ในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) มีแผนจัดงานใหญ่ระดับโลกถึง 2 งานต่อเนื่องกัน ซึ่งทั้ง 2 งานจะเป็นงานที่แสดงบทบาทที่สำคัญของไทย ในฐานะผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกข้าวและมันสำปะหลังของโลก และยังจะถูกใช้เป็นเวทีสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า เป็นเวทีการเจรจาธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และการส่งออกให้ผู้ประกอบการของไทย ที่สำคัญ จะเป็นเวทีที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
โดย 2 งานระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น คือ งาน Thailand Rice Convention (TRC) กำหนดจัดวันที่ 25-27 พ.ค. 2568 ที่กรุงเทพฯ ผ่านแนวคิด “Global Rice from Thai Legacy” ซึ่งสะท้อนถึง “ข้าว” ที่นอกจากจะเป็นธัญพืชที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน เป็นอาหารหลักและพืชเศรษฐกิจฐานราก และมีการสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นมายาวนานหลายร้อยปี ยังเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญและเป็นสินค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนอีกงาน World Tapioca Conference (WTC) กำหนดจัดวันที่ 29-31 ก.ค. 2568 ที่กรุงเทพฯ เพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อ ผู้ใช้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การแปรรูป การค้า และเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับมันสำปะหลังของภูมิภาค รวมถึงเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำเข้า และภาคเอกชน
ย้อนความเป็นมา 2 งานใหญ่
สำหรับการจัดงาน Thailand Rice Convention (TRC) ที่เป็นเวทีระดับนานาชาติที่จัดขึ้นเพื่อแสดงบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านการผลิตและส่งออกข้าวคุณภาพของโลก เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2544 และจัดมาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดต่างประเทศ และเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งในแต่ละครั้ง งาน TRC ได้รับความสนใจจากผู้แทนภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ซื้อข้าวจากนานาประเทศ และสื่อมวลชน ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวไทยและบทบาทในเวทีการค้าข้าวโลกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับงาน Thailand Rice Convention (TRC) 2025 ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 หลังจากที่ได้จัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 และว่างเว้นไปถึง 6 ปีเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีเป้าหมายการจัดงานครั้งนี้ให้กลับมาอย่างยิ่งใหญ่และเป็นเวทีสำคัญให้ผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมข้าวทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ค้า ผู้ประกอบการแปรรูปข้าว ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า รวมทั้งหน่วยงานรัฐจากหลากหลายประเทศ ได้ใช้เวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันผลักดันข้าวไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก
ส่วนงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก (World Tapioca Conference - WTC) จัดขึ้นครั้งแรกจัดเมื่อปี 2552 ภายใต้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานมันสำปะหลังไทย ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การค้ามันสำปะหลังไทยในตลาดที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ดำเนินการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จำนวน 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552-2566
โดยการจัดงานครั้งล่าสุดในปี 2566 ได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี มีผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ผู้ใช้ ทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ที่สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,570 คน จาก 12 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ตุรกี จีน อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ซื้อ ผู้ใช้ในตลาดต่างประเทศเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของไทยกับหน่วยงานรัฐของประเทศผู้นำเข้า และผู้ซื้อ ผู้ใช้ของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้การส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไทยขยายตัวไปยังตลาดที่หลากหลายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวได้มีการลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังไทยกับต่างประเทศคิดเป็นปริมาณมันสำปะหลังสดเกือบ 5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท
เปิดไฮไลต์เด็ดงาน TRC 2025
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การจัดงาน TRC 2025 ครั้งนี้ ประกอบไปด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวได้เข้าร่วม ได้แก่ การกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษโดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การบรรยายและเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก เริ่มจากการบรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมการค้าข้าวโลกปี 2568 จากมุมมองของผู้ส่งออกข้าวสำคัญ” ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ร่วมงานจะได้ทราบถึงสถานการณ์การค้าข้าวในปัจจุบัน แนวโน้มของตลาดโลก รวมไปถึงความต้องการของผู้บริโภคว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อให้มีการผลิตข้าวที่สอดคล้องกับตลาด โดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกทั้ง 4 ประเทศ คือ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวอินเดีย สมาคมอาหารของเวียดนาม และผู้ส่งออกข้าวของปากีสถานเข้าร่วม
นอกจากนี้ จะมีการจัดการเสวนาในหัวข้อ “ข้าวยุคใหม่สู่ความยั่งยืน พลิกเกมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการข้าวอินทรีย์ ทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า และหน่วยงานระหว่างประเทศ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองต่อข้าวอินทรีย์ ที่ถือเป็นอีกกระแสความนิยมของผู้บริโภคยุคใหม่ในการรักษาสุขภาพ เทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิต มาตรฐานข้าวอินทรีย์ ตลอดจนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ และการบรรยายในหัวข้อ “ทิศทางอุปสงค์และอุปทานข้าวโลก : โอกาสและความท้าทาย” โดย Mr. V Subramanian ผู้ร่วมก่อตั้งวารสาร SS Rice News ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ตลาดข้าวโลก ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานได้เห็นทิศทางของตลาดข้าวทุกประเภทในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นในการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากข้าว
ขณะเดียวกัน กรมจะจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ประกอบไปด้วยนิทรรศการเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย การตรวจสอบมาตรฐานข้าวและเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย (ตราเขียว) ของกรมการค้าต่างประเทศ การจัดแสดงตัวอย่างความหลากหลายของข้าวไทย และการทดลองชิมข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมทั้งสาธิตการทำอาหารจากข้าวไทย
ทั้งนี้ จะมีการจัดงานเลี้ยงต้อนรับและงานกาลาดินเนอร์ จะเป็นเวทีที่นำเสนอคุณภาพข้าวไทยให้ผู้นำเข้าทั่วโลกได้รับรู้ โดยได้นำข้าวหอมมะลิ 105 หรือข้าวขาวดอกมะลิ เป็นพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดข้าวสารเรียวยาว สีขาวสวย อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม เมื่อข้าวสุกแล้วยังคงกลิ่นหอมและรสชาติดี มาเสิร์ฟคู่กับอาหารไทย นำเสนอผ่านการเล่าเรื่อง (Story-telling) วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อชู soft power ข้าวและอาหารไทยให้นานาชาติได้ลิ้มลอง และผลักดันครัวไทยสู่โลก
พร้อมกันนี้ จะจัดการศึกษาดูงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้ผู้นำเข้าและผู้ค้าข้าวจากทั่วโลกได้เยี่ยมชมนวัตกรรมและการพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย และคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย และจัดการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั่วโลก คาดว่าจะช่วยสร้างคำสั่งซื้อไม่น้อยกว่า 100,000 ตัน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 2,000 ล้านบาท
ปี 68 ตั้งเป้าส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
นางอารดากล่าวว่า ในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้คาดการณ์การส่งออกข้าวไทยร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ประมาณ 7.5 ล้านตัน โดยมีแผนที่จะขับเคลื่อนการส่งออก ทั้งการจัดคณะผู้แทนการค้าข้าว เดินทางไปเจรจาขายข้าว เพื่อรักษาตลาดเดิม และเปิดตลาดใหม่ ซึ่งล่าสุดได้ไปแอฟริกาใต้ มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ซื้อขายข้าวระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยกับบริษัทผู้นำเข้าข้าวแอฟริกาใต้รายใหญ่ปริมาณกว่า 4 แสนตัน มูลค่ากว่า 7,300 ล้านบาท และมีแผนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ และประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติที่สำคัญ เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทย
โดยที่ผ่านมาได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญ ๆ ไปแล้ว เช่น งานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ SIAL 2024 ณ สาธารณรัฐฝรั่งเศส งานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติของจีน (CIIE) 2024 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ (BIOFACH) 2025 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี งานแสดงสินค้านานาชาติ Foodex 2025 ณ ประเทศญี่ปุ่น และและงานแสดงสินค้า Natural Products Expo West (NPEW) 2025 ณ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและความสนใจจากผู้นำเข้า ผู้ซื้อและผู้บริโภค รวมทั้งสื่อมวลชนในต่างประเทศอย่างล้นหลาม
ข้าวคุณภาพดีมีโอกาสขายได้สูง
อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกข้าวไทยในช่วง 3 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-มี.ค.) จะส่งออกได้ปริมาณ 1.8 ล้านตัน ลดลง 27.99% เนื่องจากได้รับผลกระทบสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งสงครามการค้าจากนโยบายทรัมป์ที่ปรับขึ้นภาษี รวมถึงการที่ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินเดียยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก และกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ทำให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงยิ่งขึ้น ขณะที่ความต้องการนำเข้าข้าวของบางประเทศเริ่มชะลอตัว เนื่องจากสภาพอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกทำให้ปริมาณผลผลิตพืชอาหารเริ่มฟื้นตัว รวมถึงนโยบายพึ่งพาตนเองในหลายประเทศ
แต่กลับพบว่าไทยยังมีจุดแข็งเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความหลากหลายของพันธุ์ข้าว รวมทั้งศักยภาพในการส่งมอบ และหากพิจารณาเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูง ไตรมาสแรกของปี 2568 ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปแล้ว 456,826 ตัน เพิ่มขึ้น 9.9% สะท้อนให้เห็นอุปสงค์ข้าวคุณภาพสูงที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง และยืนยันว่าข้าวไทยยังสามารถกลับมาตีตลาดข้าวโลก และผู้นำเข้าจะยินดีซื้อข้าวไทยที่ราคาสูงกว่า ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดข้าวคุณภาพสูงได้ในระยะยาว รวมไปถึงไทยยังมีจุดแข็งในด้านข้าวชนิดพิเศษสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche Market) เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวหอมนิล และข้าวสังข์หยด เป็นต้น ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารและดีต่อสุขภาพ ทำให้เชื่อมั่นว่าหากสามารถปรับตัวให้ทันต่อสภาพตลาดโลก และเพิ่มประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ก็ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดข้าวคุณภาพสูงได้
เปิดไฮไลต์งาน WTC 2025
นางอารดากล่าวว่า สำหรับการจัดงาน WTC 2025 ในปีนี้มีไฮไลต์สำคัญคือ การจัดงานเสวนาพร้อมงานเลี้ยงต้อนรับ (Dinner Talk) โดยเป็นการอภิปรายกลุ่มภายใต้หัวข้อ “จากไร่มันฯ สู่อนาคต : เส้นทางอุตสาหกรรมมันสำปะหลังสู่ความยั่งยืน” (Tapioca on the Move: How the Tapioca Industry Is Leading a Sustainable Path) โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติในอุตสาหกรรมมันสำปะหลังที่จะมาร่วมให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มธุรกิจ การผลิต และการตลาด เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในอนาคต
การประชุมสัมมนาวิชาการ ประกอบด้วยการปาฐกถาพิเศษ โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และการบรรยายในหัวข้อ “มัน...ไม่ธรรมดา : รับมือการค้าโลกใหม่ เปิดมุมมองโอกาสและความท้าทาย” (Beyond Ordinary: Thai Tapioca and the New Global Trade Era) โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาคเอกชนที่จะมาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และการวิเคราะห์เกี่ยวกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งมุมมองภายในประเทศไปจนถึงการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้ความท้าทายของสถานการณ์การค้าโลก อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมงานทั้งไทยและต่างชาติ
การจัดพิธีลงนามสัญญาซื้อขายมันสำปะหลัง ระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าต่างชาติ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เป็นสักขีพยาน ซึ่งการลงนามในสัญญาซื้อขายนี้ จะสามารถสร้างรายได้ล่วงหน้าให้กับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังได้ทั้งระบบ และการสร้างสัมพันธ์ทางการค้าอันดีระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งจะจัดการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าต่างประเทศ (Business Matching) เป็นการสร้างโอกาสให้ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกมันสำปะหลังได้พบปะเจรจาการค้าซึ่งจะพัฒนาไปสู่การซื้อขายที่เป็นรูปธรรมในอนาคต อีกทั้งเป็นเวทีสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์และเจรจาการค้ามันสำปะหลังในรูปแบบเอกชนกับเอกชน และยังจะมีการศึกษาดูงาน ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้แขกผู้ร่วมงานชาวต่างชาติได้ทราบถึงขั้นตอนการส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง ผ่านการเยือนสถานที่จริง รวมถึงได้เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาที่จะได้รับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับความเป็นไทยด้วย
การจัดนิทรรศการมันสำปะหลัง มุ่งเน้นการนำเสนอให้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยที่มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกันทั้งระบบ โดยนิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1. โซนนิทรรศการต้นน้ำ การจัดแสดงกิจกรรมในรูปแบบ Interactive Exhibition เพื่อนำเสนอความสำคัญของมันสำปะหลังในช่วงการเพาะปลูก 2. โซนนิทรรศการกลางน้ำ จัดแสดงสินค้าที่แปรรูปจากมันสำปะหลัง ประกอบด้วย มันเส้น มันอัดเม็ด กากมันอัดเม็ด และแป้งมันสำปะหลัง อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษคือการสาธิตการทำอาหารที่ทำจากมันสำปะหลังหรือผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยดารานักแสดงที่มีชื่อเสียง 3. โซนนิทรรศการปลายน้ำ จัดแสดงสินค้ามันสำปะหลังซึ่งสามารถต่อยอดและแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปหรือสินค้านวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยการจัดนิทรรศการทั้ง 3 โซนดังกล่าว ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมทั้งสมาคมมันสำปะหลังทั้ง 4 สมาคม
การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) แบ่งการประชุมออกเป็น 3 กลุ่มย่อยตามความสนใจของผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันเส้น แป้งมันสำปะหลัง และสินค้านวัตกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายตลาดการส่งออกไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น การสร้างอำนาจต่อรองทางการค้า และการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังของไทย
ปี 68 ตั้งเป้าส่งออกมัน 7.5 ล้านตัน
นางอารดากล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกมันสำปะหลังในปี 2568 กรมได้จัดประชุมติดตามสถานการณ์การค้ามันสำปะหลัง ร่วมกับสมาคมมันสำปะหลัง 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย มีมติเห็นชอบคาดการณ์ปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ปี 2568 ที่ 7.5 ล้านตัน โดยแบ่งออกเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด 3 ล้านตัน และแป้งมันสำปะหลัง 4.5 ล้านตัน
สำหรับแผนที่จะผลักดันการส่งออกให้ไปสู่เป้าหมาย กรมจะดำเนินการผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไปยังตลาดเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยได้ดำเนินการแล้วที่จีน คือ วันที่ 6-8 ม.ค. 2568 จัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางจัดกิจกรรมขยายตลาดการค้ามันสำปะหลัง ที่นครเซี่ยงไฮ้ และนครเฉิงตู มีการจัดกิจกรรมพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซื้อขายสินค้ามันปะหลังระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีน ปริมาณ 440,000 ตัน มูลค่า 5,314.95 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณหัวมันสด 1.68 ล้านตัน
จากนั้น วันที่ 16 ม.ค. 2568 จัดกิจกรรมพิธีลงนาม MOU และสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีน มีนายพิชัยเป็นประธาน และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม MOU และสัญญาซื้อขายดังกล่าว มีปริมาณ 540,000 ตัน มูลค่า 3,488.51 ล้านบาท คิดเป็นหัวมันสด 1.28 ล้านตัน
โดยการลงนาม MOU และสัญญาซื้อขาย ทั้ง 2 กิจกรรมข้างต้น สามารถสร้างความต้องการซื้อล่วงหน้าให้กับมันสำปะหลังไทยได้ถึง 980,000 ตัน มูลค่า 8,803.46 ล้านบาท สามารถดูดซับหัวมันสดในประเทศได้กว่า 2.96 ล้านตัน
นอกจากนี้ มีแผนที่จะนำคณะผู้แทนการค้าเข้าพบผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการนำมันสำปะหลังไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ณ เมืองริยาด และเมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 17-22 พ.ค.2568 และจะจัดคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนเดินทางไปเจรจาขยายตลาดและผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้ง ช่วงเดือน ส.ค. 2568
ขณะเดียวกัน มีแผนจัดซื้อข้อมูลมันสำปะหลังและสินค้าที่เกี่ยวข้องจากผู้ให้บริการข้อมูลของจีนประจำปี 2568 ผ่านการเป็นสมาชิกผู้ให้บริการ Online ทางเว็บไซต์ ทำให้รับทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสินค้ามันสำปะหลังและสินค้าที่เกี่ยวข้อง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และแอลกอฮอล์ ตลอดจนรับทราบนโยบายและมาตรการต่างๆ ของตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของไทย โดยที่ผ่านมาการจัดซื้อข้อมูลดังกล่าวช่วยให้การบริหารจัดการมันสำปะหลังไทยเกิดประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับบริบททางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“กรมมั่นใจว่าการจัด 2 งานใหญ่ระดับโลกติดๆ กันช่วงเดือน พ.ค. และเดือน ก.ค. จะเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าข้าว และมันสำปะหลังของไทย และส่งผลให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า มีความต้องการซื้อข้าวไทย มันสำปะหลังไทยเพิ่มขึ้น และจะส่งผลดีต่อการส่งออก 2 สินค้าดังกล่าว ทำให้รายได้ถูกส่งต่อไปยังเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวและปลูกมันสำปะหลัง” นางอารดากล่าว