Iconia Tab A500 ถือว่าเป็นหนึ่งในแท็บเล็ตประสิทธิภาพสูงที่น่าสนใจหามาถือครอง จากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 (Honeycomb) ที่มาพร้อมกับหน้าจอความละเอียดสูง ขนาด 10 นิ้ว ที่สามารถเชื่อมต่อแฮนดี้ไดรฟ์ คีย์บอร์ด ผ่ายพอร์ตยูเอสบี และต่อจอภาพผ่านพอร์ต HDMI ที่รองรับการแสดงผลความละเอียดสูง 1080p จากหน่วยประมวลผล Dual-Core Nvidia Tegra 2
แต่เอเซอร์ อาจจะอยู่ในช่วงกำลังคิดหนักจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ iPad 2 ที่ทำราคาในเครื่องรุ่น Wi-Fi 32 GB ไว้ที่ 16,900 บาท เนื่องจากทางเอเซอร์วางราคา Iconia tab A500 ไว้ที่ 19,153 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ต้องรอดูกันต่อไปถึงอนาคตของแท็บเล็ต แอนดรอยด์ 3.0 รุ่นแรกในประเทศไทย ยังไม่รวมการวางจำหน่ายของ โมโตโรลา Xoom ที่มีกำหนดวางจายในช่วงกลางเดือนพฤษภา ในระดับราคาจะสูงถึง 21,900 บาท
Feature On Acer ICONIA A500
เริ่มกันที่หน้าจอหลักของ ICONIA A500 ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 ซึ่งเอเซอร์ได้ให้ชื่อว่า Acer UI ซึ่งโดยภาพรวมแล้วแทบไม่แตกต่างจากหน้าจอหลักแบบปกติของ 3.0 แต่อย่างใด
หลักๆแล้วหน้าจอหลักจะแบ่งออกเป็น 5 หน้า แต่ละหน้าผู้ใช้สามารถเลือกนำวิดเจ็ต หรือไอค่อนลัดเข้าโปรแกรมมาวางไว้ได้ ตามความต้องการ รวมถึงการเปลี่ยนภาพพื้นหลังด้วยเช่นกัน โดยสามารถเข้าสู่หน้าปรับแต่งได้จากเครื่องหมายบวกมุมขวาบน ใกล้ๆกับปุ่มเรียกดูแอปพลิเคชันทั้งหมด ส่วนมุมขวาบนจะมีพื้นที่สำหรับใช้ค้นหา และเปิดใช้งานคำสั่งเสียง
มุมซ้ายล่างมีปุ่มสำหรับสั่งงานอย่างย้อนกลับ กลับหน้าแรก และเลือกดู-สลับโปรแกรมที่ใช้งานล่าสุด 5 แอปพลิเคชัน ซึ่งปัจจุบันการสลับการใช้งานยังไม่เป็นมัลติเทสกิงแบบทำงานในเบื้องหลัง แต่จากข้อมูลในงานเปิดตัวของกูเกิลระบุว่า เมื่อมีการอัปเดตเวอร์ชันใหม่จะสามารถใช้งานแบบเรียลไทม์ และเลือกดูโปรแกรมได้มากขึ้น
มุมขวาล่างเป็นส่วนที่ใช้แสดงการแจ้งเตือน รวมถึงเวลา สถานะแบตเตอรี ไวเลสที่เชื่อมต่อ โดยสามารถกดขึ้นมาเพื่อเลือกเข้าสู่โหมดใช้งานบนเครื่องบิน จัดการการเชื่อมต่อ ปรับความสว่างหน้าจอ เปิด-ปิดการแจ้งเตือน และเข้าสู่หน้าจอการตั้งค่า
สำหรับแอปพลิเคชันที่พรีโหลดมาให้ในเครื่องมีตั้งแต่ การเข้าไปลงทะเบียนใช้งาน การซิงค์ข้อมูล Auplo ไว้ฟังวิทยุออนไลน์ เว็บเบราว์เซอร์ เครื่องคิดเลข ปฏิทิน กล้องวิดีโอ กล้องถ่ายภาพ Clear fi. นาฬิกา รายชื่อ แอปฯอ่านไฟล์เอกสาร ไฟล์ที่ดาวน์โหลด อีเมล หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แกลลอรีภาพ เกม จีเมล ค้นหา ละติจูด ลิงก์เข้าเฟซบุ๊ก แผนที่ มาเก็ต แชร์มีเดีย
มัลติมีเดียทั้งหมด เครื่องเล่นเพลง MusicA ไว้ค้นหาเพลง โปรแกรมนำทาง nemoPlayer ไว้เล่นไฟล์มัลติมีเดีย Photo Browser ไว้ดูภาพแบบใช้ระบบมัลติทัชและตรวจจับการเคลื่อนไหว Place ค้นหาสถานที่ใกล้เคียง บันทึกเสียง ตั้งค่า โซเชียล SocialJogger กูเกิลทอล์ก TegraZone ใช้ดูข้อมูลแอปฯที่ใช้งานประสิทธิภาพของซีพียู อันดับเกมความละเอียดสูง ค้นหาด้วยเสียง และยูทูป
ที่สังเกตได้คือทางเอเซอร์ ได้สร้างโฟลเดอร์ อีบุ๊ก เกม มัลติมีเดีย และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไว้เป็นทางลัดให้ผู้ใช้งาน รวมแอปพลิเคชันประเภทต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา ซึ่งเอเซอร์จะสร้างไอคอนลัดไว้ที่หน้าแรกให้ เนื่องจากภายหลังการลงแอปฯใดๆก็ตาม ไอค่อนทั้งหลายจะถูกโชว์ไว้ที่หน้าแรกเสมอ
จุดสำคัญในการใช้งานแท็บเล็ตอย่างเว็บเบราว์เซอร์ ทำออกมาได้ลื่นไหลดีทั้งตัวเว็บเบราว์เซอร์ของแอนดรอยด์เอง และเว็บเบราว์เซอร์เสริมอย่าง DolphinHD ที่ออกแบบมาสำหรับหน้าจอความละเอียดสูงก็เช่นกัน
โดยจุดเด่นที่สำคัญของเบราว์เซอร์ในแอนดรอยด์เวอร์ชันสำหรับแท็บเล็ตคือ ผู้ใช้สามารถสลับเปลี่ยนหน้าได้จากแถบคำสั่งบนสุด ซึ่งรูปแบบการทำงานแทบไม่ต่างจากในพีซีทั่วไป ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานได้อย่างง่ายดายทั้งแนวตั้งและแนวนอน
นอกจากนี้เว็บเบราวซ์เซอร์ยังมีโหมด Incognito ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถท่องเว็บไซต์แบบไร้ร่องรอย เหมาะสำหรับเข้าใช้งานในเว็บไซต์ที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูลสูง หรือเว็บไซต์ที่ไม่ต้องการเก็บประวัติการเข้าใช้งาน
ส่วนการจัดการบุ๊กมาร์คสามารถสร้างโฟลเดอร์ขึ้นมาเพื่อรวบเว็บไซต์ประเภทเดียวกัน โดยการแสดงผลจะแสดงถึงหน้าเว็บไซต์นั้นที่เปิดใช้ครั้งล่าสุด เช่นเดียวกับใน Google Chrome และสามารถเข้าไปดูประวัติการใช้งานย้อนหลัง แบ่งเป็นวัน 7 วันล่าสุด เดือนที่ผ่านมา และใช้งานบ่อย
การใช้งานอีเมลเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากจากเวอร์ชันในสมาร์ทโฟน กล่าวคือมีการแบ่งสัดส่วนการแสดงผลใหม่เป็น 2 ส่วนหลักๆคือ ฝั่งซ้ายไว้แสดงโฟลเดอร์ และฝั่งขวาสำหรับแสดงอีเมลที่ถูกส่งเข้ามา โดยมีการแสดงชื่อผู้ส่ง หัวข้อ โปรยข้อความ และวันที่ส่ง
เมื่อเปิดดูอีเมล หัวข้ออีเมลต่างๆจะถูกดันมาอยู่ฝั่งซ้ายแทน และแสดงผลข้อความในอีเมลทางฝั่งขวา ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกเช็คอีเมลถัดไปได้ทันทีจากการสัมผัสหัวข้อในฝั่งซ้าย หรือถ้าต้องการตอบเมล ส่งต่อ ค้นหาอีเมลก็สามารถทำได้จากแถบคำสั่งด้านบน
หน้าจอเขียนอีเมลก็ถูกปรับรูปแบบให้ดูโล่งสบายตา มีปุ่มคำสั่งหลักๆ เพียงส่งข้อความ เซฟ ลบ และเข้าเมนูการตั้งค่า ในส่วนข้อความมีให้กรอกอีเมลผู้รับ ใส่ cc bcc หัวข้ออีเมล สามารถแนบไฟล์ส่งไปได้จากการสัมผัสที่สัญลักษณ์คลิบหนีบกระดาษ ส่วนตัวเนื้อความจะมีข้อความลงท้ายค้างอยู่ ผู้ใช้สามารถเข้าไปแก้ไขได้ที่หน้าจอการตั้งค่า
ส่วนของปฏิทิน เนื่องจากตัวแอนดรอยด์สามารถซิงค์ข้อมูลจากในบัญชีอีเมลได้ ส่งผลให้ผู้ใช้สามารถสร้างและดูข้อมูลปฏิทินได้ทั้งจากบนเว็บเบราว์เซอร์ และในตัวเครื่องได้ทันที สาามารถตั้งเวลา เลือกระดับความสำคัญ รวมถึงส่งอีเมลไปเตือนผู้ที่เข้าร่วมในงานนั้นๆได้
การใช้งานเครือข่ายสังคมผ่าน SocialJogger ที่รวมเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เข้าด้วยกันนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากในสมาร์ทโฟนมากนัก สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียเพิ่มเติมได้ที่ Liquid Mini
แอปฯกล้องที่ให้มาในเครื่องค่อนข้างใช้งานง่าย หลักๆแล้วมีเพียงส่วนแสดงผลภาพฝั่งซ้าย และแถบควบคุมอยู่ฝั่งขวาที่ประกอบไปด้วย ปุ่มซูม ปุ่มชัตเตอร์ที่รายล้อมด้วยปุ่มตั้งค่าต่างๆ ปุ่มสลับกล้องหน้าหลัง เลือกโหมดถ่ายภาพ และบันทึกไฟล์ลงในหน่วยความจำใด
หน้าจอตั้งค่ามีตั้งแต่ แฟลช ปรับสมดุลแสงขาว เอฟเฟกต์สี เลือกโหมดถ่ายภาพ คุณภาพของวิดีโอ ตั้งค่ากล้องอย่าง เปิดระบบบันทึกพิกัด รูปแบบการโฟกัส สมดุลแสง ขนาดภาพ ตั้งเวลาถ่ายรูปเป็นต้น
มาถึงโปรแกรมใช้งานมัลติมีเดียอย่าง NemoPlayer ภายในถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ ภาพนิ่ง เพลง และวิดีโอ เมื่อผู้ใช้เลือกเข้าไปแต่ละหมวดจะมีการแบ่งไฟล์ตามแต่ละรูปแบบทั่วๆไป โดยมีแถบควบคุมการเล่นเพลงอยู่ล่างสุดของทุกๆหน้า
ในการดูรูปภาพยังมีอีกแอปฯที่น่าสนใจคือ Photo3D ที่ใช้ความสามารถของระบบ Acelerometer ในการตรวจจับการเคลื่อนไหว ช่วยให้สามารถเอียงเครื่องเพื่อพลิกรูปถัดไป รวมถึงซูมเข้าไปดูแต่ละส่วนของรูปภาพได้จากการใช้นิ้วโป้งส้มผัสที่หน้าจอ
Youtube เองก็มีความเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานบนแท็บเล็ตมากขึ้น สังเกตได้จากหน้าแรกที่เข้าใช้งานเปลี่ยนไปเป็นลักษณะโชว์ภาพยนตร์ในรูปแบบวอลล์ ให้สามารถเลื่อนสไลด์ไปหาวิดีโอที่น่าสนใจได้ ส่วนความสามารถอื่นๆอย่างเข้าไปในบัญชีผู้ใช้เพื่อเลือกเพลยลิสต์ หรือค้นหาไฟล์วิดีโอต่างๆสามารถทำได้ตามปกติ
ในส่วนของเครื่องเล่นเพลง ในหน้าแรกนอกจากจะแสดงปกอัลบั้มเพลงแบบให้ใช้นิ้วปัดไป-มา เพื่อเลือกเพลงที่ต้องการแล้ว ยังมีแถบให้สามารถเลือกการแสดงผลจากอัลบั้มล่าสุด รวมถึงกรอกชื่อเพื่อค้นหาเพลงในเครื่องได้ ขณะที่แถบด้านล่างแสดงเพลงที่เล่นล่าสุด พร้อมปุ่มควบคุม
เมื่อสัมผัสเข้าไปที่ปกอัลบั้มก็จะขึ้นแสดงรายชื่อเพลงในอัลบั้มทั้งหมด ส่วนหน้าจอหลักในการเล่นเพลงจะมีหน้าปกอัลบั้ม แถบเวลา พร้อมปุ่มให้เลือกสุ่มเพลง เล่นซ้ำ และแสดงรายชื่อเพลงถัดไป
MusicA เป็นแอปฯสำหรับใช้ค้นหาข้อมูลเพลงออนไลน์ ที่ตรวจจับโดยใช้เสียงเพลงส่วนหนึ่งที่ได้ยินเข้าไปประมวลผลในระบบ ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อใช้งาน ซึ่งข้อมูลที่แสดงออกมาจะมีทั้ง ชื่อศิลปิน เพลง อัลบั้ม ประวัตินักร้อง ไฟล์วิดีโอบนยูทูป
นอกจากนี้ยังมีแอปฯ AUPEO! ที่คล้ายๆกับเป็นวิทยุออนไลน์ ที่สามารถค้นหาสถานีเพลงต่างๆทั่วโลก หรือเลือกค้นหาเพลงจากศิลปิน เลือกแนวเพลงตามอารมณ์ไล่ตั้งแต่ Happy Fun Dramatic Stressful Melancholic Aggressive Energetic Relaxing Danceable และ Calm
Clearfi ยังเป็นอีกหนึ่งแอปฯสำคัญที่เอเซอร์พยายามแนะนำรูปแบบการใช้งานระบบ DLNA ให้ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของเอเซอร์ ซึ่งสามารถส่งรูป เพลง และไฟล์วิดีโอ จากบนแท็บเล็ตไปยังอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี DLNA อย่างคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์เป็นต้น
มาดูกันในส่วนของ แอนดรอยด์ มาเก็ต ในรูปแบบแท็บเล็ตกันบ้าง หน้าจอหลักมีการจัดเรียงใหม่ให้เหมาะสมกับความกว้างของหน้าจอ มีการแสดงแอปฯเด่นไว้ที่แถบด้านบนสุด ถัดลงมาแสดงแอปฯน่าสนใจ แอปฯที่ดาวน์โหลดสูงสุด และมีแบ่งประเภทไว้ที่มุมขวา
เมื่อกดเข้าไปในแต่ละแอปฯจะมีการแสดงรายละเอียดต่างๆ ภายในแอปฯ แสดงผลแอปฯในกลุ่มเดียวกัน มีตัวอย่างหน้าจอให้ดู ส่วนในหน้าจัดการแอปฯจะแสดงรายชื่อแอปฯทางฝั่งซ้าย ส่วนฝั่งขวาเป็นรายละเอียดของแอปฯนั้นๆ
และด้วยความที่ ICONIA A500 ใช้หน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra 2 ทำให้สามารถเข้าไปใช้งาน Tegra Zone ที่เป็นแหล่งรวบรวมแอปฯที่รีดเฟ้นประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลออกมาใช้งานอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับใน LG Optimus 2X ที่ใช้หน่วยประมวลผลนี้เช่นเดียวกัน
ในส่วนของคีย์บอร์ด ทางเอเซอร์ไม่ได้มีการบันเดิลคีย์บอร์ดภาษาไทยมาให้ใช้งานด้วย ทำให้มีแต่คีย์บอร์ดภาษาอังกฤษให้ใช้ในเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกโหลดคีย์บอร์ดภาษาไทยในมาเก็ตมาใช้งานได้อย่าง "Keyboard Man Man (แม่นๆ)" หรือ "Tswipe" เป็นต้น
และเนื่องจากตัวเครื่องมีพอร์ตยูเอสบีด้วย ทำให้ผู้ใช้สามารถเสียบคีย์บอร์ดพีซี เข้ามาเพื่อใช้งานร่วมกับแท็บเล็ตได้ โดยปัจจุบันยังสามารถใช้ได้เพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ทีมงานเอเซอร์ให้ข้อมูลว่ากำลังอยู่ในช่วงพัฒนาให้สามารถใช้งานกับคีย์บอร์ดภาษาไทยได้เร็วๆนี้
หน้าจอการตั้งค่าในแอนดรอยด์ 3.0 ก็ถูกปรับให้เหมาะสมกับบนแท็บเล็ตมากขึ้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆคือ ฝั่งซ้ายไว้เลือกหมวดที่จะเข้าไปตั้งค่า ฝั่งขวาแสดงการตั้งค่าในแต่ละหมวด ซึ่งรูปแบบการตั้งค่านั้นแทบไม่แตกต่างจากในแอนดรอยด์รุ่นก่อนหน้านี้ แต่ละประเภทมีคำอธิบายประกอบช่วยให้ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งค่าได้ตามความต้องการ
มาถึงสเปกภายในของ Acer ICONIA A500 ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 3.0 (Honeycomb) ใช้หน่วยประมวลผล Dual-Core Nvidia Tegra 2 ที่ใช้สถาปัตยกรรม ARMv7 ความเร็ว 1 GHz RAM 1 GB หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 32 GB รองรับมัลติทัช 10 จุดด้วยกัน
เมื่อทดสอบด้วยโปรแกรมมาตรฐานอย่าง Quadrant Advance ได้ 2,521 คะแนน เมื่อเทียบกับ LG Optimus 2X ที่ได้คะแนน 2,372 ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ส่วนการทดสอบ An3dbench และ Neocore ยังไม่รองรับการใช้งานบนแท็บเล็ต
Design of Acer ICONIA A500
มาว่ากันในแง่ของดีไซน์ด้วยความที่เอเซอร์ออกแบบแท็บเล็ตมาให้สามารถต่อกับฐาน (Docking) ได้ รูปร่างของแท็บเล็ตจึงเหมือนกับส่วนของจอภาพโน้ตบุ๊ก มีการเล่นดีไซน์ให้บริเวณขอบเครื่องเรียว เนื่องจากพื้นที่ส่วนกลางเครื่งเป็นที่อยู่ของแผงวงจรและแบตเตอรี
ขนาดรอบตัวของ ICONIA A500 อยู่ที่ 260 x 177 x 13.3 มิลลิเมตร บนน้ำหนักตัว 730 กรัม ทำให้เวลาจับถือเพื่อใช้งานในระยะเวลานานๆแล้ว ค่อนข้างเมื่อยมือ ดังนั้นในการใช้งานที่เหมาะนั้น ควรหาเคสที่สามารถตั้งตัวเครื่องได้มาช่วยในการใช้งาน ซึ่งจุดนี้ยังคงต้องรอลุ้นให้เอเซอร์มีการผลิตออกมาวางจำหน่าย เพราะต้องยอมรับว่าตัวเครื่องยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายเหมือนอย่างไอแพด ทำให้อุปกรณ์เสริมต่างๆหาซื้อได้ยาก
ด้านหน้า - พบกับหน้าจอทัชสกรีนแบบ Capacitive ขนาด 10.1 นิ้ว ความละเอียด 800 x 1280 พิกเซล ที่สามารถปรับใช้งานทั้งแนวตั้งและแนวนอน มีกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล อยู่บริเวณมุมซ้ายบน ส่วนที่เหลือเป็นขอบหน้าจอ
ด้านหลัง - มีสัญลักษณ์ "Acer" สีเงินวางพาดอยู่ตรงกลาง ขวาบนมีกล้องหลักความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช ส่วนมุมล่างซ้าย-ขวา เป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอ ทั้งนี้ น่าเสียดายที่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนแบตเตอรีได้ ดังนั้นเมื่อเครื่องมีปัญหาแบตฯเสื่อมคงต้องเข้าศูนย์บริการสถานเดียว
ด้านซ้าย - ประกอบไปด้วย ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และพอร์ต microHDMI สำหรับต่อจอภาพความละเอียดสูง ด้านขวา - มีช่องสำหรับเสียบสายชาร์จ พอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และพอร์ตยูเอสบี ที่สามารถใช้ใส่แฟลชไดร์ฟ ต่อคีย์บอร์ด และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ
ด้านบน - มีปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มล็อกการหมุนหน้าจอ และช่องสำหรับใส่ไมโครเอสดีการ์ด ที่มีพื้นที่สำหรับใส่ซิมการ์ดแต่ยังไม่มีการต่อแผงวงจร ซ๋อนอยู่ตรงส่วนที่มีฝาปิด ด้านล่าง - เป็นพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อกับฐานตัวเครื่อง (Docking)
บทสรุป
จากการการันตีที่เป็นแท็บเล็ตที่ใช้ทั้งหน่วยประมวลผล Nvidia Tegra 2 แบบ Dual-core และใช้ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ 3.0 (Honeycomb) เครื่องแรกในประเทศไทย ทำให้ ICONIA A500 ถูกจับตามองจากเหล่าผู้บริโภคที่ต้องการแท็บเล็ตทางเลือกที่ไม่ใช่ไอแพดไปโดยปริยาย แม้ว่าความสามารถของระบบปฏิบัติการยังถูกจำกัดจากการที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี ทำให้มีแอปพลิเคชันเฉพาะสำหรับแท็บเล็ตไม่มากนัก
น่าเสียดายที่ตัวเครื่องรุ่นที่นำมาวางจำหน่าย สามารถใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟเท่านั้น ทำให้มีข้อจำกัดในการพกพาไปใช้งานในสถานที่ต่างๆ จำเป็นต้องพึ่งพา Wi-Fi Tethring ผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อช่วยสนับสนุนการใช้งานที่จำเป็นต้องเชื่อต่อกับอินเทอร์เน็ต
โดยรวมแล้วการใช้งานถือว่าไหลลื่นและค่อนข้างง่ายสำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยใช้งาน การออกแบบอินเตอร์เฟสใหม่ใน 3.0 ที่ทำมาเพื่อแท็บเล็ตค่อนข้างง่ายต่อการเรียนรู้ แม้ว่าการใช้งานจะไม่ค่อยลื่นไหลเท่าที่ควร แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นที่ตัวระบบมากกว่าตัวฮาร์ดแวร์
ท้ายที่สุดในเรื่องของระยะเวลาการใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพบนแบตเตอรี ขนาด 3,260 mAh ทีมงานทดลองเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ให้มีการซิงค์กับเครือข่ายสังคมออนไลน์ ระบบอีเมลแบบแจ้งเตือน เปิดใช้งานควบคู่ไปกับการรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง 720p เปิดเสียงดังสุด ความสว่างหน้าจอสูงสุด ตัวเครื่องสามารถใช้งานได้ราว 6 ชั่วโมง
ขอชม
- ดีไซน์ดูทันสมัย วัสดุที่ใช้ค่อนข้างแข็งแรง
- หน่วยประมวลผล Dual-Core ให้ความลื่นไหลในการใช้งานร่วมกับ Honeycomb
- สามารถอัปเกรดเป็น 3.1 ได้เร็วๆนี้
ขอติ
- น้ำหนักค่อนข้างเยอะ ทำให้เมื่อยเมื่อถือใช้งานเป็นเวลานาน
- การต่อแฟลชไดร์ฟผ่านพอร์ตยูเอสบี ไม่มีแอปฯจัดการไฟล์มาให้
- อุปกรณ์เสริมอย่าง Case และ Docking ยังไม่มีจำหน่าย
**โปรโมชันพิเศษจากเอเซอร์ เฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 จาก 19,153 เหลือเพียง 15,900.- (ราคารวม VAT แล้ว) พร้อมประกันภัยอุบัติเหตุและโจรกรรม 1 ปี เต็ม มูลค่า 3,500 บาท wifi 600 นาที/เดือน นานถึง 6 เดือน จาก 3BB Benetton Softcase มูลค่า 1,990 บาท ที่ตัวแทนจำหน่ายทุกสาขา
Company Related Links :
Acer