วันนี้ทีมงานได้นำ MSI มารีวิวให้ชมกันอีกหนึ่งรุ่น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยนำรุ่น GX400 สำหรับคอเกมมารีวิวให้ชมกันไปแล้ว ซึ่งรุ่นนี้มีชื่อว่า "PX200" เป็นรุ่นที่ออกมาเพื่อจับกลุ่มนักธุรกิจ และคนที่อยู่ในวัยทำงานโดยเฉพาะ นอกจากนี้ข้อมูลของ MSI ยังระบุด้วยว่า รุ่นนี้ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทีต้องเคลื่อนที่บ่อย ไม่ว่าจะเดินทางไปประชุม หรือสัมมนา และยังตอบสนองผู้ที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูลสูง ซึ่งทั้งหมดก็สอดรับกับกลุ่มเป้าหมายที่ทาง MSI ได้กำหนดไว้
อีกทั้ง การนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยของรุ่นนี้ยังคงเหมือนรุ่น GX400 คือ ยังไม่มีการกำหนดการขาย รวมถึงราคาจำหน่ายที่แน่นอน ทั้งนี้ คาดว่าทาง MSI ยังรอดูทิศทางและกระแสตอบรับของผู้ใช้สักระยะก่อน สำหรับจุดเด่นในโน้ตบุ๊กรุ่นนี้คือ ฟังก์ชัน'ECO Engine' ที่ช่วยควบคุมการใช้งานบนแบตฯให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ภายใต้การใช้งานแต่ละประเภท นอกจากนี้ ยังมีระบบสแกนลายนิ้วมือที่ช่วยเก็บรักษาข้อมูลให้ปลอดภัย ส่วนของแถมในรุ่นนี้ยังมีมาให้ได้เล่นเหมือนเช่นเคย คือ "Laser Pointer" สำหรับใช้ในขณะนำเสนอผลงาน
Design Of MSI PX200
เครื่องรุ่นนี้ใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ผสมกับแมกนีเซียมอัลลอยด์ในอัตราส่วนเท่าๆกัน (50-50) ดีไซน์ของเครื่องส่วนใหญ่เป็นสีดำเกือบทั้งหมด ตัดกับเงินเล็กน้อย ตัวเครื่องมีขนาด 303 x 231 x 16-29 มิลลิเมตร มีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่แล้ว)
ด้านหน้าฝาหลัง : ด้านนี้มีลักษณะโล่งและเรียบ ไม่มีการสกรีนลวดลายแต่อย่างใด แต่มีโลโก้ "msi" สีเงินเงาวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง กับ อักษรบ่งบอกขนาดของหน้าจอ ใจความว่า "12" WIDESCREEN"
เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาไล่จากส่วนบน จะพบกับกล้องเว็บแคมที่ให้ความละเอียดถึง 2 ล้านพิกเซลวางอยู่กึ่งกลางของตัวเครื่อง ใกล้กันทางขวาเป็นไมโครโฟนภายใน ถัดลงมาเป็นส่วนของหน้าจอ LCD แบบ WXGA ขนาด 12.1 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด 1280 x 800 ใต้จอมีโลโก้ "MSI" แบบสลักนูนสีเงินเงาวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง ส่วนด้านล่างข้อต่อระหว่างตัวเครื่องกับหน้าจอ มีตัวยึดขนาดเล็กอยู่ทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาดูแน่นหนาดี
ถัดลงมาในส่วนของตัวเครื่องเริ่มจากด้านบนโดยไล่จากฝั่งซ้ายจะพบกับลำโพงสเตริโอด้านซ้าย ถัดมาบริเวณตรงกลางเครื่องจะเป็นปุ่ม "Eco" สำหรับเข้าโหมดประหยัดพลังงานตามลักษณะการใช้งานต่างๆ ถัดมาเป็นปุ่มเปิด-ปิดการใช้งานกล้องเว็บแคม ปุ่มเปิด-ปิดไวเลส และบลูทูธ ใกล้กันเป็นไฟแสดงสถานะเมื่อใช้งานฟังก์ชัน Num Lock, Caps Lock, Scroll Lock ตามลำดับ โดยสถานะไฟจะแสดงเป็นสีเขียวเมื่อมีการใช้งาน ถัดมาเป็นปุ่มเปิด - ปิดเครื่อง (เปิดเครื่องแสดงไฟสีน้ำเงิน) และลำโพงสเตริโอด้านขวา
ในส่วนของคีย์บอร์ดนั้นใช้ปุ่มสีดำ สกรีนตัวอักษรสีขาว ลักษณะการวางปุ่มต่างๆคล้ายกับคีย์บอร์ดทั่วๆไป มีเพียงแค่ปุ่มฟังก์ชัน(Fn) สลับกับปุ่ม 'Ctrl' มาอยู่ด้านนอกสุดเท่านั้น
ใต้คีย์บอร์ดจะพบกับ "ทัชแพด" วางค่อนไปทางซ้ายของตัวเครื่อง มีลักษณะยุบลงไปจากตัวเครื่องเล็กน้อยพอให้เห็นว่าเป็นส่วนของทัชแพด ส่วนปุ่มกดที่ใช้สำหรับคลิกซ้าย-ขวาอยู่ทางด้านล่างทัชแพดอีกทีหนึ่ง โดยมีเครื่องอ่านลายนิ้วมือ (Finger Print Reader)วางแทรกอยู่ตรงกึ่งกลางของทั้ง 2 ปุ่มนี้ หากต้องการปิดทัชแพดสามารถทำได้ โดยการกดปุ่ม Fn + F3
นอกจากนี้ บริเวณมุมขวาล่างของส่วนนี้ยังมีไฟแสดงสถานะการทำงานแบบ LED ไล่จากด้านซ้ายไปขวา ได้แก่ แสดงสถานะการทำงานของเครื่อง(สีเขียวทำงาน-ดับปิดระบบ), แสดงสถานะแบตเตอรี่ (สีเขียว กำลังชาร์จแบตฯ สีเหลือง แบตฯหลังงานต่ำ ดับเมื่อชาร์จเต็ม), แสดงสถานะการเชื่อมต่อไวเลส(สีเขียว) กับการเชื่อมต่อบลูทูธ(สีน้ำเงิน) และแสดงสถานะฮาร์ดดิสก์ เมื่อระบบมีการเข้าถึงข้อมูลจะแสดงไฟกะพริบสีเหลือง
เมื่อพลิกดูใต้เครื่องจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ ส่วนของแบตเตอรี่ ส่วนของเมนบอร์ดที่สามารถแกะออกมาใส่แรมเพิ่มได้ และส่วนของออปติคอลไดร์ฟ ทั้งดีวีดีและฮาร์ดดิสก์ นอกจากนี้ ยังมีช่องระบายอากาศด้วยกันทั้งหมด 9 ช่อง ซึ่งเปิดมาให้พร้อมใช้งาน 6 ช่องด้วยกัน
Input and Output Ports
เริ่มจากทางด้านซ้าย ไล่จากฝั่งซ้ายประกอบด้วย ช่องสำหรับล็อกโน้ตบุ๊ก, พอร์ด VGA Out, ช่องเสียบสายแลน พอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต และไดรฟ์ DVD Super Multi
ส่วนด้านขวา ไล่จากฝั่งซ้ายเช่นกัน ประกอบไปด้วย ช่อง Express Card, ช่องการ์ดรีดเดอร์, พอร์ตยูเอสบีอีก 1 พอร์ต, e-SATA(สามารถเสียบยูเอสบีได้), HDMI, ช่องต่อสายอากาศ, ช่องพัดลมระบายอากาศขนาดใหญ่ และช่องสำหรับเสียบชาร์จแบตฯ
ทางด้านหน้าเครื่อง มีเพียงช่องเสียบไมโครโฟนและสายหูฟังเท่านั้น
ด้านหลังก็เช่นเดียวกับทางด้านหน้า คือ มีเพียงแบตเตอรี่ถูกออกแบบให้วางไว้อยู่ทางด้านนี้เพียงสิ่งเดียว
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไป
Performance And Benchmark
หลังจากได้ดูรูปลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาดูประสิทธิภาพของเจ้า PX200 กันบ้างว่าผลที่ออกจะเป็นอย่างไร จะเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน ลองไปไล่ดูที่ละสเตปพร้อมกันเลย
เริ่มจากประสิทธิภาพของซีพียู ที่ใช้แพลตฟอร์มเซนทริโน 2 Intel Core 2 Duo P8400 @ 2.26GHz เมื่อใช้งานเต็มที่คอร์สปีดอยู่ที่ 2261.1MHz FSB 1064.1 MHz ส่วน L1 D-Cache 32KB x2, L1 I-Cache 32KB x2 และ L2 Cache ที่ 3MB
ด้านเมนบอร์ดเป็นของที่ทาง Micro-Star International (MSI) ผลิตเอง ชื่อโมเดล MS- 1226/1336 ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มา 2 GB โดยเป็นแบบ DDR2 2GB Bus 800MHz จำนวนหนึ่งแถว นอกจากนี้ ช่องใส่แรมที่ทาง CPU-Z ตรวจพบยังสามารถใส่เพิ่มได้อีก 1 แถว
สำหรับการทดสอบคะแนนผ่าน PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 4447 คะแนน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการใช้งานทั่วไป
สำหรับด้านหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอใช้ของ ATI รุ่น Radeon HD 3450 กราฟิกแรมขนาด 256MB
เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1280 x 800 ผลออกมาอยู่ที่ 2068 ซึ่งค่าที่ได้อยู่ในเกณฑ์ระดับกลางๆ สามารถรองรับงานทางด้านกราฟิกได้อย่างสบาย
มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลใน ฮาร์ดดิสก์ขนาด 250 GB rpm 5400 จาก WDC ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 58.9 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 17.3 ms ถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างไวสำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้ ถึงแม้ว่าจะขัดกับกราฟที่ออกมาก็ตาม
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Intel Wireless WiFi Link 5100 ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ คือ กราฟแสดงสัญญาณประมาณ 80% สัญญาณแกว่งบ้างเล็กน้อย
Speaker
เสียงที่ได้จากการต่อออกลำโพงอยู่ในระดับมาตรฐาน เมื่อต่อผ่านพอร์ต HDMI จะเปลี่ยนซาว์นการ์ดไปเป็น ATI HDMI Audio แทน
สำหรับลำโพงภายในตัวเครื่องที่ให้มานั้นเป็นลำโพงแบบสเตริโอ ซึ่งเมื่อลองเปิดฟังในห้องขนาด 4 x 6 ตารางเมตร เสียงที่ขับออกมาดังชัดเจน เสียงที่ได้ค่อนไปทางแหลมใส ลำโพงแยกซ้าย - ขวาทำงานได้อย่างลงตัว หากลองตั้งใจฟังจะพบถึงรายละเอียดของเสียงที่กว้างขึ้น กล่าวคือ เสียงที่ขับออกมานั้นมีมิติ นอกจากนี้ ยังสามารถจำลองระบบเสียงให้เป็นแบบ 5.1 เพื่อทำให้เสียงมีมิติเซอราวด์มากขึ้น
Battery and Heat
ในส่วนของแบตเตอรี่นั้นมีขนาด 8 เซลล์ 4800mAh (เมื่อวางจำหน่ายอาจไม่ใช่ตัวนี้) ซึ่งระยะเวลาของแบตฯขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท โดยรุ่นนี้มีฟังก์ชัน 'Eco' ที่เป็นโหมดควบคุมรูปแบบการใช้งานแต่ละประเภท ทำให้เวลาที่ได้แตกต่างกันไปตามสภาพการใช้งานตามประเภทที่ได้เลือกไว้
เมื่อทดลองโดยการใช้งานอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานไปด้วย เปิดเพลงฟัง ใช้ความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สำหรับ 1 - 95%
ส่วนการดูภาพยนตร์ดีวีดีเมื่อเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด 100% ความดังเสียงสูงสุด 100% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
มาดูกันในส่วนของความร้อนถ้าใช้งานปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ประมาณ 47 องศาเซลเซียส ซีพียู 37 องศาเซลเซียส และฮาร์ดดิสก์ 42 องศาเซลเซียส เมื่อลองรันซีพียู 100% เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ปรากฏผลอุณหภูมิดังนี้ ความร้อนของเครื่อง 83 องศาเซลเซียส ความร้อนซีพียู 74 องศาเซลเซียส และฮาร์ดดิสก์ 42 องศาเซลเซียส ภายหลังลดการรันซีพียูลงพบว่า อุณหภูมิลดลงค่อนข้างไวซึ่งในจุดนี้คงเป็นเพราะระบบระบายอากาศที่ทำหน้าที่ได้ดี
สำหรับฟีเจอร์ที่มี และบทสรุปจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Feature of MSI GX400
ฟีเจอร์เด่นที่ให้มาพร้อมกับเครื่องรุ่นนี้ คือ 'ECO Engine' ที่ไว้คอยช่วยควบคุมการใช้งานบนแบตเตอรี่ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ครอบคลุมไปถึงช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน ซึ่งฟีเจอร์ตัวนี้คล้ายกับที่มีมาให้ในรุ่น GX400 ตามที่ได้รีวิวให้ชมกันไปแล้ว
สำหรับผู้อ่านที่ลืมไปแล้ว หรือว่ายังไม่ได้ชมรีวิวรุ่น GX400 ทีมงานจะย้อนให้ได้รับรู้โดยทั่วกัน เริ่มจากโหมดแรกคือ 'Gaming Mode' การใช้งานในโหมดนี้จะเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด และซีพียูจะทำงานที่ 2.2GHz ตลอดเวลา โหมดต่อมาคือ 'Movie Mode' ในโหมดนี้จะปรับความสว่างหน้าจอลงมาเหลือ 75% โดยซีพียูจะทำงานที่ 2.2GHz เช่นเดียวกัน
โหมดถัดมาคือ 'Office Mode' และ 'Presentation Mode' ใน 2 โหมดนี้จะจำกัดการทำงานของซีพียูไว้ที่ประมาณ 1.5GHz ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานดังกล่าว ส่วนความสว่างหน้าจอจะเป็น 50% และ 25% ตามลำดับ โหมดสุดท้ายคือ 'Turbo Battery Mode' จะเป็นโหมดประหยัดพลังงานสูงสุด คือปรับความสว่างหน้าจอต่ำสุด และกำหนดให้ซีพียูทำงานที่ 1.5GHz เพื่อช่วยยืดระยะเวลาในการใช้แบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น สุดท้าย 'ECO off' เป็นการปิดโหมดของ Eco Engine ให้กลับไปใช้ในรูปแบบปกติตามที่ได้ปรับค่าเอง
บทสรุป
สำหรับ "MSI PX200" รุ่นนี้โดยรวมถือว่าทำออกมาได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการออกแบบดีไซน์ที่ทำได้ค่อนข้างลงตัว แม้ว่าอาจจะดูเรียบๆไปในบางมุม วัสดุที่ใช้ดูแข็งแรงแน่นหนาทำให้เหมาะกับการเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ ส่วนฟีเจอร์ต่างๆที่ใส่มาให้ก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ทั้งเครื่องอ่านลายนิ้วมือ (Finger Print Reader) ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ 'ECO Engine' ที่ช่วยบริหารจัดการระบบพลังงาน ซึ่งมีโหมดให้เลือกตามลักษณะการใช้งานต่างๆ ทำให้ใช้พลังงานแบตฯได้อย่างคุ้มค่า ถึงแม้ว่าแบตฯที่ให้มาจะเป็นแบบ 8 เซลล์ที่ใช้งานได้ยาวนานก็ตาม
ทางด้านประสิทธิภาพของเครื่องนั้นไม่ต้องห่วงว่าจะตกเทรนด์ไว เพราะมาพร้อมกับแพลตฟอร์มเซนทริโน 2 ด้วยชื่อชั้นแล้วทำให้ไม่เป็นรองใคร ทั้งความสดใหม่และประสิทธิภาพการใช้งานไม่แพ้ค่ายดังๆแน่นอน ถ้าจะให้บอกว่าคุ้มหรือเปล่า ณ เวลานี้ยังให้คำตอบไม่ได้ เนื่องจากยังไม่ทราบราคาจำหน่ายที่แน่ชัด แต่ถ้าใครกำลังมองหาโน้ตบุ๊กที่ตอบสนองการใช้งานค่อนข้างดี สามารถพกพาไปไหนได้สะดวก ใช้งานได้นานๆ "PX200" คงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งได้ไม่ยาก
ขอชม
- มีช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ ช่วยลดอุณหภูมิที่สูงของเครื่องได้ค่อนข้างมาก
- ฟังก์ชัน 'Eco' ช่วยยืดพลังงานแบตฯ ให้ใช้งานได้ตรงตามความต้องการเพิ่มขึ้น
- มีพอร์ตรองรับการเชื่อมต่อที่หลากหลาย อย่าง ESATA , HDMI
ขอติ
- ช่องระบายความร้อนน่าจะอยู่ทางด้านซ้ายมากกว่าทางด้านขวา (ร้อนมือขณะใช้เม้าส์)
- ปุ่ม 'Fn' ที่สลับกับปุ่ม 'Ctrl' ออกมาอยู่ด้านนอกนั้น อาจทำให้ผู้ใช้สับสนเล็กน้อย
Company Relate Link :
MSI
eSYS Thailand