ไหนๆ เอเซอร์ก็เริ่มทำตลาดสมาร์ทโฟนอย่างเต็มตัว การออกผลิตภัณฑ์เพื่อตอบนับทุกกลุ่มลูกค้า จึงกลายเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้แบรนด์ได้รับความนิยมในตลาด Liquid Mini ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่ออกมาเพื่อรับตลาดในเครื่องระดับ 7-8 พันบาท แต่ก็น่าเสียดายที่เมื่อมองไปในตลาดแล้ว สเปกของ Liquid Mini ไม่ได้เหนือไปกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ เลย
แม้จะไม่ใช่เครื่องในระดับราคาทึ่ถูกที่สุด แต่การที่เอเซอร์นำหน่วยประมวลผลความเร็ว 600 MHz มาใช้ ในขณะที่แบรนด์อื่นเริ่มหันไปใช้ความเร็วระดับ 800 MHz จึงกลายเป็นจุดหลักที่ผู้ซื้อควรเลือกพิจารณา ถึงแม้ว่าทางเอเซอร์จะใส่การ์ดจอแยกอย่าง Adreno 200 มาช่วยประมวลผลภาพก็ตาม
Feature On Acer Liquid Mini
ยูสเซอร์อินเตอร์เฟสของ Liquid Mini นั้นเป็นเวอร์ชันเดียวกันใน Liquid รุ่นพี่อย่าง Metal และ Stream หรือที่รู้จักกันในชื่อ Acer UI 4.0 หน้าจอหลักแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนบนสำหรับแสดงผลที่สามารถเลื่อนไปซ้าย-ขวา เพื่อดูแอปพลิเคชันที่ใช้งานล่าสุด และเข้าแกลอรี สำหรับดูภาพ ฟังเพลง เล่นไฟล์วิดีโอในเครื่อง ตามลำดับ
ขณะที่ส่วนล่างไว้แสดงไอคอนโปรแกรมที่ใช้งานบ่อยๆ และสามารถใช้นิ้วลากขึ้นเพื่อเข้าสู่เมนูทั้งหมดในเครื่อง โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าภาพพื้นหลัง เปลี่ยนเสียงเรียกเข้า รวมถึงเลือกให้แสดงผลหน้าปกอัลบั้มขณะเล่นเพลง นาฬิกาดิจิตอลในส่วนพักหน้าจอ ประวัติการใช้งานย้อนหลัง และมีเดียพาแนล ที่กล่าวไปข้างต้น
ส่วนการเรียกใช้งานวิตเจ็ตจะถูกแยกออกไปอีกหน้าหนึ่ง ซึ่งเข้าใช้งานได้ด้วยการสัมผัสที่ปุ่มสี่เหลี่ยมที่มีไอคอนเล็กๆภายในบนหน้าจอหลักเพื่อเรียกใช้งานหน้าจอที่เป็นวิตเจ็ต ซึ่งยังคงเป็นรูปแบบเดิมกับเครื่องรุ่นพี่อย่าง Metal และ Stream
แถบการแจ้งเตือนใน Acer UI 4.0 อาจทำให้คนที่เคยสัมผัสแอนดรอยด์รุ่นอื่นงงเล็กน้อย เนื่องจากเอเซอร์ได้มีการแบ่งหน้าการแจ้งเตือนออกเป็น 3 หน้า ไม่ว่าจะเป็นการแสดงสถานะแบตเตอรี และการเชื่อมต่อต่างๆ นาฬิกา และรูปแบบการเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์
จุดที่เอเซอร์ช่วยทำให้ผู้ใช้งานแอนดรอยด์ สามารถตั้งค่าตัวเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ Acer Setting ที่รวบรวมการตั้งค่าสำคัญๆ อย่างไวไฟ บลูทูธ จีพีเอส การใช้งานเครือข่าย โหมดกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต เสียงเรียกเข้า ความสว่างหน้าจอ และเวลาปิดหน้าจอมาไว้รวมกันเพื่อให้ง่ายต่อการตั้งค่า
แน่นอนว่าในเมื่อเป็นสมาร์ทโฟนต้องไม่พลาดความสามารถในการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์ เอเซอร์ เลือกใช้ SocialJogger เพื่อเป็นแอปฯที่ใช้ในการแสดงผลซึ่งสามารถผู้ทั้งทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเข้าไว้ด้วยกัน และยังสามารถเลือกรูปแบบการแสดงผลทั้งหมด เฉพาะรูปภาพ ลิงก์ หรือเข้าไปดูหน้าแฟนเพจก็สามารถ
เมื่อเป็นเครือข่ายสังคมผู้ใช้สามารถกดเข้าไปเพื่อคอมเมนต์ กด Like แชร์ไปยังหน้าเพจได้ และที่สะดวกอีกอย่างหนึ่งคือสามารถเข้าไปดูโปรไฟล์ของหน้าแฟนเพจต่างๆได้จากภายในแอปพลิเคชันทันที
ในส่วนของการตั้งค่าสามารถเข้าไปเลือกได้ว่าจะให้แสดงผลเพจได้บ้าง รวมถึงกดเพิ่มหน้าแฟนเพจที่สนใจได้ ทั้งนี้น่าเสียดายที่ยังรองรับการใช้งานเพียงแค่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เท่านั้น ส่วนเวลาการอัปเดตข้อมูลสามารถเลือกได้ว่าจะไม่ให้อัปเดตหรือทุก 15 นาที ถึง 3 ชั่วโมง
Nemo Player เป็นแอปพลิเคชันที่เอเซอร์เลือกมาอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดูรูปภาพ เพลง และวิดีโอ ภายในแอปฯเดียว ซึ่งในการใช้งานแต่ละประเภทก็จะมีโหมดย่อยๆให้เข้าไปเลือกใช้ น่าเสียดายที่ในโหมดวิดีโอ ตัวเครื่องไม่สามารถเล่นไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูงได้
การจัดการอีเมลยังคงเปนไปเวอร์ชันแบบมาตรฐานที่แสดงผลชื่อผู้ส่งและหัวข้อ พร้อมวันที่ สามารถอ่านภาษาไทย เปิดดูไฟล์แนบตามรูปแบบไฟล์ที่เครืองรองรับพร้อมความสามารถในการส่งต่อ ตอบกลับ ก็ทำได้ตามปกติ
ที่น่าสนใจคือเว็บเบราว์เซอร์ แม้ว่าจะเป็นเครื่องสเปกสูงไม่มากนักแต่จากการที่ตัวเครื่องมีการ์ดจอแยกช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้งานเว็บไซต์ที่เป็นแฟลชได้ การแสดงผลทำได้ตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ รองรับการใช้งานมัลติทัชในการซูมเข้าออก หรือจะกดเลือกจากปุ่มก็ได้เช่นกัน
โหมดการใช้งานโทรศัพท์เองก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนไปจากพื้นฐานของแอนดรอยด์มากนัก ปุ่มตัวเลขรองรับระบบเดารายชื่อจากตัวเลขและตัวอักษร การรับสาย-ตัดสายใช้การสไลด์นิ้วตามทิศทางที่ต้องการ หน้าจอขณะสนทนาแสดงผลรูป เวลาใช้สาย ชื่อ หมายเลข สามารถกดเพิ่มสาย วางสาย เรียกปุ่มกด เปิดใช้งานบลูทูธ ปิดเสียง เปิดลำโพงได้จากหน้าจอหลัก
ในส่วนของรายชื่อผู้ติดต่อจะมีปุ่มลัดสำหรับโทรด่วน เข้าไปดูรายละเอียด ส่งข้อความ หรือแสดง QRCode เพื่อให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถสแกนเพื่อบันทึกรายชื่อผู้ติดต่อใหม่ได้ ภายในสามารถกำหนดประเภทเบอร์จดโน้ตย่อได้
แอปฯกล้องที่มากับเครื่องกำหนดให้ถ่ายโดยใช้ปุ่มชัตเตอร์เท่านั้น ในหน้าจอแสดงผลมีให้เลือกระยะซูม รูปแบบการบันทึกภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว และทางลัดเข้าไปยังแกลอรีภาพ
ส่วนการตั้งค่าต่างๆสามารถเรียกขึ้นมาได้จากการกดปุ่มเมนู มีให้เลือกทั้งความละเอียดภาพสูงสุดที่ 5 ล้านพิกเซล ปรับสมดุลแสงขาว ความสว่าง ตั้งเวลาถ่ายภาพ และอื่นๆ ที่มีให้เลือกทั้งเอฟเฟกต์ แสดงผลภาพหลังถ่าย ค่าความไวแสง คุณภาพรูป พิกัดถ่ายภาพ เป็นต้น
หน้าจอการตั้งค่าหลักของแอนดรอยด์ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก เพราะในเวอร์ชน 2.2 จะมีจุดเด่นอยู่ที่เพิ่มความสามารถในการแชร์อินเทอร์เน็ตในรูปแบบไวไฟฮ็อตสป็อตเพิ่มเข้ามา
ในส่วนของสเปกภายในของ Acer Liquid Mini บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 2.2 ใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm MSM7227 บนสถาปัตยกรรม ARMv6 ความเร็ว 600 MHz หน่วยความจำภายใน ROM 512 MB RAM 512 MB พร้อมกับหน่วยประมวลผลภาพบนชิปเซ็ต Qualcomm Adreno 200 หน้าจอสามารถรองรับมัลติทัชได้ทั้งหมด 2 จุดด้วยกัน
ผลการทดสอบประสิทธิภาพบนโปรแกรม Quadrant พบว่า Liquid Mini สามารถทำคะแนนได้ 459 ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องที่อยู่ในระดับล่าง เมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นอื่นๆในตลาด ขณะที่การทดสอบบน An3DBench และ An3DBenchXL อยู่ที่ 3,274 และ 12,976 ส่วน Neocore ได้เฟรมเรตอยู่ที่ 33.9 FPS
Design of Acer Liquid Mini
การออกแบบของ Liquid คงเน้นที่ความเล็กสมชื่อรุ่น เน้นที่จะเจาะกลุ่มผู้เริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนที่ไม่ต้องการเครื่องขนาดใหญ่จนเกินไป วัสดุหลักที่เอเซอร์ใช้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพลาสติก รวมกับฝาหลังที่มีสีสันสดใสตัดกับชอบสีเงินโครเมียมช่วยเพิ่มความหรูหราให้กับตัวเครื่อง ขนาดรอบตัวของเครื่องอยู่ที่ 110.4 x 57.5 x 13 มิลลิเมตร น้ำหนัก 109 กรัม
ด้านหน้า - ไล่ตั้งแต่ช่องลำโพงสนทนา ถัดลงมาระบุชื่อแบรนด์ด้วยตัวอักษณสกรีนสีขาว มีไฟแสดงสถานะและเซ็นเซอร์ตรวจจับใบหน้าขณะสนทนา ตรงกลางเป็นหน้าจอ Capacitive ทัชสกรีน ขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 360 x 640 พิกเซล 256k สี ล่างหน้าจอเป็นปุ่มโฮม ค้นหา ย้อนกลับ และเมนูแบบสัมผัส
ด้านหลัง - เนื่องจากใช้ฝาหลังที่เป็นแบบโค้งทำให้บริเวณกลางเครื่อจะดูหนาขึ้นเล็กน้อย โดยฝาหลังจะมีกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล ตัวอักษรระบุแบรนด์และลำโพงสเตอริโอ ผู้ใช้สามารถแกะฝาหลังโดยการแงะช่องบริเวณขอบเครื่องทั้ง 2 ฝั่ง
เปิดฝาหลังออกมาพบกับแบตเตอรีขนาด 1,300 mAh ที่มีช่องใส่ซิมการ์ดอยู่ข้างใต้ ที่น่าสนใจคือช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดที่สามารถใช้งานแบบ Hot-Swap ได้ช่วยอำนวยความสะดวกในการถอดการ์ดเพื่อโอนย้ายข้อมูล
ด้านซ้าย - ถูกปล่อยว่างไว้ ด้านขวา - ประกอบไปด้วยปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มชัตเตอร์กล้อง
ด้านบน - เป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และช่องเสียบสายหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - มีรูไมโครโฟนสนทนา และพอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับเสียบสายชาร์จและเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์
บทสรุป
หลังจากได้ลองใช้งานเครื่องไประยะเวลาหนึ่ง สิ่งที่สัมผัสได้จากจับและใช้งานคือเครื่องค่อนข้างบอบบาง จากวัสดุหลักที่เป็นพลาสติก เมื่อกดหน้าจอแล้วรู้สึกได้ว่ามีอาการยุบลงไป จากส่วนของฝาหลังที่ดีไซน์ให้โค้งขึ้นมา แต่โดยรวมแล้วถือว่าอยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับผู้ที่ต้องการทดลองใช้งานแอนดรอยด์ในระดับเบื้องต้น หรือผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟน
ด้วยความที่เป็นสมาร์ทโฟนในยุคใหม่ ความสามารถในการเชื่อมต่ออย่าง 3G บนคลื่นความถี่ 900/2100 MHz ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 7.2 Mbps พร้อมกับการเชื่อมต่อ ไวไฟ มาตรฐาน 802.11 b/g บลูทูธ 2.1 ระบบ DLNA ไวไฟฮ็อตสปอต จีพีเอส และวิทยุเอฟเอ็ม เรียกได้ว่าใส่มาให้กันอย่างเต็มครบทุกความต้องการเลยทีเดียว
ในส่วนของระบบมัลติมีเดีย น่าเสียดายที่แม้จะให้กล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล แต่ยังไม่มีระบบออโต้โฟกัส และไฟแฟลช รวมถึงถ่ายวิดีโอความละเอียดสูงสุดได้ที่ 480p 30 เฟรมต่อวินาที แน่นอนว่าจากหน่วยประมวลผลระดับ 600 MHz คงไม่สามารถเล่นไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูง 720p ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าต้องการเครื่องที่ใช้งานเพียงฟังเพลง และดูคลิปวิดีโอ Liquid Mini น่าจะตอบโจทย์ส่วนใหญ่ได้ เพราะมาพร้อมกับช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มม. แต่ถ้าต้องการมากกว่านั้นคงต้องมองหาเครื่องขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
เสียงสนทนาของ Liquid Mini ทำออกมาได้ค่อนข้างดี เสียงดังฟังชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ไมโครโฟนรับเสียงดีเกินไปหน่อยทำให้ปลายสายได้ยินเสียงรอบๆตัวผู้ใช้ได้อย่างชัดเจน ขณะที่เรื่องของเวลาการใช้งานนั้น ด้วยความที่เป็นเครื่องมาพร้อมกับซีพียู 600 MHz และหน้าจอขนาด 3.2 นิ้ว ระยะเวลาการใช้งานทั่วๆไป สนทนา ฟังเพลง เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบ้าง สามารถอยู่ได้เกือบๆ 2 วัน ผิดกับสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ในปัจจุบันที่ใช้ได้ไม่ถึงวัน
ขอชม
- ตัวเครื่องขนาดเล็ก พกพาสะดวก มีให้เลือกหลายสี
- มีการ์ดจอแยก ช่วยให้ประมวลผลภาพได้ดีขึ้นพอสมควร
ขอติ
- กล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล แต่ไม่มีออโต้โฟกัสและไฟแฟลช
- ตัวเครื่องทำจากพลาสติก ดูแล้วบอบบาง
- อินเตอร์เฟสค่อนข้างหน่วงเมื่อเทียบกับรุ่นพี่อย่าง Metal Stream และ Ferrari
สำหรับราคาเปิดตัวของ Acer Liquid Mini อยู่ที่ 7,990 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
Company Related Links :
Acer