xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ปรับวงเงิน "สีแดง" ต่อขยาย 4 เส้นทาง เป็น 6.88 หมื่นล้าน เร่งชง ครม.ลุยประมูล 3 สาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ทบทวน "สีแดง" ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ปรับเพิ่มกรอบวงเงิน 1.25 พันล้านจาก 6.75 หมื่นล้านเป็น 6.88 หมื่นล้านตามต้นทุนน้ำมัน วัสดุก่อสร้างและงินเฟ้อ เร่ง 3 เส้นทาง 2.18 หมื่นล้านชงคมนาคมและ ครม.คาดเปิดประมูลปีนี้ พร้อมเสนอ สคร. เคาะ PPP เดินรถ 50 ปี กว่า 3.6 แสนล้าน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางว่า ขณะนี้ รฟท.ได้สรุปข้อมูลการทบทวนโครงการ เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อนำรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติดำเนินการก่อน 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 2. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช 3. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่ง 3 เส้นทางดังกล่าวเคยมีมติ ครม.ให้ความเห็นชอบในแต่ละเส้นทางแล้ว แต่เนื่องจาก รฟท.มีการทบทวนราคาค่าก่อสร้างใหม่เนื่องจากต้นทุนค่าวัสดุและราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 

เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ที่เพิ่มจาก 31.5 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ เป็น 35 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น จากเฉลี่ย 25 บาทต่อลิตรเป็น 35 บาทต่อลิตร และปัจจัยวัสดุก่อสร้าง และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
    
จึงต้องเสนอ ครม.เพื่อรับทราบและขออนุมัติการขยายกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาในบางเส้นทาง โดยเส้นทางที่มีความพร้อมและคาดว่าจะออกประกวดราคาก่อสร้างงานโยธาได้ก่อน คือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต   

สำหรับกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง โครงการรถไฟสายสีแดง (ส่วนต่อขยาย) เส้นทางตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร มี 6 สถานี มติ ครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 7,358.65 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,531.36 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 10 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 271.98 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 30.19 ล้านบาท) 

กรอบวงเงินปรับใหม่ที่ 10,670.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 468.09 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 8,076.62 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,284.09 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC  271.98 ล้านบาท, ICE 30.19 ล้านบาท) โดยเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติปรับเพิ่มกรอบวงเงิน  

เส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร มี 3 สถานี มติ ครม.เดิมเมื่อ มี.ค. 2562 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 2,706.56 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 1,997.33 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 10 ล้านบาท, CSC  177.73 ล้านบาท,  ICE  40.24 ล้านบาท, ค่าจัดหาตู้รถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้/ขบวนจำนวน 4 ขบวน หรือ 16 ตู้ วงเงิน 1,713.17 ล้านบาท) 

กรอบวงเงินปรับใหม่ที่  4,694.36 ล้านบาท ลดลง 1,950.67 ล้านบาท เนื่องจากตัดค่าจัดหารถไฟฟ้า 16 ตู้ออกตามผลศึกษา PPP ให้เอกชนเดินรถเป็นผู้จัดหา (ค่างานโยธาและระบบราง 2,798.06 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล  1,670.94 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC  177.73 ล้านบาท, ICE  40.24 ล้านบาท) โดยจะเสนอ ครม.เพื่อทราบเรื่องการให้เอกชนจัดหาขบวนรถไฟฟ้า โดยกรอบวงเงินอยู่ในกรอบเดิม 

เส้นทางรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร มี 6 สถานี มติ ครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 3,874.29 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล  2,197.19 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC  166.97 ล้านบาท, ICE  21.97 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดิน 295 ล้านบาท)  

กรอบวงเงินปรับใหม่ที่ 6,468.69 ล้านบาท ลดลง 101.71 ล้านบาทเนื่องจากปรับลดจากค่าเวนคืนลงบางส่วน ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 4,055.65 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล  2,004.17 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC  166.97 ล้านบาท, ICE  20.04 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดิน 209.79 ล้านบาท) โดยจะเสนอ ครม.เพื่อทราบเนื่องจากวงเงินอยู่ในกรอบเดิม  

สำหรับเส้นทางบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานีวงเงินตามมติ ครม.เดิม  44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก เบื้องต้นกรอบวงเงินเพิ่มเป็น  47,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,800 ล้านบาท   

@สรุป PPP เดินรถ 6 เส้นทาง 50 ปี มูลค่า 3.6 แสนล้าน เตรียมเสนอ สคร.

ทั้งนี้ รฟท.จะดำเนินการในส่วนการให้เอกชนร่วมลงทุนบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดง (PPP) คู่ขนาน ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เห็นชอบการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคา และการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เตรียมเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และคณะกรรมการ PPP อนุมัติการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน PPP สายสีแดง ทั้ง 6 เส้นทาง มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท โดยเอกชนลงทุนจัดหารถ บริหารการเดินรถ ซ่อมบำรุง ส่วนรัฐลงทุนงานโยธา ระบบไฟฟ้าเครื่องกล ระยะเวลา 50 ปี คาดการณ์รายได้ตลอดอายุสัมปทาน 5.8 แสนล้านบาท ประมาณการผู้โดยสาร ณ ปีที่เปิดให้บริการครบ 6 เส้นทาง คุ้มทุนที่ 9 หมื่นคนต่อวัน 

คาดว่าภายในปี 2565 จะเสนอ ครม.อนุมัติประมูลก่อสร้างงานโยธาส่วน PPP เดินรถ คาดว่าจะเสนอบอร์ด PPP เห็นชอบ จะเป็นขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนและนักลงทุน (Market Sounding) ประมาณ 6 เดือน คาดว่าเปิดประมูล ได้ปลายปี 2566  

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ภาพรวมกรอบวงเงินลงทุนโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ในส่วนของงานโยธาและระบบไฟฟ้าเครื่องกล จะมีการปรับเพิ่มจากมติ ครม.เดิมที่ประมาณ 67,575 ล้านบาท เป็น 68,833 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,258 ล้านบาท โดยหลักๆ จะเป็นการเพิ่มในส่วนของ Missing Link เพิ่มประมาณ 2,800 ล้านบาท ส่วนอีก 3 เส้นทางมีการปรับกรอบวงเงินลดลง จากมติ ครม.เดิมที่ 23,417 ล้านบาท เป็น 21,833 ล้านบาท  

   








กำลังโหลดความคิดเห็น