xs
xsm
sm
md
lg

Review : Motorola Xoom แท็บเล็ตรังผึ้ง สไตล์เพียวกูเกิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ครั้งที่แล้วทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ได้ลงบทความรีวิวแท็บเล็ต Acer ICONIA A500 ที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 มาวันนี้ทางทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ก็ได้รับแท็บเล็ตที่ทางกูเกิลเคยการันตีว่าเป็นแท็บเล็ต Android รหัส Honeycomb ตัวแรกมารีวิวให้พ่อแม่พี่น้องชาวผู้จัดการไซเบอร์ได้รับชมกันอีกครั้งกับ "Motorola Xoom"

แต่ทั้งนี้ความจริงแล้ว "Motorola Xoom" รุ่นที่วางขายในอเมริกาหรือเป็นเครื่องผูกขาดกับทาง Verizon ปัจจุบันจะถูกอัปเกรดตัวระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชัน 3.1 อย่างเป็นทางการแล้ว แต่สำหรับรุ่นที่ทีมงานทดสอบซึ่งมีรหัสตัวเครื่องเป็น MZ601 (3G+WiFi) จะยังไม่สามารถอัปเกรดเป็นแอนดรอยด์ 3.1 ได้จนกว่าจะถึงประมาณเดือนกรกฎาคม นอกเสียจากผู้ใช้จะรูทเครื่องและใช้ Custom Firmware ติดตั้งลงไปเอง เพราะฉะนั้นเนื่องจากเวลาในการยืมเครื่องค่อนข้างจำกัดทางทีมงานเลยจำเป็นต้องทดสอบ Motorola Xoom บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 ที่ถูกติดตั้งมาจากโรงงานไปก่อน

Design & Specifications




สำหรับ Motorola Xoom จะมีขนาดหน้าจออยู่ที่ 10.1 นิ้วความละเอียด 1,280x800 พิกเซล และขนาดรอบตัวเครื่องจะอยู่ที่ 249.1 x 167.8 x 12.9 มิลลิเมตร ในส่วนของน้ำหนักจะอยู่ที่ 708 กรัม สำหรับรุ่น WiFi และ 730 กรัมสำหรับรุ่น 3G




สำหรับวัสดุที่ใช้ประกอบตัวเครื่องจากสเปกคือ อลูมินัมอะโนไดซ์ และส่วนแถบสีดำด้านหลังจะเป็นวัสดุคล้ายๆ ยาง อีกทั้งด้านหลังยังเป็นส่วนของสวิตซ์ปิด-เปิด ลำโพงสเตอริโอ ไฟแฟลชแบบ Dual และกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล (ถ่ายวิดีโอ 720p 30fps + Auto Focus) ส่วนกล้องหน้ามีความละเอียด 2 ล้านพิกเซล




ด้านพอร์ตเชื่อมต่อ ด้านล่างตัวเครื่องจากซ้ายจะเป็นพอร์ต MicroUSB 1 พอร์ต MiniHDMI 1 พอร์ต Docking Port และสุดท้ายจะเป็นช่องเชื่อมต่อ Adapter จ่ายไฟ/ชาร์จไฟ

ส่วนด้านบนของตัวเครื่องจะเป็นช่องเสียบแจ็คหูฟังหรือเฮดเซ็ทขนาด 3.5 มิลลิเมตร ถัดมาจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์ที่ภายในช่องเดียวกันจะมีช่องใส่การ์ด Micro-SD ซ้อนอยู่เหนือช่องใส่ซิมการ์ด (ยังไม่สามารถใช้งานได้ในแอนดรอยด์ 3.0 ต้องรออัปเกรดเป็น 3.1 หรือใช้แอปฯ แฮ็กเปิดใช้งานเอง)




สำหรับสเปกของตัว Motorola Xoom หลักๆ แล้วตัวเครื่องจะมาพร้อมหน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra 2 ความเร็ว 1GHz แบบ Dual-Core (ใช้สถาปัตยกรรม ARMv7) ในส่วนของหน่วยความจำที่ให้มาจะอยู่ที่ 1GB (DDR2) และตัวเครื่องมาพร้อมหน่วยความจำภายใน 32GB

ในส่วนของสเปกปลีกย่อยอื่นๆ Motorola Xoom รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นรุ่น GSM รองรับเครือข่ายโทรศัพท์ 2G ที่คลื่นความถี่ 850 / 900 / 1800 / 1,900 MHz ส่วน 3G จะรองรับคลื่นความถี่ 850 / 2,100 MHz และสุดท้ายด้านเซนเซอร์ ตัวเครื่องจะมาพร้อมเซนเซอร์ วัดแสง barometer และ gyroscope

Software (Applications)

มาที่ซอฟท์แวร์หรือแอปฯ ที่ให้มากับตัวเครื่อง อย่างที่ทีมงานได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า Xoom คือแท็บเล็ตเพียวกูเกิลอีกทั้งยังไม่สามารถอัปเกรดระบบปฏิบัติการเป็นเวอร์ชัน 3.1 ได้อย่างเป็นทางการ ทำให้หน้าตา UI และแอปฯ ส่วนใหญ่ จะไม่แตกต่างจากแท็บเล็ตแอนดรอยด์ 3 ที่ทีมงานเคยได้ทดสอบไปก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ทางทีมงานจะขอกล่าวถึงอย่างคร่าวๆ เท่านั้น








เนื่องจากเป็นเครื่องเพียวกูเกิลเพราะฉะนั้นผู้ใช้แทบไม่ต้องร้องหาแอปฯ พิเศษหรือ UI ที่ Modify หน้าตาเฉพาะแบบแบรนด์อื่นๆ ดังนั้นแอปฯ ที่ให้มาจึงเป็นแอปฯ พื้นฐาน เช่น Gmail, Calendar, YouTube หรือ Musics เท่านั้น (แต่เครื่องที่วางจำหน่ายอาจมีการติดตั้งแอปฯ QuickOffice Viewer ไว้ให้ด้วย)

ส่วนคีย์บอร์ดเนื่องจากไม่มีภาษาไทยมาให้ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยจากมาร์เก็ตมาใช้งานได้ (แนะนำ Arch Thai Keyboard)



ในส่วนแอปฯ Camera สำหรับใช้ถ่ายรูป ตัว Xoom จะไม่มีออปชัน Touch to Focus มาให้ ทำให้การโฟกัสดูไม่ค่อยแม่นยำ ถึงแม้ในออปชัน Focus Mode จะมีให้เลือกระยะทั้ง Auto, Macro, Infinity แต่ก็เหมือนไม่ช่วยอะไรนัก ระยะโฟกัสกล้องให้ความรู้สึกเหมือนเลนส์ Fixed Focus มากๆ

ลองชมตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้จากกล้องของ Xoom ได้ที่รูปด้านล่างและที่ Gallery


ทดสอบกล้องหน้าในสภาพแสงน้อยมาก


ทดสอบกล้องหน้าในสภาพแสงปานกลาง


ทดสอบกล้องหลังสภาพแสงตอนเย็น ไม่มีแสงแดด

ทดสอบประสิทธิภาพ



NenaMark2 V2.0 คะแนนเฟรมเรทที่ได้จากการทดสอบในส่วนของแอปฯ NenaMark V2 ที่เป็นการเรียกใช้ชุดคำสั่งกราฟิก OpenGL ES 2.0 พบว่า Xoom สามารถทำคะแนนเฟรมเรทได้ที่ 15 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น



Quadrant Advance สามารถทำคะแนนอยู่ได้ที่ 1,726 คะแนนเท่านั้น แน่แปลกใจที่น้อยกว่า Acer ICONIA A500 ที่สามารถทำคะแนนได้ที่ 2,521 คะแนน ถึงแม้ทีมงานจะพยายามทดสอบซ้ำไปซ้ำมาถึง 6 รอบแล้วก็ก็ตาม คะแนนก็ยังพุ่งไม่ถึง 2 พันอยู่ดี




Smartbench 2011 และ MultiTouch Tester จากการทดสอบพบว่าคะแนนอยู่ที่ 2,310 คะแนนสำหรับในส่วนของ Productivity Index ส่วน Games Index จะมีคะแนนอยู่ที่ 2,141 คะแนนเท่านั้น



AndroBench ส่วนการทดสอบการอ่าน-เขียน สำหรับในส่วนของ Internal Storage พบว่า ในส่วนของความเร็วในการอ่านจะอยู่ที่ 22.08MB/s ส่วนความเร็วในการเขียนจะอยู่ที่ 5.58MB/s

สำหรับการทดสอบเว็บบราวเซอร์ ด้วยการเล่นเว็บที่มีการรันแฟลชเพลเยอร์และบรรดา Script ต่างๆ เป็นหลัก ผลที่ได้คือ ค่อนข้างมีอาการหน่วงเวลาเจอเว็บที่มีส่วนของแฟลชเพลเยอร์แสดงผลอยู่ ถึงแม้จะมีการอัปเดตเป็นเวอร์ชันใหม่แล้วก็ตาม อาการก็ยังไม่หายไป จนทำให้ทีมงานเริ่มสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญหามาจากตัวเครื่องที่เป็น Prototype หรือเป็นปัญหามาจากตัวระบบปฏิบัติการกันแน่

**แต่เมื่อทีมงานได้ลบ Adobe Flash Player ออกจากตัวครื่อง กลับพบว่าการโหลดหน้าเว็บทำได้อย่างรวดเร็ว และดูเสถียรขึ้นมาก**

Games Performance Test



Moon Chaser ทดสอบเกมแรกกับเกมแนวฆ่าเวลา ที่กินทรัพยากรของตัวเครื่องไม่มากนัก ก็สามารถเล่นได้อย่างลื่นไหล ไม่มีการแสดงผลผิดเพี้ยน นอกจากในส่วนของเมนูที่ภาพอาจยืดและหน่วงๆ เล็กน้อย (คาดว่าเป็นผลมาจากตัวเกมไม่รองรับ Honeycomb)



Riptide GP ปรับการทดสอบให้สูงขึ้นกับเกมที่ต้องดึงหน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra 2 มาใช้ กับเกมที่มีดีเรื่องรายละเอียดของน้ำและเงาสะท้อนอย่าง Riptide GP สำหรับ Xoom ยังถือว่าทำงานได้ค่อนข้างลื่นไหลอยู่ และตัวเกม Optimized มาให้สามารถแสดงผลกับหน้าจอแบบ HD ได้ ทำให้การเล่นเกมเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น



Guerrilla Bob THDถือเป็นอีกเกมที่ดึงประสิทธิภาพของหน่วยประมวล NVIDIA Tegra 2 ออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด โดยจากการทดสอบกับ Xoom พบว่าการเล่นเกมดังกล่าวค่อนข้างหน่วงมาก และแน่นอนว่าบางฉากที่มีการแสดงผลกราฟิกและเอ็ฟเฟ็กมากๆ จะมีอาการกระตุกและบางครั้งหนักถึงขั้นขึ้น Force Close ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ NVIDIA Tegra 2 เป็นตัวขับเคลื่อนกราฟิก

เพราะฉะนั้นถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปในเรื่องของประสิทธิภาพของ Motorola Xoom แล้วทางทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ขอเรียนตามตรงว่า "ไม่ประทับใจในเรื่องของประสิทธิภาพนัก" เพราะจากการทดสอบประสิทธิภาพหลายส่วนพบว่าด้วยสเปกตัวเครื่องที่มาพร้อมหน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์ที่เป็นชื่อ NVIDIA Tegra ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องประสิทธิภาพการเรนเดอร์กราฟิกเกม แต่จากการทดสอบจริงกับ Xoom พบว่า หลายเกมที่ตีตรา Tegra กลับรันได้ค่อนข้างช้า หรือบางครั้งก็กระตุกจนเกิดหน้า Force Close เด้งขึ้นมา ซึ่งทางทีมงานคิดว่าไม่เป็นเรื่องปกติอย่างแน่นอน

อีกทั้งในส่วนประสิทธิภาพของกล้องถ่ายภาพที่ถึงแม้ตัวเครื่องจะให้กล้องหลังความละเอียด 5 ล้านพิกเซลมา แต่คุณภาพยังคงไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ระบบ Touch to Focus ก็ไม่มีให้ ทำให้เวลาโฟกัสภาพ (ถึงแม้จะมี Macro Mode มาให้) จะทำได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก อีกทั้งเรื่องของลำโพงจ่ายเสียงที่อาจจะมีอาการแตกพล่าบ้างเมื่อเร่งเสียงดัง และเสียงที่ได้ไม่ค่อยหนักแน่นเท่าใดนัก

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าทีมงานจะมีอคติคิดไปเองในเรื่องความช้าของตัวเครื่องแต่อย่างใด เพราะนอกเหนือจากข้อติในเรื่องประสิทธิภาพที่ทีมงานได้พบจากการใช้งานเครื่องเทสต์นี้ สำหรับในส่วนวัสดุ การออกแบบ ทางทีมงานก็ขอชมว่าออกแบบมาได้ดี การเก็บรายละเอียดต่างๆ ทำได้ยอดเยี่ยมและตัวเครื่องดูแข็งแรงอย่างมาก ถึงแม้น้ำหนักอาจมากไปนิด แต่ขนาดตัวเครื่องและหน้าจอที่ใหญ่กว่า ไอแพดเล็กน้อย (Xoom 10.1 นิ้ว ไอแพด 9.7 นิ้ว) และความละเอียดระดับ HD ก็ยังช่วยเสริมภาษีให้ตัวเครื่องดูดีได้เช่นกัน

ในส่วนของแบตเตอรี สำหรับการใช้เล่นเกมสามมิติ โดยเปิดหน้าจอไว้ประมาณ 80% พบว่าตัวเครื่องจะสามารถทำงานได้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งาน 1 วันเต็มๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว

ท้ายสุดถือเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ทีมงานไม่มีเวลาศึกษาศาสตร์มืดเพื่อทำให้สามารถรัน Android 3.1 (ตัว Android 3.1 Official จะปล่อยให้ดาวน์โหลดสำหรับประเทศไทยในช่วงเดือนหน้า ซึ่งจะแก้ไขข้อบกพร่องในรุ่นก่อนหน้า) บน Xoom ได้ ทำให้ทีมงานต้องพบเจอปัญหามากมายกับการทดสอบใช้งานแท็บเล็ตเครื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่อง MicroSD ที่ยังล็อคการทำงานไว้ จะใช้ก็ต้องรูทเครื่องลงตัวช่วย หรือปัญหาแอปฯ Force Close เกมค้างหรือกระตุกให้ได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง


คลิปวิดีโอแสดงการทำงานและประสิทธิภาพโดยรวมของ Motorola Xoom

ขอชม
- ตัวเครื่องมีความแข็งแรง วัสดุดี
- ขนาดพอดีต่อการพกพา ในขณะที่หน้าจออยู่ที่ 10.1 นิ้ว
- เป็นเครื่องเพียวกูเกิล มักจะได้รับการอัปเดต OS ก่อนแบรนด์อื่นๆ

ขอติ
- เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการทดสอบค่อนข้างมาก
- ตัวเครื่องค่อนข้างหนัก
- ไม่มีพอร์ต USB Type A ติดตั้งมาให้ที่ตัว Xoom

Company Related Links :
Motorola




ระหว่างปิดเครื่อง เมื่อชาร์จแบตเตอรี จะมีไฟสถานะแสดงการทำงาน
หน้าจอ Motorola Xoom มีขนาดใหญ่กว่าหน้าจอไอแพด 2 เล็กน้อย
เทียบขนาดกับไอแพด 2
เทียบความหนาระหว่างไอแพด 2 และ Xoom






กำลังโหลดความคิดเห็น