xs
xsm
sm
md
lg

"สุริยะ" ชง ครม.แพทองธาร เคาะค่า K เสริมสภาพคล่องรับเหมาพระราม 2 พร้อมยัน 9 โครงการค้างท่อเร่งลงทุนเกือบ 1 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ชง ครม.แพทองธาร เคาะโครงการค้างท่อรัฐบาลก่อน ลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท ประเดิมนัดแรก (17 ก.ย.) อนุมัติค่า K ชดเชยรับเหมากว่า 800 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องเร่งก่อสร้าง ปิดตำนานพระราม 2 ใน มิ.ย. 68

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 67) จะมีการประชุม ครม.ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นัดแรก ซึ่งมีวาระกรมทางหลวง (ทล.) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (งบกลาง ปี 67) รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือจ่ายเงินชดเชยค่างาน (ค่าK) ผู้รับเหมา วงเงิน 800 ล้านบาท เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่อนุมัติจ่ายไปแล้วจำนวน 600 ล้านบาท สำหรับผู้รับเหมาที่มีงานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เพื่อจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้รับเหมา และสามารถเร่งรัดโครงการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพื่อปิดตำนานการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ภายในเดือน มิ.ย. 2568 ตามนโยบายให้ได้

ส่วนก่อนหน้านี้ที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการงานจำนวน 9 โครงการไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เนื่องจากนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงมีการส่งเรื่องคืนกระทรวงฯ แล้วนั้น กระทรวงฯ จะยืนยันทั้ง 9 โครงการที่ค้างจาก ครม.ชุดก่อนกลับไป ครม.อีกครั้ง ส่วนจะได้บรรจุวาระในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ย. 67) ด้วยหรือไม่ อยู่ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)


สำหรับ 9 โครงการ มีทั้งโครงการลงทุน โดยส่วนใหญ่ผ่านการสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง แล้ว หาก ครม.เห็นชอบก็พร้อมเดินหน้าประกวดราคาต่อไป อีกส่วนเป็นงานเกี่ยวกับการบริหารด้านการเงิน ประกอบด้วย โครงการลงทุน วงเงินรวมเกือบ 1 แสนล้านบาท คือ 1. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) หรือ M9 ตอนทางยกระดับบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP Net Cost เป็นเส้นทางแรก

2. โครงการมอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ (M5) สายรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงินลงทุน 31,358 ล้านบาท การลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยรัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธาและการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) รัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน และรัฐใช้คืนค่าก่อสร้างภายหลัง ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์

3. โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท เสนอ ครม.เพื่อขอทบทวนมติ ครม.และปรับกรอบวงเงิน หลังจากก่อนหน้านี้ รฟท.สรุปการศึกษาและเสนอ ครม.ไปแล้ว


ขออนุมัติด้านการเงินเพื่อการดำเนินงานองค์กร 4 เรื่อง คือ 1. การรถไฟฯ ขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มเติม วงเงิน 197.38 ล้านบาทสำหรับงานเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 135 กม.

2. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขออนุมัติกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 30,025.66 ล้านบาท

3. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เสนอพิจารณากำหนดแนวทางโครงการบริหารและประกอบการท่าเทียบเรือเอ 0 ณ ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.)

4. การมอบหมายให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) มอบความรับผิดชอบการบริหารท่าอากาศยานตากให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

ร่างกฎหมาย (พ.ร.บ.) 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... 2..ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. ....




กำลังโหลดความคิดเห็น