycomb 3.2 เป็นจุดเด่นที่สุดของ A100 เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจไม่ชัดเจนเหมือนจากเวอร์ชันสำหรับสมาร์ทโฟนมาแท็บเล็ต ดังนั้นอินเตอร์เฟสต่างๆของ 3.1 และ 3.2 นั้นแทบไม่แตกต่างกัน สิ่งที่ดีขึ้นคือความเร็วจากการสัมผัสที่ได้รับ คล่องตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
หน้าจอหลักประกอบไปด้วย 5 หน้าที่ผู้ใช้สามารถกดเครื่องหมายบวกมุมขวาบน เพื่อเลือกใส่วิตเจ็ต แอปพลิเคชัน เปลี่ยนรูปภาพพื้นหลังได้ นอกจากนี้ยังสามารถสัมผัสค้างที่ตัววิตเจ็ตเพื่อปรับเปลี่ยนขนาดได้ทันที ส่วนปุ่มควบคุมหลัก 3 ปุ่มมุมซ้ายล่างยังประกอบไปด้วย ปุ่มย้อนกลับ โฮม และดูรายการแอปพลิเคชันที่ใช้งานล่าสุด โดยในเวอร์ชัน 3.2 ได้เปลี่ยนการแสดงผลเป็น 10 แอปฯ
มุมขวาล่างที่เป็นส่วนของการแจ้งเตือนสถานะ ประกอบไปด้วย วันเวลา สถานะการเชื่อมต่อ แบตเตอรี การแจ้งเตือนต่างๆ ปุ่มเข้าสู่การตั้งค่าแบบย่อ สำหรับเปิดใช้งานโหมดเครื่องบิน ตั้งไวไฟ ปรับความสว่างหน้าจอ ปิดการแจ้งเตือน และเข้าสู่การตั้งค่าหลัก
ในมุมซ้ายบนของหน้าจอหลัก จะมีปุ่มค้นหาด้วยเสียง ซึ่งสามารถใช้เพื่อสั่งงาน เริ่มใช้ระบบนำทาง ค้นหาสถานที่ และค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์ แน่นอนว่าในการใช้งานจำเป็นต้องมีการตั้งค่าเบื้องต้น และใช้งานได้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น
Planner คือแอปพลิเคชันที่เอเซอร์ใส่เพิ่มเข้ามา เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานแท็บเล็ต ให้กลายเป็นออแกไนเซอร์ กล่าวคือในหน้า Today จะมีการแสดงผลข้อมูลสภาพอากาศ ข่าวสารล่าสุดจากฟีดที่เลือกไว้ และยังมีการแสดงผล อีเมล ข้อความที่บันทึก และตารางนัดหมายด้วย Agenda เป็นตัวช่วยในการจดตารางนัดหมาย ซึ่งสามารถเลือกดูได้ทั้งแบบรายเดือน สัปดาห์ และวัน ซึ่งมีความพิเศษตรงที่สามารถบันทึกสถานที่ลงไปในกูเกิล แมปส์ได้ทันที
ในส่วนของ Note เป็นการบันทึกข้อมูล ที่สามารถเลือกการป้อนข้อมูลจากคีย์บอร์ดบนหน้าจอ หรือใช้นิ้วลากสัมผัสไปบนหน้าจอแทนปากกาได้ ที่สามารถเลือกเปลี่ยนสี ลบ ส่งต่อผ่านอีเมล หรือเครือข่ายสังคมได้ทันที สุดท้าย Priority ไว้ตั้งค่าความสำคัญของอีเมลที่จะให้แสดงผลในหน้า Today
ถัดมาคือ 4 หมวดหลักที่เอเซอร์ แบ่งไว้ให้เลือกใช้ ซึ่งผู้ที่คุ้นเคยกับ A500>น่าจะจำกันได้อย่าง eReading ที่รวมแอปฯเกี่ยวกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาไว้ด้วยกัน Multimedia มีทั้ง Youtube MusicA ใช้สำหรับค้นหาเพลง และเครื่องเล่นมัลติมีเดียอย่าง nemoPlayer Social ประกอบด้วย Social Jogger ลิงก์เข้าเฟซบุ๊ก กูเกิลทอล์ก สุดท้าย Game Zone ที่มีทางลัดสำหรับเข้าไปโหลดเกมจากมาเก็ต Tegra Zone และ ดูอันดับเกมฮิต
หน้าเว็บเบราว์เซอร์ใน Honeycomb จะใช้เป็นรูปแบบเดียวกับ Chrome สามารถเปิดหน้าเว็บได้พร้อมกัน 8 หน้า เลือกท่องเว็บแบบไร้ตัวตนได้ (Incognito) การแสดงผลทำได้ทั้งแนวตั้งแนวนอน การเลื่อนหน้าเว็บทำได้รวดเร็ว และที่สำคัญคือสามารถเล่นแฟลชได้ แต่ทั้งนี้ ถ้าถามถึงผู้ที่ติดเกมในเฟซบุ๊กแล้วอยากเล่น ก็ต้องบอกว่าเล่นได้แต่ค่อนข้างช้า
Android Market ที่มีก็จะเป็นรูปแบบการแสดงผลเฉพาะในแท็บเล็ต กล่าวคือมีการแสดงแอปฯฟีเจอร์หลักอยู่ด้านบน ส่วนล่างซ้าย แสดงผลตามหัวข้ออย่าง ได้รับชำระเงินสูงสุด รายการฟรียอดนิยม ถูกใจบรรณาธิการ ทำรายได้สูงสุด ใหม่ไม่ฟรียอดนิยม ใหม่ฟรียอดนิยม และแนวโน้ม (จะเห็นว่าการใช้ภาษาในจุดนี้ค่อนข้างแปลก เพราะทางกูเกิล แปลมาจากศัพท์อย่าง Top Paid App, Top Free App ฯลฯ)
ส่วนหมวดที่มีให้เลือกฝั่งขวาล่างประกอบไปด้วย เกม การกำหนดค่าส่วนบุคคล การขนส่ง การถ่ายภาพ การศึกษา การสื่อสาร การเงิน การเดินทางและท้องถิ่น การแพทย์ การ์ตูน กีฬา ข่าวสารและนิตยสาร ช็อปปิ้ง ธุรกิจ บันเทิง ประสิทธิภาพและการผลิต พยากรณ์อากาศ ภาพพื้นหลัง วิตเจ็ต สังคม สื่อและวิดีโอ สุขภาพและการออกกำลังกาย หนังสือและข้อมูลอ้างอิง เครื่องมือ เพลงและเสียง ไลบรารีและการสาธิต สุดท้ายคือไลฟ์สไตล์
Clear.Fi เป็นบริการที่เอเซอร์คิดค้นขึ้น โดยนำรูปแบบการใช้งานของ DLNA มาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ของเอเซอร์ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถส่งต่อไฟล์ภาพ เพลง วิดีโอ ไปยังอุปกรณ์ของเอเซอร์เครื่องอื่นๆที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันได้
ในส่วนของการแสดงผลภาพ เป็นแบบธรรมดาทั่วไป แบ่งตามอัลบั้ม กดซูมเข้า-ออก แชร์ไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้
การแสดงผลอีเมล ในเวอร์ชัน 3.2 เปลี่ยนมาเป็นรูปแบบเดียวกันหมดแล้ว กล่าวคือฝั่งซ้ายไว้แสดงโครงสร้าง ฝั่งขวาที่มีพื้นที่มากกว่าแสดงหัวข้ออีเมล ชื่อผู้ส่ง ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถแอดอีเมลเพิ่มเข้าไปได้ อย่างที่ทีมงานทดลองคือใช้ทั้ง ยาฮู จีเมล และฮอตเมล ที่สำคัญคือสามารถแสดงผลร่วมกันทั้งหมดได้
Kobo เป็นแอปพลิเคชันอีบุ๊ก ที่ได้รับความนิยจากทั่วโลก ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกหานิยาย หนังสือ ต่างๆอ่านได้ทันที โดนการคิดเงินจะทำการหักจากบัตรเครดิตที่ต้องกรอกข้อมูลเข้าไป
แอปฯที่น่าสนใจใน HoneyComb คงหนีไม่พ้น Movie Studio ที่ช่วยให้สามารถตัดต่อวิดีโอ ได้จากภายในเครื่อง แม้ว่าลูกเล่นที่มีจะไม่มากนักอย่างใส่เอฟเฟกต์ ซ้อนภาพ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับพอแก้ขัด ตัดต่อวิดีโอขำๆ อัปโหลดขึ้นยูทูปได้ทันที
โหมดกล้องถ่ายภาพเป็นแบบที่มากับระบบปฏิบัติการ มีปุ่มชัตเตอร์อยู่ในวงกลมตรงกลางล้อมรอบไปด้วยการตั้งค่ากล้องต่างๆอย่าง แฟลช สมดุลแสงขาว ใส่เอฟเฟกต์ เลือกบันทึกพิกัด โหมดโฟกัส การรับแสง ขนาดภาพ เลือกสลับกล้องหน้าหลังได้จากสัญลักษณ์รวมถึงปรับโหมดถ่ายวิดีโอ เลือกหน่วยบันทึกข้อมูล
ส่วนของคีย์บอร์ดสามารถสลับภาษาไทย-อังกฤษ ได้จากมุมขวาล่างที่เป็นสัญลักษณ์คีย์บอร์ด แต่ทั้งนี้คีย์บอร์ดภาษาไทยที่ให้มาใช้ค่อนข้างยาก ผู้ใช้ที่ไม่ชินก็สามารถเข้าไปโหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยเพิ่มเติมได้จากในแอนดรอยด์มาเก็ต
ทั้งนี้ในการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เอเซอร์มีโปรแกรมอย่าง Acer Sync มาอำนวยความสะดวกในการซิงค์ข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อ ปฏิทิน ไฟล์ รูปภาพระหว่างตัวเครื่องและคอมพิวเตอร์
สุดท้าย Youtube ที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลเป็น Wall เลื่อนซ้าย-ขวา เพื่อดูวิดีโอที่แนะนำ และยังเข้าไปดูช่องของตัวเอง เลือกค้นหาวิดีโอ ได้เหมือนใช้งานบนหน้าเว็บไซต์
สำหรับแอปพลิเคชันที่ให้มาในเครื่องประกอบไปด้วย Acer Registration (ไว้ลงทะเบียนสินค้า) Acer Sync Aupeo (วิทยุออนไลน์) Calendar Clear.fi DocsToGo eReading FacebookWeb Gallery Games Gmail Search Kobo Latitude LumiRead Maps Market Media Server Movie Studio Multimedia Music MusicA nemoPlayer Place Planner Recorder Social SocialJogger Talk TegraZone TopHDGames Youtube กล้อง กล้องวิดีโอ ตั้งค่า นำทาง เครื่องคิดเลข ดาวน์โหลด นาฬิกา เบราว์เซอร์ รายชื่อ และอีเมล
หน้าจอการตั้งค่า ไล่ตั้งแต่ตั้งค่าการเชื่อมต่อ เสียง ระบบ Dolby Mobile หน้าจอ ตำแหน่งและความปลอดภัย แอปพลิเคชัน บัญชีและการซิงค์ ข้อมูลส่วนบุคคล ที่เก็บข้อมูล ภาษา การเข้าถึง เวลาและวันที่ และข้อมูลตัวเครื่อง
โดย Acer Iconia Tab A100 ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 3.2 บนหน่วยประมวลผล Nvidia Tegra 2 ดูอัลคอร์ 1 GHz ROM 1 GB RAM 1 GB ผลทดสอบด้วยโปรแกรม Quadrant ได้ะแนนรวมที่ 1,858 คะแนน
ขณะที่ทดสอบจุดสัมผัสหน้าจอได้ 4 จุด BenchmarkPi ได้ 567 milliseconds Nena Mark 1 และ 2 ได้ 25.4 และ 61.3 Fps ตามลำดับ และ An3DBench 8,137 คะแนน An3DBench XL ได้ที่ 30,408 คะแนน
Design of Acer Iconia Tab A100
ในแง่ของดีไซน์เชื่อว่าทีมนักพัฒนาคงมาจากส่วนของโน้ตบุ๊ก ทำให้รูปลักษณ์ที่ได้ออกมามีความเป็นเอเซอร์ค่อนข้างมาก ลักษณะเป็นเหลี่ยมที่มีการตัดขอบมุมหลังเครื่องให้โค้งมน ขนาดรอบตัวอยู่ที่ 195.6 มม. x 116.8 มม. x 12.7 มม. น้ำหนัก 408 กรัม ถือว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะ น้ำหนักถือใช้แล้วไม่เมื่อยมือ
ด้านหน้า - ไล่กันจากกล้องความละเอียด 2 ล้านพิกเซล หน้าจอเป็น Capasitive ทัชสกรีนขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด WSVGA (1024 x 600 พิกเซล) แสดงผลได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน (กดล็อกหน้าจอได้) โดยมีปุ่มโฮม (กลับหน้าแรก) แบบสัมผัสอยู่ล่างสุด และยังเป็นที่อยู่ของไฟกระพริบแสดงสถานะการแจ้งเตือนของเครื่องด้วย
ด้านหลัง - มีลวดลายคล้ายฝาของโน้ตบุ๊ก วัสดุที่ใช้เป็นพลาสติก ทำให้เวลาจับถือต้องใช้ความระมัดระวังกลัวเครื่องลื่นพอสมควร ตรงกลางเครื่องมีตรา Acer สีเงิน และมีกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลชแอลอีดี
ด้านขวา - ไล่จากบนสุดมีปุ่มล็อกหน้าจอไม่ให้หมุน ถัดลงมาเป็นปุ่มปรับระดับเสียง และส่วนของฝาปิด จะมีช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด และช่องใส่ซิมการ์ดที่ปิดอยู่ เนื่องจากรุ่นนี้ยังไม่รองรับ 3G (ถ้าเป็น A101 สามารถนำซิมการ์ดใส่ตรงช่องนี้ได้ทันที)
ด้านบน - จากการที่ตัวเครื่องไม่สามารถเปิดฝาหลังได้ ทำให้ต้องมีการแปะรายละเอียดของสินค้าไว้ที่ส่วนนี้ พร้อมตราสัญลักษณ์อนุญาตต่างๆ ที่น่าสนใจคือมีช่องไมโครโฟนบันทึกเสียงซ่อนอยู่บริเวณนี้ พร้อมกับปุ่มเปิดเครื่อง และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม.
ด้านล่าง - เป็นที่อยู่ส่วนใหญ่ของพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ไล่ตั้งแต่ฝั่งซ้ายมีปุ่มรีเซ็ต ช่องลำโพงสเตอริโอ พอร์ต MicriHDMI ช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม พอร์ตไมโครยูเอสบี และช่องเสียบสายชาร์จ ซึ่งน่าเสียดายที่ทางเอเซอร์ไม่ทำพอร์ตไมโครยูเอสบีที่ชาร์จได้ด้วย จึงจำเป็นต้องพกอะแดปเตอร์สานชาร์จเพิ่ม
บทสรุป
Acer Iconia Tab A100 คุ้มค่ามั้ยกับเงิน 12,900 บาท ในรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่อไวไฟ และขนาดหน่วยความจำที่ 16 GB ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับการใช้งาน เพราะจุดเด่นของเครื่องขนาด 7 นิ้วคือช่วยให้พกพาไปไหนได้สะดวก และที่น่าสนใจคือมาพร้อมกับพอร์ตให้ใช้งานที่เรียกได้ว่าครบครัน ขาดเพียงช่องเสียบยูเอสบีขนาดปกติ ที่เคยมีใน A500
การใช้งานทั่วไปทำได้ดี ตอบโจทย์การเป็นแท็บเล็ตที่ไว้เสพข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ทั้งด้านการท่องเว็บ การใช้งานแอปพลิเคชัน จัดการเอกสารเล็กๆน้อยๆ ปฏิทินนัดหมาย รวมไปถึงด้านมัลติมีเดีย จากความที่หน่วยประมวลผลเป็นแบบดูอัลคอร์
ขนาดตัวเครื่องที่ 7 นิ้วก็ถือเป็นอีกหนึ่งความโดดเด่นสำคัญ เนื่องจากเป็นขนาดที่พกพาง่าย เสียอย่างเดียวคือแบตเตอรีลดน้อยลงตามไปด้วย (3060 mAh) ทำให้สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ราว 4 - 5 ชั่วโมงเท่านั้น ขนาดว่ายังไม่ได้เป็นรุ่นที่รองรับการใช้งาน 3G
ขอชม
- เท็บเล็ตรุ่นแรกที่วางจำหน่ายพร้อมแอนดรอยด์ 3.2
- ขนาดเหมาะสมกับการพกพา ไม่หนักจนเกินไป
- ประสิทธิภาพครบครันทั้งดูอัลคอร์ HDMI
ขอติ
- วัสดุที่ใช้เป็นพลาสติก ทำให้จับแล้วค่อนข้างลื่น
- แบตเตอรีใช้งานได้ต่อเนื่องเพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น
- พอร์ตเชื่อมต่อยูเอสบีขนาดปกติหายไป
Company Related Links :
Acer