xs
xsm
sm
md
lg

Review : Sony Vaio P พ็อกเกต สไตล์ เน็ตบุ๊ก!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




"พ็อกเกต สไตล์ พีซี" คือคำจำกัดความของเครื่อง Vaio P รุ่นนี้ ที่ทางผู้บริหารให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันเปิดตัว โดยเน้นว่าเครื่องรุ่นนี้จะมีความเป็นโมบิลิตี้ ช่วยให้สะดวกในการพกพา ไม่ต่างจากเครื่องโทรศัพท์มือถือ

แต่เมื่อทางผู้เขียนได้ทดลองใช้ก็พบว่า ยังไงเครื่องแนวๆนี้ มันก็คือ "เน็ตบุ๊ก" อยู่ดี เพราะคำจำกัดความของเน็ตบุ๊กคือเครื่องที่มีขนาดเล็กสะดวกต่อการพกพา สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นมันก็ยังเป็น เน็ตบุ๊กอยู่วันยังค่ำ

Design Of Sony Vaio P



ในส่วนของดีไซน์แรกเห็นถ้ามองผ่านๆจากภายนอก จะมีใครคิดบ้างว่านี้คือ "เน็ตบุ๊ก" ด้วยเอกลักษณ์ในด้านการออกแบบของโซนี อาจจะทำให้คิดว่าเครื่องนี้คงเป็นแค่ Portable Player เครื่องหนึ่งเท่านั้น ขนาดของเจ้าตัว Vaio P อยู่ที่ 245 x 120 x 19.8 มิลลิเมตร ส่วนน้ำหนักอยู่ประมาณ 594 กรัม ตัวเครื่องจะทำจากพลาสติกและโลหะผสมทำให้เครื่องมีน้ำหนักเบาแต่ยังคงแข็งแรง โดยภายนอกจะมีสัญลักษณ์ "VAIO" สีเงินลักษณะนูนต่ำอยู่ตรงกลาง ตัดกับกรอบเครื่องสีดำ ด้านบนจะมีโลโก้ SONY สีเงิน



เมื่อเปิดหน้าขึ้นมาจะพบกับหน้าจอ LED ขนาด 8 นิ้ว ที่ให้ความละเอียดสูงสุดถึง 1600 x 768 ถือได้ว่าเป็นขนาดหน้าจอที่กว้างที่สุดสำหรับเน็ตบุ๊กที่วางขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ บริเวณขอบจอด้านขวาบน จะเป็นที่อยู่ของ กล้องเว็บแคมที่ทางโซนีเรียกว่า Motion Eye หากสังเกตจะพบว่าบริเวณขอบจอจะเป็นสีดำ ช่วยให้สามารถรู้ขนาดของหน้าจอได้เป็นอย่างดี บริเวณล่างของหน้าจอจะมีโลโก้ SONY สีเงินอยู่เหมือนเดิม



ถัดลงมาดูในส่วนของข้อต่อระหว่างหน้าจอกับตัวเครื่อง โดยจะมีการยึดด้วยข้อต่อที่ทำจากโลหะผสม บริเวณฝั่งซ้ายและขวาเท่านั้น ซึ่งตัวเครื่องที่นำมาทดสอบนั้น บริเวณข้อต่อจะไม่ค่อยฝืดเท่าไหร่ เมื่อเขย่าเครื่องหรือจับเครื่องไปในบางมุม หน้าจอจะพับลงมาได้ ในส่วนบนของคีย์บอร์ดจะเป็นที่อยู่ของลำโพงสเตอริโอแยกซ้าย-ขวา บริเวณข้อต่อฝั่งขวาจะมี ชื่อรุ่นของเครื่องติดอยู่ (เครื่องที่ได้มาทดสอบยังเป็น VGN-XXXX เนื่องจากเป็นตัวทดลองใช้) เขยิบเข้ามาตรงกลางอีกนิดจะมีไฟสถานะของ Num Lock, Caps Lock และScroll Lock



มาถึงในส่วนของคีย์บอร์ด ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของโซนี่อยู่ ขนาดของคีย์บอร์ดถือว่าไม่เล็กจนเกินไป เนื่องจากปุ่มคีย์บอร์ดมีลักษณะเป็นแบบ isolation ทำให้ใช้งานได้คล่องมากขึ้น ส่วนเลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ปุ่มเปลี่ยนภาษาที่ขึ้นไปอยู่ข้างขวาของปุ่ม Esc ปุ่มเลข 1 จะมีขนาดใหญ่กว่าปุ่มอื่น ปุ่ม Tab และปุ่มลูกศร จะมีขนาดประมาณ 3/4 ของปุ่มปกติ



บริเวณกลางคีย์บอร์ดแถวๆปุ่ม G,HและB จะเป็นที่อยู่ของแทร็กบอลซึ่งจะมีวงแหวนสีเงินล้อมรอบอยู่ โดยเจ้าตัวแทร็กบอลจะสามาถใช้แทนคลิกเมาส์ซ้าย เมื่อสัมผัสลงไปได้เหมือนเมาส์แพดปกติ ส่วนปุ่มคลิกเมาส์ ซ้ายและขวา รวมไปถึงปุ่ม Scroll เมาส์ จะลงมาอยู่บริเวณขอบล่างของเครื่อง ด้วยเหตุุที่ไม่มีเมาส์แพดนี้เอง จึงทำให้ขนาดของเจ้าตัว Vaio P เล็กกว่าปกติ นอกจากนี้บริเวณด้านขวาของปุ่มเมาส์ ยังมีปุ่มพิเศษที่ช่วยในการจัดเรียงหน้าต่าง และปุ่มเรียกโปรแกรม Vaio Meida Plus ซึ่งทางทีมงานจะเขียนถึงจุดเหล่านี้ในส่วนหลังของการรีวิว

การใช้งานคีย์บอร์ดนั้น แม้ว่าเครื่องที่ให้มาทดสอบจะไม่มีการสกรีนภาษาไทยมาให้ แต่เมื่อทดลองใช้ดู สามารถใช้พิมพ์ภาษาไทยได้ตามปกติทุกตัวอักษร ไม่มีขาดตกแต่อย่างไร การรับสัมผัสของคีย์บอร์ดยังคงมาตรฐานของโซนีคือ เมื่อกดลงไปปุ่มจะนิ่มๆ ทำให้รับสัมผัสในการพิมพ์ได้เร็วมาก ไม่จำเป็นต้องออกแรงในการพิมพ์มากนัก ส่วนแทร็กบอลนั้น ความแม่นยำยังคงสู้เมาส์แพดไม่ได้ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากความไม่ชินของผู้ใช้ก็เป็นได้ แต่ถ้าแลกกับความเล็กของตัวเครื่องถือว่าให้อภัยกันได้



ด้านหลังของตัวเครื่อง จะมีเพียงช่องใส่แบตเตอรี่เท่านั้นที่กินพื้นที่มาเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนอื่นๆจะเป็นพื้นผิวพลาสติกสีดำเรียบๆ ตรงกลางก็ยังคงมีโลโก้ SONY ติดอยู่

Input and Output Ports



เริ่มจากทางฝั่งซ้าย ไล่จากริมใน จะมีช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ตยูเอสบี 1 พอร์ต ช่องเสียบหูฟัง และรูระบายอากาศ



ฝั่งขวา จากริมในเช่นกันจะมี พอร์ตพิเศษสำหรับต่ออุปกรณ์เสริมเช่น ช่องเสียบสายแลนและพอร์ต D-sub ถัดมาทางซ้ายอีกนิดจะเจอพอร์ตยูเอสบีอีก 1 พอร์ต และริมซ้ายสุดจะเป็นช่องล็อกโน้ตบุ๊ก



ทางด้านหน้าจะมี ปุ่มเปิด-ปิด ไวเลสอยู่ทางด้านซ้าย บริเวณข้างล่างของปุ่มจะมีการ์ดรีดเดอร์ที่สามารถอ่าน SD การ์ด และ HG Duo การ์ดเฉพาะของทางโซนีนั่นเอง ส่วนปุ่มเปิดเครื่องจะอยู่ทางด้านขวา ถัดมาจะมีไฟบอกสถานะแบตเตอรี่ และการทำงานของฮาร์ดดิสก์



ส่วนทางด้านหลังจะมีเพียงช่องใส่แบตเตอรี่เท่านั้น

ส่วนการเชื่อมต่อจะมีทั้งไวเลสจาก Atheros AR928X ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g/n และบลูทูธ 2.0 ที่รองรับ A2DP

สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไป











บริเวณปลายสายชาร์จจะมีไฟสีเขีวสะท้อนแสง
หูฟังอินเอียร์ที่แถมมาให้ในกล่อง
อุปกรณ์เสริม ต่อกับพอร์ตพิเศษของโซนี เพื่อใช้งานแลน และ VGA-Out
Performance And Benchmark

ด้วยความที่เครื่องรุ่นนี้มาพร้อมระบบปฏิบัติการวินโดวส์ วิสต้า ทำให้สเปกของแรมที่ใส่มาในเครื่องสูงกว่ารุ่นอื่นๆเล็กน้อย ไม่งั้นทางโซนีคงจะโดนโวยไม่ใช่น้อย เพราะเครื่องรุ่นนี้ไม่สามารถใส่แรมเพิ่มได้



มาดูประสิทธิภาพกันทีละส่วน เริ่มจากซีพียูที่ใช้ Intel Atom Z530 @ 1.6GHz ความเร็วคอร์สปีดสูงสุดอยุ่ที่ 1600.3MHz, FSB อยู่ที่ 533.4MHz, L1 Data 24KB, L1 Inst 32KB และ L2 Cache ที่ 512KB



ในส่วนของเมนบอร์ดจะเป็นแบบที่ทางโซนีคิดค้นขึ้นเอง โดยจะใช้ชิปเซ็ต US15W (SCH LPC Brige) มาพร้อมกับแรมออนบอร์ดแบบ DDR2 2GB



ทดสอบผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนรวมออกมาอยู่ที่ 932 ถือว่าช้ากว่าเน็ตบุ๊กรุ่นอื่นๆ ที่จะได้ประมาณ 1,100 คะแนน ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดจากระบบปฏิบัติการที่เป็นวินโดวส์ วิสต้า รวมไปถึงคะแนนในส่วนของซีพียู ที่ทำอย่างไรก็รันคอร์สปีดไม่เกิน 1333MHz



มาต่อกันในด้านหน่วยประมวลผลภาพ โดยเครื่องรุ่นนี้จะใช้การ์ดจอออนบอร์ด GMA 500 ที่แชร์หน่วยความจำจากแรมมาใช้งานในการประมวลผล ทดสอบผ่านโปรแกรม 3DMark06 ผลออกมาอยู่ที่ 87 คะแนน ถือว่าอยู่ในระดับปกติของเน็ตบุ๊กทั่วๆไป

การใช้งานเครื่องที่มีขนาดหน้าจอ 1600 x 768 ตัวอักษรอาจจะเล็กเกินไปสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาทางสายตาเนื่องจากขนาดตัวอักษรและไอคอนต่างๆจะมีขนาดเล็กมาก นอกจากนี้ทางทีมงานได้ทำการทดสอบโดยการชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงระดับ 720P ผลปรากฏว่าไม่สามารถทำงานได้ ภาพและเสียงออกมาไม่ตรงกัน ดังนั้นถ้าจะนำเครื่องรุ่นนี้มาใช้ในการดูหนังความละเอียดสูงคงจะเป็นไปไม่ได้



ในส่วนของฮาร์ดดิสก์ เครื่องที่ได้ทดสอบจะเป็นแบบ SSD ขนาด 64GB ของทางซัมซุง ซึ่งด้วยความที่เป็น SSD ทำให้อัตราการเข้าถึงข้อมูลรวดเร็วถึง 0.3ms ส่วนอัตราการอ่านข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 60.5 MB/sec แต่เครื่องที่วางจำหน่าย จะมีทั้งแบบที่เป็นฮาร์ดดิสก์ขนาด 160GB และ SSD ตัวนี้ให้เลือกใช้งาน



ภาครับสัญญาณไวเลสของ Vaio P รุ่นนี้จะใช้ไวเลสจาก Atheros AR928X การรับสัญญาณที่แสดงจากกราฟแสดงผลด้วยโปรแกรม WirlessMon จะอยู่ในช่วง 65% - 85% ทดลองเคลื่อนที่ไปมาขณะใช้งานก็ไม่มีอาการเน็ตหลุดให้เห็น

Speaker

ถึงจะเห็นว่าเครื่องรุ่นนี้มีขนาดเล็กเพียงใด แต่อย่าดูถูกในเรื่องของพลังเสียงจากเครื่องในตระกูลโซนี เพราะพลังขับเสียงของเครื่องรุ่นนี้ดังไม่แพ้โน้ตบุ๊กขนาดปกติเลยทีเดียว ด้วยความที่เป็นลำโพงสเตอริโอ เสียงที่ออกมามีการแยกซ้าย-ขวาชัดเจน ส่วนซาวน์การ์ดยังคงเป็น Realtek HD Audio เช่นเดิม เสียงที่ได้จากการต่อหูฟัง รวมไปถึงลำโพงอยู่ในระดับมาตรฐาน

Battery and Heat



แบตเตอรี่ของ Vaio P จะเป็น Li-ion ขนาด 2100mAh ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าปกติ ทดสอบใช้งานทั่วๆไป เล่นอินเทอร์เน็ต ฟังเพลง ปรับความสว่างหน้าจออยู่ที่ 50% ความดังเสียงที่ 50% สามารถใช้งานได้ประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

เมื่อทดสอบใช้งานในการรับชมภาพยนตร์ เปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด เสียงดังสุด จะใช้งานได้เพียง 1 ชั่วโมง 45 นาที เท่านั้นเอง ส่วนเวลาในการชาร์จแบตฯ จนถึงประมาณ 90% ใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะชาร์จให้เต็ม 100% จะใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว



เรื่องของความร้อนขณะใช้งานทั่วไป ความร้อนของซีพียูจะอยู่ประมาณ 60 องศาเซลเซียส ซึ่งบางขณะที่ใช้งานหนักๆจะขึ้นไปสูงสุดประมาณ 74 องศาเซลเซียส เมื่อรองรันโปรแกรมให้ซีพียูทำงาน 100% เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ความร้อนขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 71 องศาเซลเซียส ส่วนความร้อนสูงสุดขึ้นไปอยู่ที่ 76 องศาเซลเซียส ถือว่าระบบระบายความร้อนของเครื่องทำงานได้เป็นอย่างดี



ส่วน Rate และ Basic Information จากวินโดวส์ วิสต้า แสดงผลตามรูปด้านบนนี้

สำหรับฟีเจอร์ที่มี และ บทสรุปจะอยู่ในหน้าถัดไปนะครับ
Feature of Sony Vaio P



ในส่วนของฟีเจอร์จะเริ่มจากโปรแกรมที่มีปุ่มลัดในการใช้งานก่อนคือ ปุ่มลัดที่ใช้ในการจัดเรียงหน้าต่างซึ่งเปิดกระจัดกระจายอยู่ ให้เป็นเหมือนในรูปภาพด้านบน ส่วนอีกปุ่มหนึ่งด้านข้างคือปุ่มในการเรียกใช้โปรแกรม Media Plus

Vaio Media Plus



โปรแกรม Vaio Media Plus จะเป็นโปรแกรมที่คล้ายๆกับ Media Center ของวินโดวส์ วิสต้า ใช้ในการจัดการด้านมัลติมีเดียต่างๆ เช่นดูรูปภาพ ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ และดูทีวีออนไลน์

Vaio Control Center



โปรแกรมนี้จะเป็นโปรแกรมที่ช่วยในการจัดการระบบต่างๆของเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านพลังงาน คีย์บอร์ด การเชื่อมต่อเน็ตเวิร์ก ปรับแต่งค่าต่างๆของหน้าจอ ตั้งค่าระบบเสียง การรักษาความปลอดภัย ตั้งค่าปุ่มลัดพิเศษ

Webcam



ในส่วนของเว็บแคม จะใช้โปรแกรมของ ArcSoft Webcam Companion ที่สามารถใช้เป็นกล้องถ่ายภาพ บันทึกวิดีโอ กล้องวงจรปิด และใช้ในการตกแต่งรูป ซึ่งจุดเด่นที่จะนำเสนอคือ ฟีเจอร์ ArcSoft Magic-i ที่สามารถใส่เอฟเฟกต์ต่างๆในรูปภาพ โดยจะมีการปรับแต่งดังนี้

เริ่มจากการตั้งค่าความสว่าง คอนทราสต์ และอื่นๆ ระบบตามจับใบหน้า ตั้งค่าขยายรูปภาพแบบดิจิตอล และฟิลเตอร์ ในการแสดงผลต่างๆ ใส่กรอบให้รูปภาพ ใส่ธีม อวาตาร์ และ Noise Reduction

บทสรุป

Vaio P เครื่องนี้ถ้าดูที่ดีไซน์ยอมรับว่าสร้างความแตกต่างจากเน็ตบุ๊กแบบเดิมๆ ทำให้พกพาได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการใช้งานยังไม่แตกต่างจากเน็ตบุ๊กทั่วๆไป ดังนั้นถ้าท่านต้องการดีไซน์ตามสไตล์ของโซนี่ Vaio P รุ่นนี้ ตอบโจทย์ของท่านได้แน่นอน

ฟีเจอร์ที่เด่นๆของเครื่องรุ่นนี้คือ สามารถใช้งานมัลติมีเดียได้โดยไม่ต้องเข้าวินโดวส์ ซึ่งโปรแกรมที่ติดมาอยู่กับเครื่องถ้าใครนึกภาพไม่ออก จะบอกว่าคล้ายๆกับใน PSP หรือไม่ก็ Windows Media Center นั่นเอง

ในด้านการใช้งานโดยรวมถือว่าผ่าน ถ้าไม่ต้องใช้งานนานๆ กล่าวคือด้วยหน้าจอขนาดเล็กรวมกับความละเอียดหน้าจอ 1600 x 768 ตัวอักษรที่ปรากฏบนจอต้องใช้สายตาอย่างมากในการใช้งาน ในส่วนคีย์บอร์ดถือว่าใช้งานได้สะดวกดีเพราะรับสัมผัสได้เร็วตามสไตล์ของโซนี่

สำหรับราคาเปิดตัวของ Sony Vaio P VGN-P15G อยู่ที่ 39,900 บาท

ขอชม
- เครื่องมีขนาดเล็ก กะทัดรัด พกพาสะดวก
- ความละเอียดหน้าจอสูง (1600 x 768)
- ฟีเจอร์พิเศษ ทำให้สามารถใช้งานได้ โดยไม่ต้องเปิดวินโดวส์

ขอติ
- หน้าจอมีขนาดเล็กเกินไป ไม่เหมาะกับการใช้งานเป็นเวลานาน
- การบังคับเมาส์ผ่านแทร็กบอล ยังไม่ให้ความสะดวกเท่าที่ควร
- เนื่องจากเครื่องมีขนาดเล็ก ทำให้จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยเพิ่มพอร์ตอย่างแลน และ VGA Out

Company Relate Link :
Sony
กำลังโหลดความคิดเห็น