xs
xsm
sm
md
lg

หมดเวลายื้อ "ไฮสปีด" เดดไลน์บัตรส่งเสริมบีโอไอ รฟท.เจรจาซี.พี. ตัดเงื่อนไขเร่งออก NTP-ชง กพอ.แก้สัญญาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เลขาฯ อีอีซีมั่นใจไฮสปีด 3 สนามบินมีทางออกเดินหน้าต่อ คาดเจรจาจบใน 1-2 เดือนนี้ วงในเผยเดดไลน์ 22 พ.ค. 67 หมดเวลาบัตรส่งเสริมบีโอไอ เอกชนหมดข้ออ้าง หมดเวลายื้อ รฟท.เจรจา "ซี.พี." ตัดเงื่อนไขเร่งออก NTP พร้อมเตรียมชง กพอ.แก้สัญญาร่วมทุนฯ และแบ่งจ่ายค่าสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ตามมติ ครม.

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 โครงสร้างพื้นฐานหลัก (EEC Project List) ว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สกพอ.และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน  จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) ผู้รับสัมปทานฯ อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกัน ซึ่งมีทิศทางที่ดีและน่าจะมีทางออกที่ทำให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ตามเป้าหมาย  คาดว่าคณะทำงานร่วม 3 ฝ่ายจะเจรจาให้จบภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567 จะได้ข้อสรุปชัดเจนภายใน 1-2 เดือนนี้ 

ทั้งนี้ ตามขั้นตอน หลังเจรจาได้ข้อยุติร่วมกันต้องเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ​ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รฟท.จะต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบก่อน จากนั้นจึงจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามขั้นตอนและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาฯแก้ไข จนสามารถลงนามแก้ไขสัญญาแล้ว รฟท.จะสามารถส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ได้   

นายจุฬากล่าวว่า หนึ่งในเงื่อนไขของการออก NTP คือ เอกชนต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งในวันที่ 22 พ.ค. 2567 คือวันสิ้นสุดที่เอกชนได้รับการขยายเวลาจากบีโอไอครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้าย) หากครบกำหนดแล้วยังไม่ได้บัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจะเท่ากับเงื่อนไขข้อนี้หมดไปด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนไขออก NTP จึงเป็นหัวข้อที่อยู่ในการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ 

“แนวทางของภาครัฐคือต้องหาทางให้โครงการเดินหน้าต่อไปตามเป้าหมาย ตอนนี้ยังออก NTP ให้เริ่มงานไม่ได้ เพราะเงื่อนไข NTP คือเอกชนต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ดังนั้นหลังวันที่ 22 พ.ค. 67 นี้ทั้งหมดจะชัดเจนแน่นอน เพราะเมื่อโครงการเดินหน้า เรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนเอกชนสามารถเจรจาได้ภายหลังได้ ตอนนี้ต้องมุ่งให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเกิดขึ้นให้ได้ก่อน เพราะโครงการฯ จะส่งผลให้มีกิจกรรมอื่นๆ เกิดขึ้นตามไปอีกมากมาย และในมุมเอกชนผู้ลงทุน หากเร่งสร้างภายใน 4 ปีสามารถเปิดให้บริการได้เร็ว เอกชนก็จะมีรายได้เร็วตามไปด้วย” เลขาฯ อีอีซีกล่าว


@ครบกำหนดบีโอไอ เอกชนหมดข้ออ้าง รฟท.ลุยเจรจาตัดออกจากเงื่อนไขออก NTP

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การขยายเวลาออกบัตรส่งเสริมครั้งที่ 3 จะหมดอายุวันที่ 22 พ.ค. 2567 นี้ ซึ่งทางเอกชนเคยยื่นขอต่ออายุเป็นกรณีพิเศษอีก แต่บีโอไอไม่ให้ ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐและเอกชนมีการเจรจากันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาข้อตกลงและเห็นชอบร่วมกันในการยกเว้นเงื่อนไขเรื่องบีโอไอ ในการออก NTP ซึ่งการตัดเงื่อนไขเรื่องนี้ต้องแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ยอมรับว่าประเด็นนี้ทำให้การออก NTP ยืดเยื้อมานาน ดังนั้นหลังจากนี้เอกชนหมดข้ออ้างที่จะยื้อไม่ให้ รฟท.ออก NTP แล้ว

@คาดจบปมโครงสร้างร่วม “รถไฟไทย-จีน” ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง สเปกความเร็ว 160 กม./ชม.

สำหรับประเด็นโครงสร้างร่วมระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กับโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น รฟท.พิจารณาแนวทางที่ดีที่สุด คือการให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เป็นผู้ก่อสร้างทั้งหมดภายใต้มาตรฐานความเร็ว 160 กม./ชม.ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาของรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอยู่แล้ว ไม่ต้องแก้ไขสัญญาใดๆ ขณะที่เนื้องานที่จะต้องก่อสร้างให้โครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง นั้นถือเป็นงานในส่วนของการเพิ่มเติม หรือ Variation Order (VO) ได้ ซึ่งก็ไม่ต้องแก้ไขสัญญาเช่นกัน โดย รฟท.ต้องพิจารณาว่า จะนำ VO นี้เป็นของโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน หรือจะเป็นงานของรถไฟไทย-จีน

โดยรถไฟไทย-จีนสัญญา 4-1 มีวงเงินค่าก่อสร้างที่ 9,207 ล้านบาท เบื้องต้นโครงการฯ มีกรอบวงเงินแล้ว 4,000 ล้านบาท ต้องมีขั้นตอนในการขอเพิ่มกรอบวงเงินในสัญญาอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กรณีที่มีข่าวว่าจะมีการนำค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ที่เอกชนต้องจ่ายตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนฯ ให้ รฟท.หักกับค่าก่อสร้างโครงสร้างร่วมสัญญา 4-1 ของรถไฟไทย-จีนนั้น เรื่องนี้ ครม.ได้เห็นชอบประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยรฟท.ได้รับค่าสิทธิฯ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาส ออกเป็น 7 งวดไปแล้วถือว่าผ่อนผันให้มากแล้ว รวมไปถึงการแก้ไขสัญญาร่วมทุนเงื่อนไข "เหตุสุดวิสัย" กรณีที่มีการแพร่ระบาดของโรค หรือมีสงคราม ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ตาม รฟท.เตรียมแผนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ ให้กับเอกชนตามที่ระบุไว้ในสัญญา โดยพื้นที่ส่วนแรกมีความพร้อม ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ในช่วงรื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งคาดว่าพื้นที่โครงการฯ พร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมดภายในเดือน ต.ค. 2567


กำลังโหลดความคิดเห็น