xs
xsm
sm
md
lg

Review รีวิวสินค้าไอที สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก

x

Review : Acer Aspire 4535G แพลตฟอร์ม AMD PUMA 99%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Acer Aspire 4535G - 842G32Mn
Acer Aspire 4535G เป็นโน้ตบุ๊กที่จะเรียกว่ารุ่นใหม่ก็ไม่เชิง เพราะวางตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ตัวที่เราเอามารีวิวในวันนี้ แม้จะยังใช้ชื่อรุ่นเดิมคือ Aspire 4535G แต่สเปคใหม่ “842G32Mn” เพิ่งออกมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนนี้เอง มีการอัพเกรดโปรเซสเซอร์ให้แรงขึ้น 1 สเต็ป จากเดิม AMD Turion X2 Ultra ZM-82 (2.2GHz) มาเป็น ZM-84 (2.3GHz) ส่วนรายละเอียดอื่นๆเหมือนเดิม และราคาเท่าเดิมคือ 22,900 บาท (รุ่นเก่าราคาลง 1,000 บาท)

ถ้าดูในแคตตาล็อก Acer4U จะพบว่า เอเซอร์จัดให้โน้ตบุ๊กรุ่นนี้อยู่ในกลุ่ม Ultimate Gaming ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะถ้าได้สมรรถนะในระดับ Ultimate Gaming ในราคา 2 หมื่นต้นๆจริง ก็ถือว่าคุ้มค่าและควรค่าแก่การไขว่คว้ามาใช้อย่างยิ่ง แต่คำถามก็คือ ที่ว่า Ultimate นั้น มันขนาดไหน เสียเงิน 2 หมื่นไปแล้วจะได้กลับมาอย่างที่คาดหวังไว้หรือเปล่า เราจะมาพิสูจน์กัน

สายพันธุ์ “PUMA” 99%
แพลตฟอร์ม PUMA เด่นเรื่อง 3D, HD และประหยัดพลังงาน
Acer Aspire 4535G เป็นโน้ตบุ๊กที่พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม “PUMA” ของค่ายเอเอ็มดี (AMD) แต่มันไม่เต็ม 100% ส่วนไม่เต็มอย่างไรนั้น เดี๋ยวจะอธิบายทีหลัง ตอนนี้ศึกษาข้อมูลไปเรื่อยๆก่อน

แพลตฟอร์ม PUMA จะประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ โปรเซสเซอร์ AMD Turion X2 Ultra, กราฟิก ATI Mobility Radeon HD 3000/4000 Series, ชิปเซ็ต AMD M780G และไวร์เลสโมดูลจากพันธมิตร Better by Design ของเอเอ็มดี เมื่อนำนวัตกรรมเหล่านี้มาหลอมรวมกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ สมรรถนะที่โดดเด่นในเรื่องกราฟิก 3D, ความละเอียดภาพระดับ HD และประหยัดพลังงาน

ความสามารถพิเศษของแพลตฟอร์มนี้ก็คือ มันสามารถทำ Multi-GPU ร่วมระหว่างกราฟิกการ์ดกับกราฟิกออนบอร์ดได้ เพื่อดึงสมรรถนะกราฟิกให้สูงขึ้นกว่าปกติที่รันบนตัวใดตัวหนึ่ง เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้คือ ATI Hybrid Graphics ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถรันกราฟิกออนบอร์ดและกราฟิกการ์ดคู่กันได้ มีเทคโนโลยีย่อยๆ ประกอบด้วย ATI Hybrid CrossFireX สนับสนุนการรันกราฟิกออนบอร์ดคู่กับกราฟิกการ์ด, ATI SurroundView สนับสนุนการแสดงผลบนจอภาพ 4 จอภาพพร้อมกัน เมื่อมีการใช้กราฟิกออนบอร์ดคู่กับกราฟิกการ์ด, ATI PowerPlay เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการพลังงานบนกราฟิกชิป และ ATI PowerXpress เพื่อสลับการทำงาน รวมถึงการจ่ายพลังงาน ระหว่างกราฟิกออนบอร์ดและกราฟิกการ์ด ช่วยประหยัดพลังงานได้มาก

สมรรถนะปานกลาง แต่กราฟิกเข้าตา

กลับมาที่ตัว Acer Aspire 4535G - 842G32Mn มาดูสเปคและสมรรถนะกันหน่อยว่า เทคโนโลยีมากมายที่ว่ามาข้างบน มันจะช่วยให้ระบบมีสมรรถนะสูงขึ้นสักแค่ไหน
โปรเซสเซอร์ AMD Turion X2 Ultra ZM-84 (2.3GHz, L2 2MB)
โปรเซสเซอร์ที่ใช้เป็น AMD Turion X2 Ultra ZM-84 เป็น Dual-Core ความเร็ว 2.3GHz แคช L2 ขนาดรวม 2MB คอร์ละ 1MB ผลิตด้วยเทคโนโลยี 65 นาโนเมตร ใช้ไฟเลี้ยง 1.1 โวลต์ และกินไฟสูงสุด 35 วัตต์ โปรเซสเซอร์รุ่นนี้ถ้าจะเปรียบกับ Intel จริงๆ คงต้องเป็น Intel Core 2 Duo T6600 (2.2GHz, แคช L2 2MB, FSB 800MHz, 45nm) ซึ่งออกมาตั้งแต่ปีที่แล้วนู่น ปัจจุบันถือว่าตกรุ่นไปแล้ว รุ่นปัจจุบันของ Intel ส่วนใหญ่เป็นรหัส P เช่น Intel Core 2 Duo P8400 เป็นต้น
ชิปเซ็ต AMD M780G แรม 2GB
เมนบอร์ดเป็นยี่ห้อ Acer รุ่น JV40-PU ใช้ชิปเซ็ต AMD M780G เซาธ์บริดจ์ ATI SB700 กราฟิกอินเตอร์เฟสแบบ PCI-E X16 แรม DDR2-667 ขนาด 2GB
กราฟิก  ATI Mobility Radeon HD 4570; VRAM 512MB
กราฟิกการ์ดเป็น ATI Mobility Radeon HD 4570; VRAM 512MB เป็นผลิตภัณฑ์ระดับเมนสตรีม สนับสนุน DirectX 10.1, สนับสนุน CrossFireX และสนับสนุนวีดีโอคอนเทนต์ระดับ HD

รายละเอียดอื่นๆเป็นดังนี้

สังเกตตรงหัวข้อ Wi-Fi ที่ใช้การ์ดยี่ห้อ Acer แต่ชิปเป็นของ Atheros ตรงนี้แหละที่ทำให้ Acer Aspire 4535G เป็น PUMA แบบไม่เต็มขั้น เพราะ PUMA แท้ โมดูลตัวนี้จะต้องได้รับ Certified จากเอเอ็มดีด้วย เอเซอร์ไม่ได้ส่งโมดูลตัวนี้เข้าประกวด เลยไม่ได้ Certified มา ขณะที่ Atheros เป็นพันธมิตร Wi-Fi กับเอเอ็มดีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงอุปมาเรียก Acer Aspire 4535G ว่าเป็น PUMA 99% เสียเลย
PCMarks05 ทำสกอร์ได้ 3507 อยู่ระดับปานกลาง
จากสเปคข้างบน ทำการทดสอบด้วย PCMarks05 ทำสกอร์ได้ 3507 แสดงให้เห็นว่าสมรรถนะโดยรวมของระบบอยู่ในระดับปานกลาง เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป ตัวเลขนี้เทียบกับ Intel Core 2 Duo รหัส P รุ่นปัจจุบันไม่ติดฝุ่นเพราะรหัส P จะทำสกอร์เกิน 4000 ทุกตัว
3DMarks06 ทำสกอร์ได้ 2952 ถือว่าค่อนข้างสูง
ทดสอบสมรรถนะด้านกราฟิกด้วย 3DMarks06 ความละเอียดจอภาพ 1280 x 768 พิกเซล ทำสกอร์ได้ 2952 ตัวเลขนี้ถือว่าเข้าตาและน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ในระดับเมนสตรีมด้วยกัน แบบนี้แสดงว่าสามารถจัดการงานกราฟิกได้สบาย ดูหนัง HD ได้แน่นอน และเล่นเกมความละเอียดระดับกลางๆได้ และอาจจะได้ถึงระดับสูงสำหรับบางเกมด้วย เดี๋ยวค่อยไปพิสูจน์กัน
ฮาร์ดดิสก์ทำงานเร็ว
ผลการทดสอบฮาร์ดดิสก์ ความเร็วสูงสุดในการรับส่งช้อมูลอยู่ที่ 66.0 MB/s ความเร็วเฉลี่ย 51.9 MB/s และความเร็วในการเข้าถึงข้อมูล 16.8 ms เป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลค่อนข้างเร็วทีเดียว
แบตฯปกติรันได้ 2 ชั่วโมง 24 นาที
แบตเตอรี่ขนาด 4,400 mAh ใช้ดูหนังต่อเนื่องได้นานประมาณ 1 ชั่วโมง 42 นาที ถ้าใช้งานทั่วไป รันโปรแกรมออฟฟิศ เล่นอินเทอร์เน็ต และต่อ Wi-Fi ตลอดเวลา จะรันได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 24 นาที ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ส่วนการชาร์จแบตฯจาก 1% ไปจนถึง 85% ทำได้รวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นการประจุไฟจะช้าลง จาก 85% ไปจนถึง 100% กินเวลาไปถึง 40 นาที รวมเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 40 นาทีถึงจะเต็มก้อน
อุณหภูมิซีพียูสูงสุด 83 องศา ณ อุณหภูมิห้อง 25 องศา
ณ อุณหภูมิห้อง 25 องศา ใช้ดูหนัง ซีพียูจะมีอุณหภูมิคงที่อยู่ที่ประมาณ 52 องศา ถ้าอยู่ในสถานะ Idle อุณหภูมิต่ำสุดที่ 41 องศา และถ้า Full Load เป็นเวลา 1 ชั่วโมง อุณหภูมิสูงสุดที่ 83 องศา ถือว่าต่ำนะเนี่ย แต่นี่มันห้องแอร์ เราเลยลองเอาไปทดสอบที่อุณหภูมิห้อง 33 องศาดูอีกที พบว่าอุณหภูมิสูงสุดขยับขึ้นไปที่ 91 องศา ต่ำสุดที่ 47 องศา ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง

การใช้งานจริง

สำหรับการใช้งานทั่วๆไป คงไม่ต้องอธิบายมากมายให้เสียเวลา เพราะทำได้สบายอยู่แล้ว และไม่มีปัญหาใดๆ กับแอปพลิเคชั่นที่ใช้งานกันอยู่ประจำ มาเริ่มกันที่การทำรูปเลยดีกว่า การทำงานร่วมกับ Photoshop CS3 ไม่มีปัญหา การเปิดรูปขนาดใหญ่ความละเอียดสูงๆจำนวนหลายๆรูปพร้อมกัน ไม่ออกอาการหนืดให้เห็น การปรับแต่งรูปด้วยเครื่องมือต่างๆ ระบบสามารถประมวลผลได้รวดเร็ว และสำหรับรูปที่มีการปรับแต่งในหลายๆเลเยอร์ซ้อนๆกัน ก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหา ใช้เวลาประมวลผลแค่อึดใจ

ดูหนัง Blu-ray (ใช้เทคนิคนิดหน่อย เพราะไดร์ฟที่ให้มามันแค่ DVD) แสดงผลผ่านจอภายใน โหมด Full Screen ภาพที่ได้สีสันสดใส ไหลลื่น ไม่มีสะดุดหรือกระตุกให้เห็น ลองต่อออกจอภายนอกแบบ Full HD ผ่านพอร์ต HDMI ปรับความละเอียดเป็น 1080P ภาพที่ได้มีความคมชัดดี สีสันสดใส ออกจะสดกว่าจอในด้วยซ้ำ และเฟรมเรตลื่นไหล ดูได้จบเรื่องโดยไม่เสียอารมณ์ ส่วนเรื่องเสียง เรายังคงไว้ใจและมั่นใจได้ใน Realtek High Definition Audio ไม่ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใด และแน่นอนรวมไปถึงการฟังเพลงด้วย หรือแม้แต่ลำโพงที่ติดมากับตัวโน้ตบุ๊กก็สามารถถ่ายทอดเสียงออกมาได้อย่างมีคุณภาพดีทีเดียว

มาถึงจุดสำคัญ เล่นเกม ซัดด้วย Crysis ก่อนเลย ดูซิว่าจะเอาอยู่มั้ย ตั้งความละเอียดกราฟิกเป็น Default (ปานกลาง ค่อนไปทางสูง) ส่วนความละเอียดหน้าจอเริ่มต้นที่ 800x600 พิกเซลก่อน แน่นอนผ่านฉลุย ขยับขึ้นเป็น 1024x768 พิกเซล ก็ยังไหลลื่น ไม่มีปัญหา ขยับขึ้นอีกเป็น 1280x768 พิกเซล ที่ความละเอียดนี้แหละที่เริ่มออกอาการ เริ่มสังเกตเห็นอาการหนืดเล็กๆ เฟรมเริ่มเป็นริ้ว แต่ก็ยังเล่นได้อยู่ การตอบสนองการควบคุมยังไม่มีดีเลย์ แต่ถ้าปรับความละเอียดกราฟิกลงไปอยู่ในระดับต่ำสุดแล้ว เฟรมเรตก็ลื่นขึ้นทันที ทีนี้ก็ลองขยับขึ้นไปอีกสเต็ปที่ 1366x768 พิกเซล ที่ความละเอียดนี้ ถ้าตั้งความละเอียดกราฟิกไว้ที่ Default จะเล่นไม่ได้แล้ว ภาพสะดุดอย่างหนัก เฟรมเรตต่ำมาก และการควบคุมมีดีเลย์ แต่ถ้าปรับความละเอียดกราฟิกไว้ระดับต่ำสุด มันก็ยังเล่นได้อยู่

ลองกับ NFS Prostreet ดูบ้าง ปรับความละเอียดตัวรถไว้สูงสุด ความละเอียดฉากไว้ระดับต่ำทุกหัวข้อ (ค่า Default มันจะปิดการทำงานตรงนี้ทั้งหมด) ที่ความละเอียด 800x600 พิกเซล ผ่านฉลุยเช่นเดียวกัน ที่ความละเอียด 1024x768 พิกเซล ยังเล่นได้ไหลลื่นดี ขยับขึ้นไปที่ความละเอียด 1280x768 พิกเซล ตรงนี้จะเริ่มออกอาการแล้ว และการควบคุมเริ่มมีดีเลย์ แต่ถ้าปรับความละเอียดฉากมาเป็นค่า Default คือปิดรายละเอียดฉากทั้งหมด สเต็ปนี้ก็ยังไปต่อได้อีก ขึ้นไปที่ความละเอียด 1366x768 พิกเซล ผลเช่นเดียวกับ Crysis คือถ้าปรับความละเอียดกราฟิกเอาไว้ต่ำสุดมันก็ยังเล่นได้

ดีไซน์ดูดีเกินราคา

Acer Aspire 4535G จะใช้บอดี้เดียวกันกับ Aspire 4935G ที่เราเคยรีวิวเอาไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 วัสดุเหมือนกันเป๊ะ เป็นแมกนีเซียมอัลลอยด์ผสมกับพลาสติกคุณภาพสูง แตกต่างกันที่รายละเอียดบางจุดเท่านั้น
สีสวย สดใส ประกายมุก ดูหรูหรา น่าสัมผัส
ฝาหลังเป็นวัสดุพลาสติกคุณภาพสูง ผิวเรียบเป็นมัน สีน้ำเงินเข้ม เติมลูกเล่นด้วยประกายมุกช่วยเพิ่มความหรูหรา วางโลโก้ Acer สีเงินไว้ตรงกลาง ดูโดดเด่นสะดุดตา
จอ 14 นิ้ว HD 16:9 (1366x768 พิกเซล) LED LCD
เปิดหน้าจอขึ้นมา ด้านบนฝั่งซ้ายเป็นช่องไมโครโฟนออนบอร์ด ถัดมาเป็นกล้องเว็บแคม Acer Crystal Eye ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ถัดลงมาเป็นจอ LCD แบบไวด์สกรีน ขนาด 14 นิ้ว สัดส่วน 16:9 ความละเอียด 1366x768 พิกเซล รองรับการแสดงผลแบบ HD มีไฟแบ็คไลท์แบบ LED ที่เชื่อใจได้ในเรื่องประหยัดไฟ ใต้จอมีโลโก้ Acer สีเงิน แปะอยู่ตรงกลาง
ข้อพับขนาดใหญ่ ดีไซน์ประณีต
ข้อพับขนาดใหญ่ ให้ความมั่นใจในเรื่องความแข็งแรง ดีไซน์ดูดี ไม่ว่าจะดูจากมุมไหนก็ยังดูดี แสดงถึงความพิถีพิถันและความละเอียดในการออกแบบ
ปุ่มเปิดปิดขนาดใหญ่ ดีไซน์สะดุดตา
ตัวเครื่อง ด้านบนสุด ฝั่งซ้ายจะเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง มีดีไซน์ที่โดดเด่นสะดุดตา ไฟสีฟ้าที่ล้อมรอบปุ่มเปิดปิดจะเป็นไฟแสดงสถานะการทำงานว่ากำลัง On อยู่หรือไม่ ส่วนเส้นไฟสีฟ้าทางด้านซ้ายของปุ่มจะแสดงสถานะการชาร์จแบตเตอรี่ ส่วนไฟ 3 ดวงทางด้านขวาของปุ่ม จะแสดงสถานะการทำงานของฮาร์ดดิสก์, NumLock และ CapsLock ตามลำดับ เหนือปุ่มเปิดปิดและชุดไฟแสดงสถานะขึ้นไปเป็นโลโก้ Dolby Home Theater ถัดไปเป็นแผงลำโพงสเตอริโอ และที่เหนือลำโพงด้านขวา ก็เป็นโลโก้ Virtual Surround Sound ซึ่งการันตีเรื่องพลังและคุณภาพเสียงของ Aspire 4535G ได้เป็นอย่างดี
คีย์บอร์ดแบบเรียบ ทำงานเงียบ เข้าขั้นไฮโซ
คีย์บอร์ดดีไซน์ใหม่ ตัวปุ่มกดแบนเรียบเสมอกัน ไม่มีลดขอบเหมือนคีย์บอร์ดรุ่นเก่า ดูสวยไปอีกแบบ เลย์เอาต์เหมือนคีย์บอร์ดมาตรฐานทั่วไป ใช้งานได้อย่างสะดวกมือ และเงียบ เหมือนโน้ตบุ๊กราคาแพงๆ ด้านขวาสุดมีปุ่มฟังก์ชั่นเรียงอยู่ 6 ปุ่ม ไล่จากบนลงล่าง ดังนี้ P (กำหนดได้ว่าจะให้เรียกโปรแกรมอะไรขึ้นมา), Back Up, Wireless, Bluetooth, Volume Up และ Volume Down
ทัชแพ็ดทำงานไว ให้ความรู้สึกดี พร้อมซอฟต์แวร์ Synaptics
ถัดลงมาบริเวณพื้นที่ใต้คีย์บอร์ดเป็นที่อยู่ของทัชแพด วางตำแหน่งไว้กึ่งกลางค่อนไปทางซ้าย ลักษณะพื้นผิวหยาบเล็กน้อย ใช้ส่วนเว้าเพื่อแสดงขอบเขตของตัวทัชแพดแทนการเว้นร่อง ด้านข้างมีสัญลักษณ์บอกพื้นที่ Scroll Wheel ใช้ซอฟต์แวร์ Synaptics ปุ่มกดซ้ายขวาอยู่ทางด้านล่างตามมาตรฐาน ตรงกลางระหว่างปุ่มทั้งสองเป็นที่สแกนลายนิ้วมือ เพื่อความปลอดภัยอีกระดับ มุมขวาบนติดกับตัวทัชแพดจะมีปุ่มปิดการทำงานของทัชแพด เมื่อเวลาเราต่อเมาส์ภายนอกหรือเวลาพิมพ์งานจะได้ไม่เผลอโดนทัชแพดโดยไม่ตั้งใจ มีประโยชน์มากทีเดียว ใต้ปุ่มทัชแพดจะมีไฟ LED อีก 2 ดวง แสดงสถานะการทำงานและสถานะแบตเตอรี่ พื้นที่ทางด้านซ้ายและขวาของทัชแพดเป็นที่วางข้อมือ พื้นผิวมีลักษณะเป็นจุดไว้กันลื่น
ช่องระบายความร้อนเพียบ เลิกกลัวร้อนไปได้เลย
ใต้เครื่อง มีช่องใส่แบตเตอรี่ขนาด 4400 mAh อยู่ด้านบนสุด มุมขวาบนเป็นที่อยู่ของพัดลมระบายความร้อน ที่สามารถปรับรอบการหมุนโดยอัตโนมัติ ตรงกลางเป็นช่องเมมโมรี่ ถัดลงมาข้างล่างเป็นช่องฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว มุมล่างซ้ายและขวาเป็นช่องระบายอากาศ
(บน) ด้านซ้าย (ล่าง) ด้านขวา พอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆครบครัน แต่ไม่มี eSATA กับ Express Slot
ด้านซ้ายของตัวเครื่อง เป็นที่อยู่ของพอร์ตต่างๆ ได้แก่ ช่องเสียบสายชาร์จ, ช่องเสียบสายแลน, พอร์ต VGA, USB 2.0, HDMI, USB 2.0, ช่องเสียบหูฟัง, ไมโครโฟน และ Line In ด้านขวามี USB 2.0, ไดร์ฟ DVD, ช่องเสียบสายโทรศัพท์สำหรับโมเด็ม 56K และช่องเสียบสายล็อคกันขโมย
(บน) ด้านหน้า (ล่าง) ด้านหลัง
ด้านหน้าเครื่อง มีช่องเสียบเมโมรี่การ์ดแบบ 5-in-1 วางอยู่ทางด้านซ้ายมือสุด รองรับ MMC, SD, xD, MS และ MS Pro ถัดไปเป็นช่องระบายความร้อนลากเป็นแถบยาวไปจนสุดด้านขวามือ ด้านหลังมีเพียงช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่เท่านั้น

สรุป

Acer Aspire 4535G ยังไม่ใช่โน้ตบุ๊กประเภท Ultimate Gaming อย่างที่เราคาดหวัง กระนั้นมันก็ยังมีความโดดเด่นในเรื่องกราฟิกเกินหน้าเกินตาพวกพ้องในระดับเดียวกัน ความสามารถในการเล่นเกม Crysis ได้จนถึงความละเอียดหน้าจอระดับ 1024x768 พิกเซล ที่ความละเอียดกราฟิก Default โดยไม่กระตุก เทียบกับค่าตัว 22,900 บาทแล้ว ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบเล่นเกม ถือว่าเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและน่าลงทุน แต่ต้องยอมรับให้ได้ก่อนนะว่ามันแค่เมนสตรีม และถ้าเน้นใช้งานเป็นหลัก ภายใต้งบประมาณ 24,000 บาท ยังมี Centrino ที่ใช้โปรเซสเซอร์ Intel Core 2 Duo รหัส T ให้เลือกอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น