ผู้จัดการรายวัน 360- สมาคมโฆษณาดิจิทัล หรือ DAAT คาดการณ์ปี 68 มูลค่าโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล โตอีก 10% สู่ 34,556 ล้านบาท ดีกว่าปีก่อนที่โตเพียง 8% จับตา TikTok ยังแรงไม่หยุด ปีนี้เบียด youtube ขึ้นเบอร์ 2 แทน โดย Meta รั้งบัลลังก์กวาดเงินสูงสุด เผยกลุ่มสกินแคร์อัดงบลงเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลมากสุด เน้นการขายมากกว่าแบรนด์ดิ้ง
สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ The Digital Advertising Association of Thailand (DAAT) ร่วมกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยการตลาดและที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านแบรนด์ชั้นนำของโลก ได้เผยถึงผลสำรวจรายงานมูลค่าโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยว่า ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีมูลค่า 31,544 ล้านบาท หรือเติบโตที่ 8% ส่วนปี 2568 จะมีแนวโน้มที่จะเติบโตที่ 10% คิดเป็นเป็นมูลค่า 34,556 ล้านบาท
นายภารุจ ดาวราย นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลสำรวจเม็ดเงินการลงทุนโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเกิดจากความร่วมมืออันดีเยี่ยมจากเอเยนซีสมาชิกของ DAAT ที่ได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยพบว่าปี 2567 การลงทุนโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 31,544 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในปี 2568 นี้ จะเติบโตอีก 10% เป็น 34,556 ล้านบาท
ทาง DAAT เชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นแนวทางสำคัญให้ผู้ประกอบการและนักการตลาดสามารถวางแผนกลยุทธ์ และกำหนดทิศทางของการลงทุนของอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลไทยได้อย่างแม่นยำและเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาการลงทุนตามช่องทางโฆษณาดิจิทัล พบว่า เมตา (เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม) ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่นักการตลาดเลือกใช้ แม้ว่าปี 2567 ส่วนแบ่งการตลาดจะลดลงจาก 28% เป็น 26% ในปี 2568 แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของ TikTok ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2568 TikTok จะขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มที่มีเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดเป็นอันดับสอง ด้วยมูลค่า 5,510 ล้านบาท แทนที่ Youtube ตกมาอยู่อันดับ 3 แทน หรือมีมูลค่าที่ 5,155 ล้านบาท แต่ Youtube และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่นๆ ยังคงได้รับความนิยมแต่เติบโตอยู่ นอกจากนี้ในผลสำรวจยังพบว่า ในปี 2568 กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในสื่อโฆษณาดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรก ยังคงเป็นกลุ่มเดิมจากปีก่อน ได้แก่
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์สกินแคร์ คาดมีมูลค่า 6,128 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 5,066 ล้านบาท
2. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ คาดมีมูลค่า 2,981 ล้านบาท ชะลอตัว จากปีก่อน 3,016 ล้านบาท
3. กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คาดมีมูลค่า 2,942 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,513 ล้านบาท
4. กลุ่มโทรคมนาคม คาดมีมูลค่า 2,525 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,014 ล้านบาท
5. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดมีมูลค่า 2,104 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 2,035 ล้านบาท
ดร. อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้า และประธานฝ่ายการเจริญเติบโตแห่งเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวม และการจำกัดงบประมาณการโฆษณาของกลุ่มแบรนด์ต่างๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มีผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาทางดิจิทัลไม่ได้เติบโตเท่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้
หากมองในมุมของกลุ่มอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ดูแลผิว มีการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาสูง ซึ่งสะท้อนไลฟ์สไตล์ในเรื่องการทำงานและการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของเรื่องสุขภาพและความงาม ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญและใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามมากขึ้น
ส่วนด้านช่องทางการลงโฆษณานั้นเป็นไปตามที่คาดว่า TikTok จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการเติบโตจากเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มของผลิตภัณฑ์สกินแคร์
ด้านนายพิสิษฐ์ จาตุรพันธ์ นักวิจัยการตลาดอาวุโส คันทาร์ (ประเทศไทย) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่อง 12 ปีที่ผ่านมา คือ การเข้าถึงสื่อดิจิทัลและการใช้เวลาบนโลกออนไลน์ที่สูงมากขึ้นของคนไทย
ทั้งนี้ในปี 2567 - 2568 คันทาร์ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเก็บผลวิจัยใหม่ โดยแยกระหว่างกลุ่มโทรคมนาคม และอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ออกจากกัน ทำให้พบว่า กลุ่มอุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตต่อเนื่อง เกิดจากการที่แบรนด์ออกอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ๆ ส่วยกลุ่มโทรคมนาคมมีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อย เกิดมาจากการแข่งขันในตลาดที่เปลี่ยนความสนใจจากทำแบรนด์ดิ้ง เป็นการเน้นที่รักษาฐาน และเพิ่มความภักดีของลูกค้าปัจจุบัน.