xs
xsm
sm
md
lg

Review : Acer Aspire 4935G โรงหนังเคลื่อนที่ขนาดย่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




Acer Aspire 4935G รหัส 864G50Bn/X040 จัดได้ว่าเป็นโน้ตบุ๊กแนว "Home Entertainment" ซึ่งความสามารถที่มากับเครื่องนั้นถือได้ว่าเป็นโน้ตบุ๊กสำหรับความบันเทิงอย่างแท้จริง ทั้งฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ความจุที่ให้มาถึงครึ่งเทราไบต์ พอร์ตการเชื่อมต่อที่มีให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย หรืออาจจะบอกว่าให้มาครบก็คงไม่ผิดนัก ตลอดจนประสิทธิภาพของเครื่องที่ใส่มาแบบไม่มีกั๊ก ส่วนไดร์ฟที่ให้มาก็เป็นแบบบลู-เรย์ดิสก์ ทำให้รองรับการแสดงผลภาพได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

Design of Acer Aspire 4935G



Acer Aspire 4935G - 864G50Bn/X040 ยังคงเอกลักษณ์เดิมในเรื่องของความทนทาน ด้วยรูปทรงตู้ๆตามสไตล์เอเซอร์ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เมื่อสังเกตดูโดยรวมพบว่าตัวเครื่องถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย แต่แฝงด้วยฟังก์ชันการใช้งานต่างๆที่ครบครัน ตัวเครื่องใช้วัสดุที่ทำจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ ผสมกับพลาสติกคุณภาพสูงเป็นส่วนใหญ่

อย่างที่ทราบกันแล้วว่าโน้ตบุ๊กของ "Acer" รุ่นนี้จัดเป็นโน้ตบุ๊กแนว "Home Entertainment" ซึ่งขนาดที่ให้มาถือว่ากำลังพอเหมาะไม่เล็กและไม่ใหญ่เทอะทะเกินไป โดยมีขนาดรอบตัวอยู่ที่ 342 x 239 x 38.6 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักนั้นก็อยู่ในระดับพอดีๆ ประมาณ 2.5 กิโลกรัม ถือเป็นโน้ตบุ้กขนาดกลางๆที่สามารถพกพาไปยังที่ต่างๆได้สบาย



เริ่มจาก ด้านหน้าฝาหลัง ลักษณะของพื้นผิวทางด้านนี้เรียบเนียนด้วยสีกรมท่าค่อนไปทางดำ มีความเงาอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงกับเงาจนสะท้อนแสงได้ชัด ตรงกลางมีโลโก้ "Acer" สีเงินวางพาดเด่นสะดุดตา



เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาไล่จากส่วนบนฝั่งซ้ายจะพบกับช่องไมโครโฟนภายใน ถัดมาเป็นกล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ซึ่งทางเอเซอร์เรียกว่า "Crystal Eyes"วางอยู่กึ่งกลางของตัวเครื่อง มีให้เลือกใช้ 2 ความละเอียด คือ 640 x 480 และแบบ 720p (1280 x 720) ถัดลงมาเป็นส่วนของหน้าจอ LCD แบบ WXGA ขนาด 14 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุด 1366x768 แสดงผลแบบไวด์สกรีนในอัตราส่วน 16:9 ใต้จอมีโลโก้ "Acer" แบบสลักนูนสีเงินเงาวางพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง



ส่วนของข้อพับมีลักษณะเป็นตัวยึดขนาดใหญ่ทั้งฝั่งซ้ายและขวา ใช้วัสดุที่แข็งแรงอย่างโครเมี่ยมในการยึด ทำให้มั่นใจถึงความแน่นหนาคงทน และสามารถรองรับขนาดของหน้าจอได้สบาย



ถัดลงมาดูที่ตัวเครื่องเริ่มจากส่วนบนสุดโดยไล่จากฝั่งซ้ายจะเป็นปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ซึ่งจะแสดงสถานะโดยไฟสีฟ้าอยู่รอบๆ ใกล้กันเป็นไฟแสดงสถานะการใช้งานของเครื่อง ถัดมาตรงกลางเครื่องจะพบกับโลโก้ 'Dolby Home Theater' และปุ่มลัดสำหรับการใช้งานต่างๆ ได้แก่ ไวเลสแลน, อินเทอร์เน็ต เบราว์เซอร์, อีเมล และบลูทูธ ทั้งหมดที่กล่าวมาในส่วนนี้วางอยู่บนลำโพงสเตอริโอ โดยมีข้อความการันตีทางมุมขวาว่าเป็นระบบเสียงแบบ 'Virtual Surround Sound'



ตัวคีย์บอร์ดปุ่มกดเป็นสีดำตัวอักษรสีขาว มีลักษณะมันวาวเล็กน้อยทำให้ดูไฮโซน่าสัมผัส การวางปุ่มอักขระต่างๆเหมือนคีย์บอร์ดมาตรฐานทั่วไป ด้านขวาสุดของบริเวณคีย์บอร์ดมีฟังก์ชันควบคุมเครื่องเล่นเพลงซ่อนมาด้วย ซึ่งสามารถเรียกใช้โดยการ กด 'Fn' ค้างแล้วเลือกกดฟังก์ชันตามการใช้งาน หลังจากลองใช้งานคีย์บอร์ดพบว่าปุ่มอาจจะดูหนืดเล็กน้อยในการใช้งานช่วงแรกๆ แต่พอปรับสภาพการใช้งานได้อาจจะทำให้รู้สึกนุ่มขึ้น (ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน)



คราวนี้ละสายตาไปทางด้านขวาข้างคีย์บอร์ดบ้าง ส่วนนี้จะเป็นแผงควบคุมความบันเทิงทุกรูปแบบ ไล่ตั้งแต่บนสุดจะพบกับปุ่มที่เป็นสัญลักษณ์ "e" ปุ่มนี้คือ "Empowering Technology" เป็นคีย์ลัดเข้าสู่โปรแกรมจัดการระบบต่างๆของเครื่องซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของทางเอเซอร์ ถัดมาเป็นฝั่งซ้ายเป็นปุ่ม "Acer Arcade Deluxe"แบบสัมผัส เพื่อเข้าสู่ฟังก์ชันเครื่องเล่นมัลติมีเดียต่างๆ และเป็นลิขสิทธิ์ของเอเซอร์อีกเช่นกัน ซึ่งสามารถใช้งานโดยไม่ต้องบูทผ่านวินโดวส์ ***โดยทั้ง 2 ส่วนนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดอีกครั้งในส่วนของฟีเจอร์(หน้า 3)

ถัดมาใกล้กันเป็นปุ่มใช้เล่นมัลติมีเดียที่สามารถควบคุมโดยการใช้เพียงปลายนิ้วสัมผัส ประกอบไปด้วย ปุ่ม HOLD, Play/Pause, Stop, Prev, Next แถบเพิ่มลดระดับเสียง และปิดเสียง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งในเครื่องเล่นเพลง และในการรับชมภาพยนตร์ มีไฟแสดงสถานะการใช้งานอย่างชัดเจน



ด้านล่างใต้คีย์บอร์ดมี "ทัชแพด" อยู่ตรงกึ่งกลางค่อนไปทางซ้าย ลักษณะของทัชแพดเป็นแบบเดียวกับพื้นผิวของตัวเครื่อง กล่าวคือ ผิวสีเทาหยาบมีส่วนเว้าพอให้รู้ถึงขอบเขตการใช้งานทัชแพด ซึ่งมีขนาดใหญ่พอสมควร บริเวณด้านข้างมีสัญลักษณ์บอก 'Scroll Wheel' ส่วนปุ่มกดซ้าย-ขวาแยกลงมาอยู่ทางด้านล่าง โดยมีเครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Fingerprint Sensor) เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลคั่นอยู่ตรงกลาง



เมื่อพลิกดูใต้เครื่องจะพบช่องใส่แบตเตอรี่ขนาด 4400 mAh อยู่ด้านบนสุด ส่วนบริเวณมุมด้านขวาบนมีพัดลมเพื่อระบายความร้อน ซึ่งจะปรับรอบการหมุนโดยอัตโนมัติ เมื่อความร้อนของเครื่องมากขึ้นก็จะหมุนแรงตามอัตราที่ตั้งมาจากโรงงาน ทางด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว ที่สามารถไขน็อตเพื่อเปลี่ยนได้ ที่เหลือเป็นช่องระบายอากาศกระจายอยู่รอบตัวเครื่องทางด้านนี้

Input and Output Ports

คราวนี้ลองมาดูช่องเชื่อมต่อของเครื่องรุ่นนี้กันบ้าง แน่นอนในเมื่อรุ่นนี้เป็น"โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์" พอร์ตการเชื่อมต่อย่อมมีมาให้เลือกใช้กันหลากหลาย และรุ่นนี้ก็ใส่มาให้ครบครันตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะมีอะไรกันบ้างไปไล่ดูพร้อมกันเลยดีกว่า



เริ่มจากด้านซ้าย ไล่จากริมในสุดฝั่งซ้าย ประกอบไปด้วย ช่องสำหรับเสียบชาร์จแบตฯ, ช่องเสียบสายแลน, VGA Out, e-SATA(สามารถเสียบยูเอสบีได้), HDMI, พอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต, ช่องเสียบหูฟัง, ไมโครโฟน, ต่อออกลำโพงภายนอก และExpress Card



ทางด้านขวาเริ่มจากริมในฝั่งซ้ายเหมือนกัน ประกอบไปด้วย ช่องสำหรับล็อกโน้ตบุ๊ก(Kensington Lock) ถัดมาเป็น ช่องเสียบสายโทรศัพท์สำหรับต่อกับโมเด็ม 56K, ออพติคัลไดร์ฟซึ่งเป็นแบบ Blu-Ray ROM กับ SuperMulti DVD&RW Double Laye และพอร์ต USB อีก 1 พอร์ต



ส่วนด้านหน้าเครื่องไล่จากฝั่งซ้ายจะพบช่องใส่การ์ดรีดเดอร์แบบ 6-1 ถัดมาจะมีไฟแสดงสถานะแบ่งเป็นไฟแสดงสถานะการเปิดใช้เครื่อง และการชาร์จแบตเตอรี่ ใกล้กันเป็นช่องระบายความร้อนลากเป็นแถบยาว



ด้านหลังมีเพียงช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่เท่านั้น

นอกจากการเชื่อมต่อผ่านพอร์ตต่างๆแล้วยังมีการเชื่อมต่อผ่านระบบไวเลส แลน ที่รองรับ 802.11a/b/g/n รวมไปถึงการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ 2.0 ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นครบเครื่องจริงๆสำหรับโน้ตบุ๊กรุ่นนี้

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
















Performance And Benchmark

หลังจากได้รู้จักรูปลักษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว คราวนี้มาดูประสิทธิภาพของAcer Aspire 4935G - 864G50Bn/X040 กันบ้างว่าผลที่ออกจะเป็นอย่างไร ลองไปไล่ดูทีละสเต็ปพร้อมกันเลย



เริ่มจากประสิทธิภาพของซีพียู ที่ใช้แพลตฟอร์มเซนทริโน 2 Intel Core 2 Duo P8600 @ 2.4GHz เมื่อใช้งานปกติคอร์สปีดจะอยู่ที่ 1596 MHz แต่ถ้าใช้งานเต็มประสิทธิภาพจะขึ้นไปอยู่ที่ 2.4 GHz เต็มๆ ส่วน FSB 1064 MHz L1 D-Cache 32KB x2, L1 I-Cache 32KB x2 และ L2 Cache ที่ 3MB



ด้านเมนบอร์ดเป็นของที่ทาง Acer ผลิตเอง ชื่อโมเดล Aspire 4935 ใช้ชิปเซ็ต Intel PM45/82801iM(ICH9-M) ในส่วนของหน่วยความจำใส่ให้มา 4 GB โดยเป็นแบบ DDR2 2GB Bus 667 MHz จำนวนสองแถว สามารถใส่ได้สูงสุดถึง 8 GB



สำหรับการทดสอบคะแนนผ่าน PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 5092 คะแนน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว ดังนั้นมั่นใจถึงความลื่นไหลในการใช้งานได้เลย



สำหรับด้านหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอใช้ของ NVDIA รุ่น GeForce 9300M GS กราฟิกแรมขนาด 512MB



เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1280 x 768 ผลออกมาอยู่ที่ 1926 ซึ่งค่าที่ได้ไม่สูงนักเป็นกราฟิกที่อยู่ในเกณฑ์ระดับกลางๆ สามารถรองรับงานทางด้านกราฟิกได้อย่างสบาย แต่ถ้าจะนำมาใช้เล่นเกมที่มีความละเอียดสูงๆ น่าจะไม่เวิร์กเท่าไร



มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลใน ฮาร์ดดิสก์ที่ให้มามีขนาดความจุถึง 500 GB rpm 5400 จาก WDC ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 82.7 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 16.8 ms ถือว่าเป็นอัตราการเข้าถึงข้อมูลที่ไว้ลยทีเดียวสำหรับฮาร์ดดิสก์ตัวนี้



ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Intel Wireless WiFi Link 5300 AGN ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ระยะประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ดี คือ กราฟแสดงสัญญาณ 100% ไม่มีสัญญาณแกว่งให้เห็น

Speaker

เสียงที่ได้จากการต่อออกลำโพงอยู่ในระดับมาตรฐาน เมื่อต่อผ่านพอร์ต HDMI จะเปลี่ยนซาว์นการ์ดไปเป็น NVIDIA HDMI Audio แทน



สำหรับลำโพงภายในตัวเครื่องที่ให้มานั้นเป็นลำโพงแบบเสตริโอให้ระบบเสียงแบบ Virtual surround sound รองรับระบบ Dolby Digital ซึ่งสามารถเปิดฟังในห้องขนาดกลางได้สบายๆ ส่วนการ์ดเสียงยังคงเป็น Realtek HD Audio รุ่นยอดนิยมเช่นเดิม

หลังการทดลองเปิดฟังพบว่าเสียงที่ขับออกมาดังชัดเจน ลำโพงแยกซ้าย - ขวาทำงานได้อย่างลงตัวมีมิติ นอกจากนี้ ยังสามารถจำลองระบบเสียงให้เป็นแบบ 5.1 เพื่อทำให้เสียงมีมิติเซอราวด์มากขึ้นได้ด้วย

Battery and Heat



ในส่วนของแบตเตอรี่นั้นมีเป็นแบบ Li-ion ขนาด 6 เซลล์ 4400mAh ซึ่งระยะเวลาของแบตฯขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท โดยรุ่นนี้มีฟังก์ชัน "Empowering Technology" ให้ปรับแต่งตามการใช้งาน ยิ่งปรับให้เครื่องทำงานสูงเท่าไร พลังงานก็ยิ่งใช้มากขึ้นตามไปด้วย



เมื่อทดลองโดยการใช้งานแบบปกติ คือ เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์งานไปด้วย เปิดเพลงฟัง ใช้ความสว่างหน้าจอ 50% ความดังเสียง 50% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% พบว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 15 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที สำหรับการชาร์จ 1 - 95%



ส่วนการดูภาพยนตร์ซึ่งดูผ่านแผ่นบลู-เรย์โดยเปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด 100% ความดังเสียงสูงสุด 100% โดยใช้จนแบตเตอรี่เหลือประมาณ 5% ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที



มาดูกันในส่วนของความร้อนถ้าใช้งานปกติความร้อนของเครื่องจะอยู่ประมาณ 44 - 47 องศาเซลเซียส ซีพียูที่ประมาณ 28-29 องศาเซลเซียส ความร้อนการ์ดจออยู่ที่ประมาณ 46 องศาเซลเซียส และความร้อนของฮาร์ดดิสก์ที่ประมาณ 45 องศาเซลเซียส



เมื่อลองรันซีพียู 100% ให้เครื่องทำงานเต็มประสิทธิภาพเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง ปรากฏผลอุณหภูมิดังนี้ ความร้อนของเครื่อง 74 องศาเซลเซียส ความร้อนซีพียู 36 องศาเซลเซียส การ์ดจอ 62 องศาเซลเซียส และฮาร์ดดิสก์ 50 องศาเซลเซียส



สำหรับ Rate จากวินโดวส์ วิสต้าแสดงผลตามรูปครับ

สำหรับฟีเจอร์ที่มี และบทสรุปจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Feature of Acer Aspire 4935G

อย่างที่เกริ่นไปแล้วในตอนต้นว่าฟีเจอร์ที่มาพร้อมกับเครื่องรุ่นนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 อย่าง คือ "Empowering Technology" กับ "Acer Arcade Deluxe" ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปดูรายละเอียดของแต่ละฟีเจอร์พร้อมกันเลยดีกว่า



ตัวแรก "Empowering Technology" เป็นฟีเจอร์จัดการระบบต่างๆของเครื่องซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของทางเอเซอร์ สามารถเรียกใช้งานโดยการกดปุ่มที่มีสัญลักษณ์ "e" บนแผงควบคุมพิเศษด้านขวาของคีย์บอร์ด เมื่อกดจะแสดงเป็นป๊อปอัพแถบเมนูทางด้านบนสุดของจอ ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่



Acer eAudio Management เป็นฟังก์ชันจัดการระบบเสียง มีให้เลือกปรับอยู่ 3 หมวด คือ ภาพยนตร์(Movie) เพลง(Music) และเกม(Game)



Acer ePower Management เป็นฟังก์ชันจัดการเรื่องของพลังงานและแบตเตอรี่ มีให้เลือกใช้ตั้งแต่สูงสุด, ประหยัดพลังงาน จนถึงสามารถกำหนดปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานตามความต้องการได้เอง



Acer eDataSecurity Management เป็นฟังก์ชันการจัดการเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลต่างๆภายในเครื่อง



Acer eRecovery Management เป็นฟังก์ชันที่ช่วยในเรื่องการสำรองข้อมูล(Backup)โดยสามารถเลือกได้ว่าจะให้จัดเก็บลงไดรฟ์ไหน หรือแม้จะสำรองลงแผ่นซีดี ดีวีดี ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกค่าเดิมคืนกลับมา (Restore) ไว้ให้เรียกใช้ด้วย



Acer eSettings Management เป็นฟังก์ชันการปรับค่าต่างๆของเครื่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกจะแสดงรายละเอียดข้อมูลต่างๆของเครื่อง ส่วนที่สองเป็นการตั้งลำดับการบูทคล้ายกับการตั้งค่าใน Bios ส่วนสุดท้ายเป็นการตั้งรหัสผ่าน(Password) ให้กับ Bios เพื่อป้องกันบุคคลอื่นเข้ามาแก้ไข ซึ่งมี 2 แบบ คือ Supervisor เสมือนเป็น Admin และ User สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป



มาดูต่ออีกตัวกันเลย "Acer Arcade Deluxe" ตัวนี้เป็นฟีเจอร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการรวบรวมฟังก์ชันมัลติมีเดียเข้าไว้ด้วยกันในแบบฉบับของเอเซอร์ สามารถเรียกใช้งานโดยการสัมผัสที่สัญลักษณ์ "คล้ายรูปคนชูแขนสองข้าง" ที่บริเวณแผงควบคุมพิเศษเช่นเดียวกับ "Empowering Technology" ที่สำคัญ!!! สามารถเรียกใช้งานได้แม้จะไม่ได้เปิดเครื่องก็ตาม กล่าวคือ สามารถใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องบูทผ่านวินโดวส์

โดย "Acer Arcade Deluxe" สามารถแบ่งออกเป็น 5 หมวดหลักดังต่อไปนี้



หมวดแรกคือ "Cinema" ใช้สำหรับดูภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะดูจากแผ่น บลู-เรย์, ดีวีดี, วีซีดี และไฟล์วิดีโอนามสกุลต่างๆที่อยู่ในเครื่อง



หมวดถัดมาคือ "Music" ใช้สำหรับฟังเพลง สามารถเลือกแหล่งเก็บไฟล์เพลงได้เหมือนกับเครื่องเล่นเพลงทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดการเล่นได้ทั้งการเล่นแบบวน และเล่นแบบสุ่มเพลง



ถัดมาเป็นหมวด "Albums" ใช้สำหรับดูรูปภาพ สามารถกลับภาพ(Rotate) ขยายภาพ(Zoom in) และทำเป็นสไลด์ภาพโชว์ได้ด้วย



ต่อมาเป็นหมวด "Advanced" ใช้สำหรับการปรับค่าต่างๆ ได้แก่ การแสดงผล(Display), ระบบเสียงAudio, การแสดงรูปภาพ(Photo), DVD และBD



สุดท้ายคือหมวด "HomeMedia" ใช้สำหรับจัดการระบบมัลติมีเดียในรูปแบบเน็ตเวิร์กภายในบ้าน

บทสรุป

สำหรับโน้ตบุ๊กโฮมเอนเตอร์เทนเม้นท์ของเอเซอร์รุ่นนี้ จะเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการใช้งานแบบครอบคลุม ทั้งใช้ทำงานทั่วไป ทำกราฟิก หรือจะนำไปใช้ด้านความบันเทิงภายในบ้าน ซึ่งเจ้าตัวนี้มีบลู-เรย์ดิสก์มาให้ดูความคมชัดของภาพกันแบบเต็มตา(Hi-Def) สามารถต่อเข้ากับชุดโฮมเธียเตอร์ ทั้งต่อผ่านดิจิตอลพอร์ต หรือ HDMI ก็สามารถทำได้ ถ้าหากไม่ต่อออกลำโพงภายนอกก็สามารถใช้ลำโพงที่ให้มาพร้อมกับตัวเครื่องได้เช่นกัน ซึ่งเมื่อฟังเสียงที่ขับออกมาถือว่าไม่ขี้เหร่แถมยังดูมีมิติ คล้ายกับโรงหนังเคลื่อนที่ขนาดย่อมๆเลยทีเดียว

ส่วนใครที่คิดจะนำมาใช้เล่นเกมก็สามารถทำได้ ซึ่งเกมที่จะนำมาเล่นนั้นต้องอยู่ในระดับกลางๆ กล่าวคือ ต้องเป็นเกมที่ไม่มีความละเอียดสูงนัก ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจะใช้เล่นเกมสเปกโหดไม่ได้ เพียงแต่อยากจะให้ไตร่ตรองสักนิดก่อนจะตัดสินใจลงเกม จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง เพราะดูจากทรัพยากรด้านการประมวลผลที่ให้มาแล้ว น่าจะเหมาะกับความบันเทิงในการรับชมภาพยนตร์มากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีส่วนของคุณสมบัติด้านการรักษาความปลอดภัย อย่างระบบลายนิ้วมือมาให้ได้ใช้กันด้วย ด้านพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆก็ให้มาเลือกใช้ครบครันกันเลยทีเดียว รวมถึงแหล่งเก็บข้อมูลที่ใส่มาให้ใช้แบบเหลือเฟือที่ความจุ 500GB ดังนั้น Acer Aspire 4935G รุ่นนี้น่าจะอยู่ในใจคนที่กำลังต้องการความสามารถการใช้งานแบบรอบด้านได้ไม่ยาก โดยเฉพาะสาวก Acer ขนานแท้

ขอชม
- พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆให้มาอย่างครบครัน
- มีไดร์ฟบลู-เรย์ ช่วยให้ความบันเทิงสมบูรณ์แบบมากขึ้น
- สามารถเรียกใช้งานด้านความบันเทิงรูปแบบต่างๆโดยไม่ต้องบูทผ่านวินโดวส์

ขอติ
- ตัวเครื่องค่อนข้างร้อน รู้สึกได้เมื่อวางมือใต้แป้นคีย์บอร์ด
- ฝาเครื่องอาจจะเป็นคราบนิ้วมือได้ง่ายเนื่องจากมีความมันวาว

สำหรับราคาเปิดตัวของ Acer Aspire 4935G - 864G50Bn/X040 Entertainment Notebook PC อยู่ที่ 59,000 บาท

Company Relate Link :
Acer
กำลังโหลดความคิดเห็น