xs
xsm
sm
md
lg

Review : Lenovo IdeaPad Y330 ดีไซน์เข้มคุณภาพแน่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




Lenovo IdeaPad Y330 เป็นโน้ตบุ๊กในตระกูล "IdeaPad" ซึ่งในตระกูลนี้มีให้เลือกตามการใช้งานอยู่ 3 ซีรีส์ด้วยกัน ได้แก่ U ซีรีส์, Y ซีรีส์ และS ซีรีส์ โดยโน้ตบุ๊กรุ่นที่นำมารีวิวนี้จัดอยู่ใน Y ซีรีส์ เจาะกลุ่มเป้าหมายสำหรับเพื่อใช้ความบันเทิงในครอบครัวเป็นหลัก ภายหลังจากการใช้งานต้องบอกว่าคุ้มค่ากับค่าตัวที่สามารถหยิบหามาครองครองได้ไม่ยาก ทั้งดีไซน์ที่ดูหรู และประสิทธิภาพการใช้งานที่ไม่เป็นรองใคร

Design Of Lenovo IdeaPad Y330

เครื่องรุ่นนี้ใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ผสมกับแมกนีเซียมอัลลอยด์ ดีไซน์ให้มีความมันวาว สอดคล้องกับความโค้งมนของขอบเครื่อง ทำให้ดูหรูหราชวนน่าสัมผัส ตัวเครื่องมีขนาด 325 x 237 x 25-37 มิลลิเมตร มีน้ำหนัก 2.15 กิโลกรัม (รวมแบตเตอรี่แบบ 6 เซลล์)


ด้านหน้าฝาหลัง : พื้นผิวด้านนี้เป็นสีดำมีลักษณะมันวาว พร้อมด้วยลวดลายคล้ายๆขดของก้นหอย ทำให้ดูเด่นแปลกตาแรกพบเห็น แต่อย่าลืมว่าความมันวาวของพื้นผิวจะตามมาด้วยรอยต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะคราบนิ้วมือซึ่งจุดนี้แล้วแต่ผู้ใช้ว่าจะรับสภาพได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนด้านบนสุดมีโลโก้ "Lenovo" สีเงินวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลางของตัวเครื่อง


เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาไล่จากส่วนบน จะพบกับกล้องเว็บแคมพร้อมข้อความการันตีว่า มีความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซลวางอยู่กึ่งกลางของตัวเครื่อง ใกล้กันด้านข้างรูเป็นไมโครโฟนภายใน ถัดลงมาเป็นส่วนของหน้าจอ LCD แบบ WXGA ขนาด 13 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด 1280 x 800 จอทำจากกระจกมีลักษณะค่อนข้างเงา ด้านข้างจอทางด้านบนมีชื่อบอกว่าโน้ตบุ๊กรุ่นเป็นกลุ่มของ "ideapad" ส่วนใต้จอมีโลโก้ "Lenovo" สีเงินเงาวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง




ส่วนของข้อพับถูกออกแบบให้เข้ากับตัวเครื่องได้อย่างกลมกลืน ลองเปิด-ปิดฝาเครื่องดูหลายๆรอบพบว่าข้อพับมีความแข็งแรงพอสมควร ไม่พบว่าหน้าจอจะปิดลงมาเองได้โดยง่าย เมื่อลองกางหน้าจอออกไปจนสุด สามารถกางออกได้ประมาณ 145 องศา


ถัดลงมาในส่วนของตัวเครื่องเริ่มจากด้านบนสุดของส่วนนี้เป็นแถบลำโพงสเตริโอ โดยมีชื่อรุ่น 'Y330' วางอยู่ด้านบนทางซ้าย และสัญลักษณ์ 'Dolby' อยู่ด้านบนทางขวาของลำโพงอีกทีหนึ่ง ถัดลงมาไล่จากฝั่งซ้ายจะพบกับปุ่มเปิด - ปิดเครื่อง (เปิดเครื่องแสดงไฟสีแดง) ถัดมาเป็นปุ่มสำหรับเรียกใช้การกู้ข้อมูล ใกล้กันทางด้านขวาเป็นฟังก์ชันระบบสัมผัสทั้งหมดซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของรุ่นนี้ ใช้สำหรับควบคุมการเล่นมัลติมีเดียภายในเครื่องทั้งการเปิดโปรแกรม และควบคุมระบบเสียงประกอบไปด้วย ปุ่มเปิด-ปิดเสียงลำโพง, ปุ่มเรียกใช้โปรแกรมต่างๆที่ได้เซ็ตค่าเอาไว้, ปุ่มเรียกใช้ฟังก์ชัน 'DOLBY Home Theater'



คั่นกลางด้วยไฟแสดงสถานะ ประกอบไปด้วย แสดงสถานะการทำงานของฮาร์ดดิสก์, Num Lock, Caps Lock และScroll Lock โดยสถานะไฟจะแสดงเป็นสีฟ้าเมื่อมีการใช้งาน ซีกขวาเป็นฟังก์ชันมัลติมีเดียแบบสัมผัส มี 2 โหมดให้เลือกสลับใช้งาน ประกอบไปด้วย หมวดแรกเป็นปุ่มควบคุมเครื่องเล่นเพลงทั่วๆไป หมวดที่สองเป็นการปรับอีควอไลเซอร์ มีให้เลือกปรับดังนี้ แจ๊ส, ป็อป, แดนซ์, คลาสิก และปกติ โดยปุ่มควบคุมการเปลี่ยนโหมดอยู่ทางด้านขวาสุด ใกล้กันเป็นปุ่มควบคุมความดังเสียง ทุกปุ่มเมื่อเลือกใช้งานจะแสดงไฟเป็นสีส้ม


ในส่วนของคีย์บอร์ดนั้นใช้ปุ่มสีดำ สกรีนตัวอักษรสีขาว ลักษณะการวางปุ่มต่างๆคล้ายกับคีย์บอร์ดทั่วๆไป มีเพียงแค่ปุ่มฟังก์ชัน(Fn) สลับกับปุ่ม 'Ctrl' มาอยู่ด้านนอกสุดเท่านั้น เมื่อลองสัมผัสปุ่มรู้สึกนุ่มง่ายต่อการใช้งาน
***หมายเหตุ แป้นพิมพ์ที่เห็นสกรีนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดนั้น เนื่องจากเป็นเครื่องทดสอบ สำหรับเครื่องที่จะวางจำหน่ายจริงน่าจะมีภาษาไทยให้แน่นอนครับ


ใต้คีย์บอร์ดตรงกึ่งกลางค่อนไปทางซ้ายเล็กน้อยจะพบกับ "ทัชแพด" ซึ่งสังเกตได้ง่ายอย่างชัดเจน บริเวณด้านข้างมีสัญลักษณ์บอก 'Scroll Wheel' ปุ่มกดที่ใช้สำหรับคลิกซ้าย-ขวาอยู่ทางด้านล่างทัชแพดอีกทีหนึ่ง ตัวเครื่องส่วนนี้ถูกดีไซน์ให้เหมือนกับฝาหลังที่เป็นลวดลายคล้ายก้นหอย จากการสัมผัสปุ่มกดให้ความรู้สึกนุ่มซึ่งคล้ายกับปุ่มของแป้นพิมพ์


นอกจากนี้ ใต้ปุ่มทัชแพดบริเวณมุมขวาล่างยังมีไฟแสดงสถานะการทำงานแบบ LED ไล่จากด้านซ้ายไปขวา ได้แก่ แสดงสถานะการทำงานของเครื่อง(สีน้ำเงิน-ดับปิดระบบ), แสดงสถานะชาร์จแบตเตอรี่ (สีน้ำเงิน : กำลังชาร์จแบตฯ กระพริบเมื่อชาร์จเต็ม) และแสดงสถานะการเชื่อมต่อไวเลส(สีน้ำเงิน) กับการเชื่อมต่อบลูทูธ(สีแดง) ถ้าใช้งานทั้งไวเลส กับบลูทูธ(สีชมพู)


เมื่อพลิกดูใต้เครื่องจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆคือ ส่วนแรกคือแบตเตอรี่อยู่ทางด้านบนสุด ส่วนที่สองเป็นส่วนที่กินพื้นที่มากที่สุด เป็นที่อยู่ของเมนบอร์ด ซีพียู แรม สามารถเปิดออกมาเพื่อใส่แรมเพิ่มได้อีก ส่วนสุดท้ายทางด้านล่างมุมขวาเป็นที่อยู่ของฮาร์ดดิสก์ สำหรับช่องระบายอากาศมีอยู่ครอบคลุมทั้ง 2 ส่วนสุดท้าย และมากเพียงพอที่ช่วยระบายอากาศ

Input and Output Ports


เริ่มจากทางด้านซ้าย ไล่จากฝั่งซ้ายประกอบด้วย ช่องเสียบสายโทรศัพท์สำหรับต่อกับโมเด็ม 56K , IEEE 1394 โดยทั้งสองส่วนนี้มียางหุ่มปิดอยู่อย่างมิดชิด ถัดมาเป็นพอร์ด VGA Out, ช่องเสียบสายแลน และพอร์ต HDMI


ส่วนด้านขวา ไล่จากฝั่งซ้ายเช่นกัน ประกอบไปด้วย ช่องสำหรับใส่สายล็อกโน้ตบุ๊ก, ช่องสำหรับเสียบชาร์จแบตฯ, ออพติคัลไดร์ฟ DVD-RW แบบ Slot in (ทำงานโดยการดูด และคายแผ่นออกมาก) พอร์ตยูเอสบี 2 พอร์ต (ด้านบน)และช่อง Express Card(ด้านล่าง)


ทางด้านหน้าเครื่องไล่จากฝั่งซ้ายจะพบตัวรับสัญญาณอินฟาเรด สำหรับรับสัญญาณรีโมตคอนโทรล, ไฟแสดงสถานะ, ช่องการ์ดรีดเดอร์, ช่องต่อหูฟัง, ช่องต่อไมค์ และปุ่มเปิด-ปิดการเชื่อมต่อเไวเลส


ด้านหลังมีเพียงช่องระบายอากาศของซีพียูเพียงอย่างเดียว ถูกออกแบบมาค่อนข้างใหญ่พอสมควร

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไป













Performance And Benchmark

หลังจากได้ดูรูปลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาดูประสิทธิภาพของเจ้า Lenovo IdeaPad Y330 กันบ้างว่าผลที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร เราลองไปไล่ดูที่ละสเตปพร้อมกันเลย


เริ่มจากประสิทธิภาพของซีพียู ที่ใช้แพลตฟอร์มเซนทริโน 2 Intel Core 2 Duo P7350 @ 2.0GHz เมื่อใช้งานเต็มที่คอร์สปีดอยู่ที่ 1995.1MHz FSB 1064.1 MHz ส่วน L1 D-Cache 32KB x2, L1 I-Cache 32KB x2 และ L2 Cache ที่ 3MB


ด้านเมนบอร์ดเป็นของที่ทาง LENOVO ผลิตเอง ชื่อโมเดล Base Board ใช้ชิปเซ็ต Intel PM45/82801iM(ICH9-M) ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มา 2 GB โดยเป็นแบบ DDR2 2GB Bus 667MHz จำนวนหนึ่งแถว นอกจากนี้ ช่องใส่แรมที่ทาง CPU-Z ตรวจพบยังสามารถใส่เพิ่มได้อีก 1 แถว สามารถใส่ได้สูงสุดถึง 4 GB


สำหรับการทดสอบคะแนนผ่าน PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 4613 คะแนน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการใช้งานทั่วไป


สำหรับด้านหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอใช้ของ ATI รุ่น Radeon HD 3400 กราฟิกแรมขนาด 256MB


เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1280 x 800 ผลออกมาอยู่ที่ 2055 ซึ่งค่าที่ได้อยู่ในเกณฑ์ระดับกลางๆ สามารถรองรับงานทางด้านกราฟิกได้อย่างสบาย


มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลใน ฮาร์ดดิสก์ขนาด 250 GB rpm 5400 จาก Hitachi ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 62.7 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 17.5 ms ถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ค่อนข้างไวสำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้


ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Intel Wireless WiFi Link 5100 ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ คือ กราฟแสดงสัญญาณ 100% ไม่มีสัญญาณแกว่งให้เห็น

Speaker

เสียงที่ได้จากการต่อออกลำโพงอยู่ในระดับมาตรฐาน เมื่อต่อผ่านพอร์ต HDMI จะเปลี่ยนซาวน์การ์ดไปเป็น ATI HDMI Audio แทน


สำหรับลำโพงภายในตัวเครื่องที่ให้มานั้นเป็นลำโพงแบบเสตริโอให้รองรับระบบ Dolby Digital ซึ่งสามารถเปิดฟังในห้องขนาดกลางได้สบายๆ ส่วนการ์ดเสียงใช้ Realtek HD Audio รุ่นยอดนิยม

หลังการทดลองเปิดฟังในห้องขนาด 4 x 6 ตารางเมตร พบว่าเสียงที่ขับออกมาดังชัดเจน โทนเสียงออกไปทางแหลมใส ลำโพงซ้าย - ขวาทำงานได้อย่างลงตัวมีมิติ นอกจากนี้ ยังสามารถจำลองระบบเสียงให้เป็นแบบ 5.1 เพื่อทำให้เสียงมีมิติเซอราวด์มากขึ้นได้ด้วย

Battery and Heat


ในส่วนของแบตเตอรี่นั้นเป็นแบบ Li-ion ขนาด 6 เซลล์ 4200mAh ซึ่งระยะเวลาของแบตฯขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท โดยรุ่นนี้มีโปรแกรม 'Lenovo Energy Management' ช่วยจัดการเรื่องพลังงานให้ตรงกับรูปแบบการใช้งานแต่ละประเภท ทำให้เวลาที่ได้แตกต่างกันไปตามสภาพการใช้งานตามประเภทที่ได้เลือกไว้


เมื่อทดลองโดยการใช้งานอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานไปด้วย เปิดเพลงฟัง ใช้ความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 35 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง สำหรับ 1 - 95%

ส่วนการดูภาพยนตร์ดีวีดีเมื่อเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด 100% ความดังเสียงสูงสุด 100% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที


มาดูกันในส่วนของความร้อนถ้าใช้งานปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ประมาณ 48 องศาเซลเซียส ฮาร์ดดิสก์ 41 องศาเซลเซียส เมื่อลองรันซีพียู 100% เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ปรากฏผลอุณหภูมิดังนี้ ความร้อนของเครื่อง 82 องศาเซลเซียส ฮาร์ดดิสก์ 45 องศาเซลเซียส ภายหลังลดการรันซีพียูลงพบว่า อุณหภูมิลดลงค่อนข้างไวถือว่าระบบระบายอากาศที่มีมาให้กับเครื่องรุ่นนี้ทำหน้าที่ได้ดี


สำหรับ Rate และ Basic Information จากวินโดวส์ วิสต้า แสดงผลตามรูปด้านบนนี้ครับ

สำหรับฟีเจอร์ที่มี และบทสรุปจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Feature of Lenovo IdeaPad Y330


คราวนี้ลองมาดูฟีเจอร์เด่นที่ให้มาพร้อมกับเครื่องรุ่นนี้กันบ้าง เริ่มที่โปรแกรม "Lenovo Energy Manager" แปลตรงตัวคือโปรแกรมจัดการด้านการใช้พลังงานนั่นเอง เมื่อเปิดใช้โปรแกรมจะพบกับรูปแบบตัวเลือกต่างๆให้เลือกใช้งาน ประกอบไปด้วย High Perfomance, Balanced, Power Saver และSuper Energy Saver อีกทั้งสามารถเข้าไปตั้งค่าในแต่ละรูปแบบได้เองด้วย

นอกจากนี้ โปรแกรมยังสามารถบอกสเปกของแบตเตอรีให้ทราบแบบพอสังเขป รวมถึงระดับแบตฯด้วยว่าเหลืออยู่ปริมาณเท่าไร หรือถ้าหากชาร์จอยู่ก็จะบอกว่าขณะนี้ชาร์จไปปริมาณเท่าไรแล้ว ซึ่งเจ้าตัวโปรแกรม "Lenovo Energy Manager" ที่ให้มานี้จะว่าไปแล้ว ก็มีหลักการทำงานเดียวกับการเซ็ตค่าของ "Power Options" ในส่วน 'Control Panel' นั่นเอง


โปรแกรมถัดมา คือ "Lenovo EasyCapture" เป็นโปรแกรมจัดการเรื่องกล้องเว็บแคม ทั้งการถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้องเว็บแคมที่ให้มาเป็นเรื่องง่ายๆ ซึ่งจากการลองใช้ก็ใช้งานง่ายสมชื่อจริงๆครับ เมื่อกดเข้าโปรแกรมนี้จะพบกับกรอบภาพทางด้านบน ด้านล่างเป็นฟังก์ชันแบ่งเป็นหมวดๆให้เลือกใช้งาน ได้แก่ ถ่ายภาพนิ่ง, ถ่ายภาพเคลื่อนไหว, แกลอรีภาพนิ่ง, แกลอรีภาพเคลื่อนไหว, เอฟเฟกต์มีให้เลือกใช้อีก 3 หมวดใหญ่ๆ และการตั้งค่าระบบ


โปรแกรมต่อมามีชื่อว่า "Lenovo ReadyComm 4.0" เป็นโปรแกรมสำหรับการตั้งค่าการเชื่อมต่อต่างๆ แบ่งเป็น 2 หมวดหลัก คือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านไวเลสแลน กับการเชื่อมต่อออกจอภายนอก ส่วนการตั้งค่าก็สามารถเซ็ตได้ที่ 'Option' ซึ่งมีให้เลือกตั้งค่า 3 หมวด ได้แก่ Profile Management, Advanced Setup และEnergy Saving


ต่อมาเป็นโปรแกรมรักษาความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลแปลกหน้ามาใช้เครื่องโดยไม่ได้รับอนุญาต โปรแกรมนี้มีชื่อว่า "Lenovo Veriface Recognition III" ซึ่งมีหลักการทำงานที่แตกต่างจากการใช้รหัสผ่านล็อกทั่วไปคือ จะใช้ใบหน้าของผู้ใช้เป็นพาสเวิร์ดแทน หลังจากทดลองใช้งานปรากฏว่าโปรแกรมทำงานได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็วในการปลดล็อกหากหน้าตรงกับที่เซ็ตไว้ในโปรแกรม


โปรแกรมสุดท้ายมีชื่อว่า "OneKey Recovery 6.0" ดูชื่อแล้วเดากันไม่ยากเลย มันคือโปรแกรมที่ไว้สำหรับสำรองข้อมูล ทำให้เกิดความสะดวกในการเรียกใช้งาน โดยไม่จำเป็นต้องไปหาโปรแกรมแนวนี้มาลงให้ยุ่งยาก สามารถเรียกใช้งานโดยการกดปุ่มลัดที่มีสัญลักษณ์ "ลูกศรวกกลับมาทางซ้าย" ใกล้กับปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง

บทสรุป

สำหรับ "Lenovo IdeaPad Y330" รุ่นนี้โดยรวมถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่คุ้มค่าตัวหนึ่ง ทั้งเรื่องของดีไซน์ออกแบบมาเหมือนจะเป็นรุ่นไฮเอนด์ แต่ราคาไม่ได้ไฮเอนด์ตาม และเรื่องของประสิทธิภาพการใช้งานที่ใช้แพลตฟอร์มเซนทริโน 2 ทำให้หมดความกังวลเรื่องการตกเทรนด์ได้ง่ายไปได้เลย ฟังก์ชันฟีเจอร์ต่างๆที่ใส่มาให้ถือว่าได้ใช้งานกันเต็มประสิทธิภาพแน่นอน แต่เรื่องพลังงานของแบตฯยังตอบสนองได้ไม่นานเท่าที่ควร และเรื่องของการดีไซน์บางส่วนที่อาจทำให้ตกม้าตายได้ง่ายๆเช่นกัน ทั้งนี้ อยู่ที่ผู้ใช้ว่าจะยอมรับจุดเล็กน้อยเหล่านี้ได้มากแค่ไหน

ขอชม
- มีระบบตัดหน้าจอเมื่อไม่ได้ใช้งานสักระยะ ช่วยประหยัดหลังงานได้ระดับหนึ่ง
- ระบบระบายความร้อนมีมาให้ใช้พอเหมาะ ช่วยลดอุณหภูมิที่สูงของเครื่องได้ค่อนข้างมาก
- ฟีเจอร์ของซอฟต์แวร์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ และช่วยเรื่องความสะดวกได้มาก

ขอติ
- ความมันเงาของตัวเครื่อง ทำให้เกิดคราบรอยนิ้วมือได้ง่าย
- ปุ่ม 'Fn' ที่สลับกับปุ่ม 'Ctrl' ออกมาอยู่ด้านนอกนั้น อาจทำให้ผู้ใช้สับสนเล็กน้อย
- พอร์ตยูเอสบีให้น้อยมานิดนึง คือมีเพียงแค่ 2 พอร์ตเท่านั้น

สำหรับราคาจำหน่ายของ Lenovo IdeaPad Y330 อยู่ที่ประมาณ 22,900 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

Company Relate Link :
Lenovo
กำลังโหลดความคิดเห็น