บอร์ด รฟท.เห็นชอบเพิ่มวงเงินสายสีแดง Missing Link ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เพิ่ม 416 ล้านบาท หลังปรับแบบย้ายตำแหน่งสถานีช่วงรพ.รามาธิบดี เคลียร์จุดก่อสร้างไม่กระทบไฮสปีด 3 สนามบิน เร่งชง ครม.อนุมัติเดินหน้าประมูล
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟท.ครั้งที่ 8/2567 วันที่ 11 ก.ค. 2567 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างเสนอขอปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. โดยปรับขึ้น 416.09 ล้านบาท ทำให้วงเงินใหม่ปรับเป็น 44,573.85 ล้านบาท จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินไว้เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 ที่ 44,157.76 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสถานีราชวิถี ใกล้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมทำทางเชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ รวมถึงการหารือเพื่อตกลงร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีเส้นทางในแนวเดียวกันในบางช่วงที่มีพื้นที่จำกัด ในการก่อสร้างให้สอดคล้องกัน
ขั้นตอนหลังจากนี้ รฟท.จะเสนอกลับไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอ ครม.ในการปรับวงเงินโครงการใหม่ ซึ่งขณะนี้รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทาง บอร์ด รฟท.เห็นชอบหมดแล้ว และเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า รถไฟสายสีแดง Missing Link มีการปรับวงเงิน ดังนี้ 1. ค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา เดิม 20 ล้านบาท ปรับลดลง 8.8 แสนบาท เหลือ 19.12 ล้านบาท เนื่องจากลงนามสัญญาจ้างไว้ที่ 19.12 ล้านบาท
2. ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงาน เดิม 1,059.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 133.22 ล้านบาทเป็น 1,192.43 ล้านบาท เนื่องจากค่างานโยธาและค่างานระบบฯ เพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นค่าควบคุมงาน 1,185.83 ล้านบาท และค่าช่วยเวนคืนที่ดิน 6.60 ล้านบาท
3. ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศกรอิสระ เดิม 185.12 ล้านบาท ปรับลดลง 104.17 ล้านบาทเหลือ 80.95 ล้านบาท เนื่องจากค่างานระบบฯ ลดลง
4. ค่างานโยธา เดิม 24,189.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,836.7 ล้านบาท เป็น 35,026.59 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าอัตราส่วนของต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Factor F) ให้เป็นปัจจุบัน ปรับแบบให้สอดคล้องกับโครงการที่เกี่ยวข้อง และปรับเพิ่มค่างานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง
5. ค่างานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล เดิม 18,511.62 ล้านบาท ลดลง 10,417.10 ล้านบาท เหลือ 8,094.52 ล้านบาท เนื่องจากตัดค่าตู้รถไฟฟ้า (9,206.28 ล้านบาท) ออก โดยให้เอกชนร่วมลงทุนจัดซื้อแทนตามผลการศึกษาร่วมทุน (PPP) สายสีแดง และผลจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเยนลดลงเมื่อเทียบกับเงินบาท
และ 6. ค่าเวนคืนที่ดิน เดิม 191.92 ล้านบาท ลดลง 31.68 ล้านบาท เหลือ 160.24 ล้านบาท เนื่องจากโยกค่ารื้อย้ายไปไว้ในค่างานโยธาและคิดค่าเวนคืนใหม่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562