xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ “ร่างแผนทรัพยากรน้ำ 3 ปี” วาระชาติ งบมหาศาล 6.23 แสนล้าน ในมือ “รองฯ อ้วน” เฉพาะ “เมกะโปรเจกต์” 62 รายการ เกือบ 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคาะ “ร่างแผนทรัพยากรน้ำ 3 ปี” วาระชาติ วงเงินมหาศาล ในมือ “รองฯ อ้วน” 6.23 แสนล้าน จ่อลง 23 หน่วยงาน 53,892 รายการ “นายกฯ นิด” สั่งเข้า ครม. ส.ค.นี้ เฉพาะป้องกันนํ้าท่วม 2.13 หมื่นล้าน พัฒนานํ้าอุปโภคบริโภค 9.33 หมื่นล้าน เผย จัดลงโครงการสำคัญทั่วประเทศ 62 รายการ เกือบ 2 แสนล้าน จ่อประเดิม “อุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยาย” บึงหนองบอน-คลองประเวศบุรีรมย์-คลองสี่ ระยะทาง 13.25 กม. วงเงิน 9.8 พันล้าน

วันนี้ (9 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2567 มีมติและข้อสั่งการของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานฯ โดยเฉพาะ “ร่างแผน 3 ปี (2568-2570) ด้านทรัพยากรนํ้าและโครงการสำคัญ”

โดยที่ประชุมเห็นชอบการกำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องดำเนินการ ภายใต้ “ระบบนิเวศทรัพยากรนํ้าต้องได้รับการฟื้นฟู เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านอุปโภคบริโภค ความมั่นคงภาคการผลิตในพื้นที่เกษตรนํ้าฝน และบรรเทาอุทกภัยอย่างเป็นระบบ”

กำหนดให้เป็นวาระด้านทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ ดำเนินการใน 3 ปี มีหน่วยงานร่วมดำเนินการ 23 หน่วยงาน จำนวน 53,892 รายการ วงเงิน 623,632 ล้านบาท

มีงบประมาณโครงการสำคัญ ดำเนินการหลังจาก 3 ปี เป็นวงเงิน 106,807 ล้านบาท คาดว่า ผลสัมฤทธิ์รวม ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 6.22 ล้านครัวเรือน

ความจุเก็บกักเพิ่มขึ้น 4,725 ล้าน ลบ.ม. ความจุในการหน่วงนํ้า 1,92 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 2.19 ล้านไร่ ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่

แผนงานที่ 1 การพัฒนานํ้าอุปโภคบริโภค จำนวน 27,233 รายการ วงเงิน 93,329 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม ครัวเรือนรับประโยชน์ 4.55 ล้านครัวเรือน ปริมาณนํ้าต้นทุนเพื่อผลิตประปาเพิ่มขึ้น 165 ล้าน ลบ.ม.

แผนงานที่ 2 การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งนํ้าเดิม และพัฒนาระบบกระจายนํ้า จำนวน 11,750 โครงการ วงเงิน 192,524 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวมพื้นที่รับประโยชน์ 9.75 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 2,147 ล้าน ลบ.ม.

แผนงานที่ 3 การพัฒนาพึ้นที่เกษตรนํ้าฝน จำนวน 8,426 รายการ วงเงิน 97,537 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวม พื้นที่รับประโยชน์ 2.60 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 1,008 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 1.3 แสนครัวเรือน

แผนงานที่ 4 การพัฒนาพื้นที่หน่วงนํ้าและการป้องกันนํ้าท่วมชุมชนเมือง จำนวน 483 รายการ วงเงิน 21,379 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวมพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 6.8 แสนไร่ ความจุในการหน่วงนํ้าเพิ่มขึ้น 1,942 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 3.4 แสนครัวเรือน

แผนงานที่ 5 การอนุรักษ์และพื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรนํ้า จำนวน 5,938 รายการ วงเงิน 20,615 ล้านบาท ผลสัมฤทธิ์รวมพื้นที่ได้รับการพื้นฟู 6.82 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 2.6 แสนครัวเรือน

แผนงานที่ 6 โครงการสำคัญ จำนวน 62 รายการ วงเงิน 198,248 ล้านบาท ผลสัมฤทธรวมพื้นที่ รับประโยชน์ 4.34 ล้านไร่ ปริมาณนํ้าเก็บกักเพิ่มขึ้น 1,239 ล้าน ลบ.ม. ครัวเรือนรับประโยชน์ 9.4 แสนครัวเรือน

ทั้งนี้ สทนช. จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงค่าเป้าหมายและแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน ให้สอดคล้องกับค่าเป้าหมายของแผน 3 ปี ต่อไป

มีรายงานด้วยว่า นายกรัฐมตรี ยังขอให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้

ที่ประชุมยังเห็นชอบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยาย จากบึงหนองบอน ถึงคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสี่ ระยะทาง 13.25 กม. วงเงิน 9,800 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2569-2575

เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. ได้แก่ เขตลาดกระบัง, สะพานสูง, มีนบุรี และเขตประเวศ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซาก

โดยปี 2564 และปี 2565 ปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือน ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการสูบน้ำระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาล่าช้าเพราะระยะทางไกล

โดยโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยาย ประกอบด้วย อาคารสถานีสูบน้ำปลายอุโมงค์ ขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 1 แห่ง, อาคารรับน้ำเข้าอุโมงค์ 3 แห่ง

และอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.70 เมตร ยาว 13.25 กม. เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากคลองประเวศบุรีรมย์ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านในและนอกคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ รวม 152.90 ตารางกิโลเมตร

“โครงการนี้สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อได้รับงบประมาณ เนื่องจากไม่มีพื้นที่บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ ไม่มีสิ่งรุกล้ำทางน้ำ และไม่มีการเวนคืนที่ดิน โดยกทม. จะเป็นผู้ดูแล”.


กำลังโหลดความคิดเห็น