ปัจจุบันสถานการณ์การค้ามีการพลิกผัน ทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การขยายตัวของสงคราม ล้วนมีผลกระทบต่อทุกประเทศมากน้อยแตกต่างกัน และในส่วนของไทยก็มีปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินหน้าภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจและความผันผวนทางการค้าระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
โดยการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา นางอารดาได้ขับเคลื่อนภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ทั้งการขับเคลื่อนการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย การสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และการปกป้องผู้ประกอบการไทย
มั่นใจส่งออกข้าวปีนี้ 7.5 ล้านตัน
สำหรับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ อย่างสินค้าข้าว ได้มีการผลักดันการส่งออกอย่างเต็มที่ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง โดยมียอดการส่งออกในช่วง 5 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) ทำได้ปริมาณ 3.05 ล้านตัน ลดลง 25.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 4.10 ล้านตัน และมีมูลค่า 63,098 ล้านบาท (ประมาณ 1,878 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลง 34.03% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 95,645 ล้านบาท (ประมาณ 2,688 ล้านเหรียญสหรัฐ)
นางอารดากล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกข้าวไทยลดลง มาจากปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก โดยปี 2568 คาดว่าผลผลิตข้าวโลกจะมีประมาณ 541 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 17 ล้านตัน อินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติและมีปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศปริมาณกว่า 150 ล้านตัน ทำให้แซงจีนขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของโลก และอินเดียมีสต็อกข้าวปริมาณกว่า 60 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 18% จึงมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกอื่น และประเทศผู้นำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มีความต้องการนำเข้าข้าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกข้าวจะลดลง แต่พบว่า ตลาดส่งออกสินค้าข้าวที่สำคัญ ได้แก่ อิรัก เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยไทยส่งออกข้าวไปอิรักมากเป็นอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 0.41 ล้านตัน คิดเป็น 13.44% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้น 13.89% รองลงมา คือ สหรัฐฯ 0.37 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.82% แอฟริกาใต้ 0.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21.74% จีน 0.25 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 78.57% และฟิลิปปินส์ 0.13 ล้านตัน ลดลง 55.17%
“ช่วง 5 เดือนของปี 2568 แม้ไทยจะส่งออกข้าวลดลงประมาณ 25.61% แต่ยังสามารถส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง อเมริกา และยุโรปได้เพิ่มขึ้น โดยไทยส่งออกข้าวไปภูมิภาคแอฟริกามากที่สุดที่ปริมาณ 0.97 ล้านตัน คิดเป็น 31.80% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ลดลง 11.01% รองลงมา ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย 0.79 ล้านตัน ลดลง 56.83% ภูมิภาคตะวันออกกลาง 0.56 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12.00% ภูมิภาคอเมริกา 0.48 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.67% ภูมิภาคยุโรป 0.16 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 33.33% และภูมิภาคโอเชียเนีย 0.09 ล้านตัน ลดลง 18.88%”
นางอารดากล่าวว่า แม้ช่วง 5 เดือน การส่งออกข้าวจะทำได้เพียง 3.05 ล้านตัน แต่ยังมั่นใจว่าการส่งออกข้าวทั้งปี จะทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน เพราะมีแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทยในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดคณะผู้แทนการค้าข้าวไทยไปขายข้าวยังประเทศต่าง ๆ หรือการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในตลาดเป้าหมาย สามารถทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวไทยเพิ่มขึ้นได้จริง เหมือนอย่างตลาดแอฟริกาใต้ ที่กรมเคยจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนและไปเจรจาขายข้าว ยอดการส่งออกก็เพิ่มขึ้นจริง
สำหรับแผนงานส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2568 (ก.ค.-ธ.ค.) ที่จะดำเนินการ อาทิ การจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปเจรจาขยายตลาดและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ วันที่ 3–6 ส.ค.2568 และประเทศญี่ปุ่น วันที่ 7–10 ก.ย.2568 ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ ได้แก่ งาน Summer Fancy Food Show 2025 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ วันที่ 29 มิ.ย.–1 ก.ค.2568 งาน Fine Food Australia 2025 ณ นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย วันที่ 8–11 ก.ย.2568) งาน China-ASEAN EXPO (CAEXPO) 2025 ครั้งที่ 22 ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน วันที่ 17–21 ก.ย.2568 และงาน ANUGA 2025 ณ เมืองโคโลญจน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี วันที่ 4–8 ต.ค.2568) การจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) สัญจร 2025 และการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจัดกิจกรรมรณรงค์การบริโภคข้าวอินทรีย์ไทย “Healthy life by Thai Organic Rice” ร่วมกับร้านอาหาร หรือ Key Influencers ที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ และเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
ตั้งเป้าส่งออกมันสำปะหลัง 7.5 ล้านตัน
นางอารดากล่าวว่า การส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญอีกตัวหนึ่งที่กรมรับผิดชอบ ในช่วง 5 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) ส่งออกได้ปริมาณ 4.06 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 37.16% จากปีก่อนที่มีปริมาณส่งออกที่ 2.96 ล้านตัน และมีมูลค่าประมาณ 45,358.32 ล้านบาท (1,351.09 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลง 7.11% จากปีก่อน ที่มีมูลค่าประมาณ 51,848.40 ล้านบาท (1,454.57 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งพูดได้ว่ามันสำปะหลังเป็นอาวุธลับของสินค้าเกษตรไทยเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นตัวสำคัญที่ช่วยผลักดันยอดส่งออกสินค้าเกษตรของไทยตัวหนึ่ง ส่วนมูลค่าที่ลดลง แม้ว่าจะส่งออกได้มาก เพราะปีนี้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ราคามันสำปะหลังตลาดโลกลดลงมาแล้วกว่า 30% หากไม่ได้ปริมาณมาช่วย มูลค่าก็อาจจะทำได้น้อยกว่านี้
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญของมันสำปะหลังไทย ยังคงเป็นจีน มีสัดส่วน 51.38% ของมูลค่าการส่งออกรวม รองลงมา คือ ญี่ปุ่น สัดส่วน 9.41% อินโดนีเซีย สัดส่วน 7.41% มาเลเซีย สัดส่วน 4.12% สหรัฐฯ สัดส่วน 4.00% และอื่น ๆ สัดส่วน 23.68% ซึ่งมีตลาดสำคัญที่เป็นลูกค้าใหม่ของมันสำปะหลัง คือ ซาอุดิอาระเบีย ที่ไทยสามารถผลักดันให้มีการนำเข้ามันสำปะหลังไปทำอาหารสัตว์ได้สำเร็จ
ส่วนแผนงานส่งเสริมการตลาดเพื่อขยายตลาดมันสำปะหลัง ในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2568 (ก.ค.-ธ.ค.) เพื่อให้การส่งออกทั้งปีเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ได้แก่ การจัดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก ปี 2568 (World Tapioca Conference 2025) ณ กรุงเทพมหานคร วันที่ 29-31 ก.ค.2568 การจัดคณะผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน เดินทางไปเจรจาขยายตลาดและผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง ณ ตลาดต่างประเทศที่มีศักยภาพ เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ช่วงเดือน ส.ค.2568 และมีแผนจัดซื้อข้อมูลมันสำปะหลังและสินค้าที่เกี่ยวข้องจากผู้ให้บริการข้อมูลของจีนประจำปี 2568 ผ่านการเป็นสมาชิกผู้ให้บริการออนไลน์ทางเว็บไซต์ ทำให้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสินค้ามันสำปะหลังและสินค้าที่เกี่ยวข้อง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแอลกอฮอล์ ตลอดจนรับทราบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทยรวมทั้งประเทศคู่แข่งสำคัญ
เดินหน้าปกป้องผู้ประกอบการไทย
นางอารดากล่าวว่า ทางด้านภารกิจในการปกป้องและสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่ผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากการทุ่มตลาด การอุดหนุน และการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ได้มีการนำมาตรการเยียวยาทางการค้ามาใช้อย่างเข้มข้น โดยมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) มีการบังคับใช้มาตรการ AD กับ 22 ประเทศ 22 กรณี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเหล็ก และไทยถูกใช้มาตรการ AD จาก 18 ประเทศ 73 กรณี อาทิ สินค้าเหล็ก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง
มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duties : CVD) ยังไม่มีการใช้มาตรการ CVD กับสินค้าจากประเทศใด แต่ถูกใช้มาตรการ CVD จาก 3 ประเทศ 7 กรณี ได้แก่ อินเดีย 4 กรณี (ลวดทองแดง, ไม้อัด, ท่อทองแดง, กรดไขมันอิ่มตัว) สหรัฐฯ (เหล็กแผ่นรีดร้อน, เซลล์แสงอาทิตย์) และเวียดนาม (น้ำตาล)
มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measures : SG) ไม่มีการใช้มาตรการ SG กับสินค้าใด แต่ถูกใช้มาตรการ SG จาก 9 ประเทศ 19 กรณี อาทิ สินค้าเหล็ก เคมีภัณฑ์ และอื่น ๆ
มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention : AC) มีการบังคับใช้มาตรการ 1 กรณี คือ สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากผู้ผลิตจีน 17 ราย และไทยถูกใช้มาตรการ AC จาก 3 ประเทศ 6 กรณี
นอกจากนี้ ยังได้ทำหน้าที่จัดทำข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้ง และให้คำปรึกษากับผู้ส่งออกไทยในการตอบแบบสอบถาม และเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ต่างกรณีที่ไทยถูกใช้มาตรการ AD , CVD , SG และ AC จากประเทศคู่ค้า โดยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลส่งให้หน่วยงานต่างประเทศประกอบการไต่สวน
สำหรับแผนการดำเนินงานการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้า ในช่วง 6 เดือนหลัง ปี 2568 (ก.ค.-ธ.ค.) มีงานไต่สวน อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอ AD 2 กรณี AC 3 กรณี และ Safeguard 1 กรณี การให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเพื่อยื่นคำขอใช้มาตรการ AD 9 กรณี SG 3 กรณี และ AC 2 กรณี และมีแผนการจัดอบรม สัมมนา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ
ขณะเดียวกัน มีแผนดำเนินโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs PLUS) กับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางภาครัฐ เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงการให้บริการระบบตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าแบบไร้กระดาษ (ROVERs PLUS) ของกรมกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และตรวจสอบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย (Circumvention) โดยการสุ่มตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าของผู้ส่งออกที่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ภายใต้กรอบความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Wide Self-Certification : AWSC) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองในการส่งออกไปสมาพันธรัฐสวิสและราชอาณาจักรนอร์เวย์ (REX) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของไทย โดยมีกำหนดตรวจสอบในเดือน ส.ค.-ก.ย.2568
ป้องกันสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐฯ
นางอารดากล่าวว่า กรมยังได้จัดทำแนวทางเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไปของไทย สำหรับรายการสินค้าเฝ้าระวังในการส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สหรัฐฯ ว่าสินค้าที่ส่งออกมีถิ่นกำเนิดไทยจริง โดยที่ผ่านมา ได้จัดประชุมร่วมกับ 2 หน่วยงานที่มีอำนาจในการออก Form C/O ได้แก่ หอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยให้กรมเป็นหน่วยงานเดียวในการออก Form C/O สำหรับการส่งออกสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ยังได้ปรับปรุงรายการสินค้าเฝ้าระวัง โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวนและปรับปรุงบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวังจำนวน 49 รายการ จะเพิ่มรายการสินค้าเฝ้าระวังอีก 16 รายการ รวมแล้ว 65 รายการ ซึ่งหากดำเนินการปรับปรุงรายการสินค้าเฝ้าระวังแล้วเสร็จ จะออกประกาศอย่างเป็นทางการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าภายในเดือน ก.ค.2568 นี้
ขณะเดียวกัน จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ โดยกรมอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าให้มีความเข้มงวดก่อนการออก Form C/O โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการตรวจสอบสถานประกอบการอย่างละเอียดถี่ถ้วน และการพิจารณาเอกสารการส่งออกอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะสินค้าเฝ้าระวังที่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวจะเป็นความร่วมมือระหว่างกรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดยจะเริ่มตรวจสอบสถานประกอบการในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2568
นอกจากนี้ จะประสานความร่วมมือกับกรมศุลกากรไทย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทย โดยกรมอยู่ระหว่างประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมศุลกากร ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายศุลกากร และเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าส่งออกของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะดำเนินความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและการปฏิบัติตามขั้นตอนการออก Form C/O รูปแบบใหม่ โดยจะดำเนินการผ่านการจัดประชุมหารือ การสัมมนา และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ
พร้อมรับมือสงครามการค้า
สำหรับการรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้า จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีอัตราต่างตอบแทน ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีกับสินค้าจากประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ อาจประสบปัญหาในการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษี ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง อาจนำไปสู่ปัญหาสินค้าทะลัก เนื่องจากผู้ส่งออกอาจหันไปส่งออกสินค้าผ่านประเทศที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงขึ้น หรือสินค้าที่เคยส่งออกไปยังประเทศที่ถูกขึ้นภาษีอาจถูกระบายมายังประเทศอื่นแทน
นางอารดากล่าวว่า จากปัญหาข้างต้น กรมมีแนวทางการรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศได้รับความเสียหายจากสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์เบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) กรมจะดำเนินการไต่สวนมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการทะลักของสินค้านำเข้า โดยการเรียกเก็บอากรเพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ.2550
“ได้ประชุมร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันเฝ้าระวัง และกำหนดกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงที่อาจทะลักเข้ามาไทยมากขึ้น จากผลการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่าง ๆ และติดตามสถานการณ์การนำเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำข้อมูลนำเข้ารายสินค้ามาประเมินสถานการณ์ตามหลักเกณฑ์การเปิดไต่สวนมาตรการ Safeguard ต่อไปแล้ว”
นอกจากนี้ มีแผนที่จะเร่งกระชับกระบวนการไต่สวนมาตรการ Safeguard ให้สั้นกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายกำหนดให้ไต่สวนเสร็จสิ้นภายใน 270 วัน และในระหว่างกระบวนการไต่สวน สามารถใช้มาตรการชั่วคราวได้ โดยสามารถใช้บังคับหลังจากเปิดไต่สวนได้ เมื่อมีหลักฐานชัดแจ้งว่าการนำเข้าทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงเพื่อป้องกันความเสียหายเร่งด่วน และใช้บังคับไม่เกิน 200 วัน รวมทั้ง จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการไต่สวนให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเริ่มทดลองใช้ระบบ Electronic-Trade Remedy Platform (e-TR) ในการยื่นคำขอ กระบวนการไต่สวนออนไลน์ และพัฒนาระบบ AI เพื่อใช้สนับสนุนกระบวนการไต่สวนของเจ้าหน้าที่
“กรมมั่นใจว่าจากมาตรการที่จะดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 จะทำให้การผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ อย่างข้าวและมันสำปะหลัง ทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนการปกป้องผู้ประกอบการไทยจากสินค้านำเข้า ที่เกิดขึ้นจากการเบี่ยงเบนทางการค้า จะใช้มาตรการที่มีอยู่จัดการได้ ส่วนการป้องกันการสวมสิทธิ์การส่งออกไปสหรัฐฯ ก็มีการวางระบบที่เข้มข้น และตรวจสอบได้ทุกช่องทาง มั่นใจว่าจะกำกับดูแลได้ และการรับมือกับสงครามการค้า ก็อย่างที่บอก มาตรการพร้อมแล้ว วิธีการพร้อมแล้ว สามารถดูแลผู้ประกอบการไทยไม่ให้ได้รับผลกระทบได้แน่นอน”นางอารดากล่าว