อีแมชชีนถือเป็นซับแบรนด์ของเอเซอร์ ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อจำกัด ทำให้ประสิทธิภาพของสินค้าถูกลดหลั่นลงมาให้เหมาะสมกับราคาที่ได้วางไว้ แต่อย่างไรก็ตามทางเอเซอร์ พยายามที่จะทำให้โน้ตบุ๊กในรุ่น eMachines มีจุดเด่นในเรื่องหน้าจอแบบ 16:9 ในทุกๆรุ่น ส่วนด้านอื่นๆ ก็มีมาให้พอกับความต้องการใช้งานทั่วๆไป
Design Of eMachines eMD525
ตัวเครื่องถูกดีไซน์ออกมาอย่างเรียบง่ายตามสไตล์อเมริกันของแบรนด์อีแมชชีน ใช้สีดำแสดงถึงความแข็งแรง วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติกคุณภาพสูงทำให้ตัวเครื่องมีน้ำหนักไม่มากนัก ขนาดของตัวเครื่องอยู่ที่ 340 x 247 x 22.9/42.3 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 2.4 กิโลกรัม
บริเวณด้านหน้าของตัวเครื่องจะมีพื้นผิวลายนูนต่ำเล็กน้อย มีตราสัญลักษณ์"emachines" อยู่แถวๆมุมซ้ายบน เมื่อเปิดหน้าจอขึ้นมาจะพบกับหน้าจอขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768 พิกเซล ในสัดส่วน 16:9 ด้านบนของจอจะมีกล้องเว็บแคม ส่วนด้านล่างมีสัญลักษณ์ "emachines" ติดอยู่ตามปกติ หน้าจอของเครื่องรุ่นนี้สามารถเปิดได้ถึง 180 องศา ส่วนของข้อต่อจะยึดอยู่บริเวณมุมซ้ายและขวา ความแข็งแรงอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถกลับหน้าจอวางไว้ได้
ในส่วนของพาเนลควบคุมบริเวณด้านบนคีย์บอร์ดจะประกอบไปด้วย ปุ่มเปิดเครื่องอยู่ตรงกลางซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะมีไฟสีน้ำเงินติดขึ้นมา ด้านซ้ายเป็นปุ่มล็อกทัชแพด และปุ่มขวาสำหรับเปิด-ปิดไวเลส นอกจากนี้ยังมีไฟแสดงสถานะการทำงานของซีพียู ฮาร์ดดิสก์อยู่ทางด้านขวาของปุ่มควบคุม
จุดเด่นหลักของเครื่องรุ่นนี้ที่เห็นได้ชัดๆเลยคือขนาดปุ่มของคีย์บอร์ด ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ แป้นคีย์บอร์ดวางตำแหน่งตามมาตรฐานทั่วไป แยกปุ่ม Home End Page Up Page Down ไว้ด้านข้างช่วยให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องกดปุ่ม Fn ควบคู่ไปด้วย สำหรับทัชแพดจะมีกรอบบอกพื้นที่อย่างชัดเจน ปุ่มคลิกเมาส์ซ้าย-ขวา แยกออกเป็น 2 ปุ่ม ทำจากพลาสติกเช่นเดียวกับตัวเครื่อง
ส่วนบริเวณด้านหลังเครื่องถ้าสังเกตจะเห็นว่าบริเวณมุมทั้ง 4 จะมีปุ่มยางช่วยยกเครื่องให้สูงขึ้น ทำให้อากาศถ่ายเทใต้เครื่องง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีปุ่มสำหรับถอดออปติคัลไดร์ฟออกมาได้ด้วย
Input and Output Ports
พอร์ตการใช้งานหลักๆทั้งหมดของเครื่องรุ่นนี้จะอยู่ทางด้านซ้ายเป็นหลัก ไล่จากด้านในจะประกอบไปด้วย ช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ต VGA-Out ช่องเสียบสายแลน พอร์ตยูเอสบี 2 พอร์ต ช่องเสียบไมโครโฟน และหูฟัง
ส่วนทางด้านขวาจะมีออปติคัลไดร์ฟ DVD และช่องสำหรับล็อกโน้ตบุ๊กเท่านั้น
ด้านหน้าจะมีไฟแสดงสถานะการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย สถานะแบตเตอรี่ และการ์ดรีดเดอร์แบบ 5-1 อยู่ทางมุมซ้าย ด้านหลังจะมีรูระบายอากาศขนาดใหญ่อยู่
สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายจะมีเพียงแค่ไวเลส ที่รองรับมาตรฐาน 802.11b/g เท่านั้น ไม่รองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไป
Performance And Benchmark
ในส่วนของประสิทธิภาพเครื่องอย่างที่ทราบกันว่าโน้ตบุ๊กรุ่นนี้เป็นรุ่นราคาประหยัดทำให้คุณสมบัติต่างๆ ไม่ได้ถึงกับขนาดดีมาก แต่อยู่ในระดับเพียงพอต่อการใช้งานทั่วๆไป ดังนั้นอย่าคาดหวังกับประสิทธิภาพของเครื่องรุ่นนี้มากเกินไปนัก
โดยซีพียูของ emachine emd525 ที่ใช้จะเป็น Intel Dual Core T1700 @1.83GHz ซึ่งยังคงเป็นซีพียูแบบ 65 นาโนเมตรรุ่นเก่าอยู่ คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1828.9MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 665MHz, L1 D-Cache 32KB x 2, L1 I-Cache 32KB x 2 และ L2 Cache ขนาด 1MB
สำหรับเมนบอร์ดจะเป็นรุ่นที่โรงงานของอีแมชชีนผลิตออกมาเองในชื่อรุ่น HM40 โดยใช้ชิปเซ็ต Intel GL40/82801M(ICH9-M) ถัดมาส่วนของหน่วยความจำที่ให้มาจะเป็น DDR2 ขนาด 1GB
ทดสอบการใช้งานโดยใช้โปรแกรม PCMark05 ผลที่ได้คือ 3371 คะแนน ซึ่งถือว่าคะแนนไม่ขี้เหร่เลย สำหรับโน้ตบุ๊กในระดับราคาเท่านี้ ถ้าจะเทียบง่ายๆ คะแนนของเครื่องรุ่นนี้พอๆกับ Aspire Timeline ที่เคยนำเสนอก่อนหน้านี้เลยทีเดียว
ส่วนของกราฟิกการ์ดแบบออนบอร์ดจะเป็น Intel GMA 4500MHD ที่ใช้หน่วยความจำแบบ DDR2 ขนาด 64MB แน่นอนว่าเวลาที่ใช้งานหน่วยประมวลผลภาพจริงๆ ก็จะไปดึงหน่วยความจำหลักมาช่วยประมวลผล ทำให้สามารถใช้งานทั่วๆไปได้อย่างสบาย
เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม 3DMark ได้ผลออกมาอยู่ที่ 584 คะแนน ด้วยความที่หน้าจอเครื่องรุ่นนี้มีสัดส่วน 16 : 9 ซึ่งใช้สำหรับดูภาพยนตร์ความละเอียดสูงทีมงานจึงนำมาทดลองใช้ชมภาพยนตร์ความละเอียด 1080p ซึ่งการแสดงผลมีอาการหน่วงเล็กๆน้อย แต่สามารถรับชมไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียด 720p ได้อย่างไม่เสียอารมณ์แน่นอน
มาดูกันที่อัตราการเข้าถึงข้อมูลใน ฮาร์ดดิสก์ขนาด 250GB ของ WDC ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 67.6 MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 17.3ms
ภาครับสัญญาณไวเลสผ่าน Atheros AR5007EG ที่รองรับมาตรฐาน 802.11 b/g ถือว่าจับสัญญาณได้คงที่ มีการอัตราการดรอปของสัญญาณให้เห็นแต่อย่างใด
Speaker
ในส่วนของลำโพงเครื่องรุ่นนี้มาพร้อมกับลำโพงสเตอริโอ ที่อยู่บริเวณด้านบนคีย์บอร์ดมุมซ้าย-ขวา เสียงที่ได้ออกจากเครื่องอยู่ในระดับปกติ แยกซ้าย-ขวาชัดเจนดี ส่วนซอฟต์แวร์ทางด้านเสียงที่ใช้แน่นอนว่าเป็น Realtek HD อยู่เช่นเดิม
Battery
เครื่องรุ่นนี้ใช้แบตเตอรี่ Li-ion ขนาด 4400 mAh นำมาทดลองใช้งานแบบทั่วๆไป เล่นอินเทอร์เน็ต ฟังเพลง เปิดความสว่างหน้าจอที่ 50% ความดังเสียงที่ 50% ใช้จนแบตเตอรี่เหลือ 8% ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง
ส่วนถ้าใช้งานหนักๆอย่างรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง เปิดเสียงดังสุดความสว่างหน้าจอสูงสุด จะใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 24 นาที สำหรับเวลาในการชาร์จแบตฯ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
บทสรุป
อย่างที่เห็นว่า "อีแมชชีน" จะเป็นโน้ตุบุ๊กราคาถูกเหมาะสำหรับนำมาใช้งานทั่วๆไป ดังนั้นแม้ประสิทธิภาพจะไม่สูงมากนัก แต่ถือว่าประสิทธิภาพยังดีกว่าเน็ตบุ๊กอยู่ในระดับนึง ด้วยราคาที่ไม่ต่างจากเน็ตบุ๊กมากนัก แต่ได้มาซึ่งหน้าจอขนาดใหญ่ พร้อมออปติคัลไดร์ฟ ดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อโน้ตบุ๊กราคาถูก และไม่จำเป็นต้องใช้ความคล่องตัวในการทำงานมากนัก เครื่องรุ่นนี้อยู่ในความน่าสนใจเลยทีเดียว
ขอชม
- มีราคาต่ำกว่าหลายๆเครื่องในปัจจุบัน
- หน้าจอสัดส่วน 16 : 9 ทำให้สามารถรับชมภาพยนต์ไวด์สกรีนได้
- คีย์บอร์ดขนาดใหญ่
ขอติ
- ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่
- พอร์ตยูเอสบี 2 พอร์ต
- ไม่รองรับการใช้งานบลูทูธ
Company Relate Link :
Acer