รฟท.เผยงบปี 66 กว่า 2.27 หมื่นล้านบาท ลุยจ่ายเวนคืนทางคู่ 2 สายใหม่ และไฮสปีดรวม 1.03 หมื่นล้าน ตั้งชำระหนี้ 8.3 พันล้าน ประเมินผลประกอบการขาดทุนกว่า 6 พันล้าน เตรียมชง ครม.กู้เสริมสภาพคล่อง 1.52 หมื่นล้าน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 รฟท.ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 22,727.27 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2565 ที่ได้รับจัดสรรจำนวน 18,700 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นงบสำหรับการดำเนินงานในโครงการต่อเนื่อง และผูกพันจากปี 2565 เช่น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) วงเงิน 10,386.9172 ล้านบาท
ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายใหม่ 2 เส้นทาง คือ สายเหนือ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 4,326 ล้านบาท, สายอีสาน สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 3,615 ล้านบาท
โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ค่าเวนคืนวงเงิน 2,020 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ราชกิจจาประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง "ไทย-จีน" กำหนดแนวเขตที่ดิน 3 เขตใน กทม. คือ จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี-อยุธยา-สระบุรี-นครราชสีมา แล้ว
และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ค่าเวนคืนวงเงิน 424 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 2566 รฟท.ได้ตั้งงบประมาณสำหรับชำระหนี้เงินต้น 4,351 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ย 3,966 ล้านบาท โดยเป็นหนี้การลงทุนในส่วนที่รัฐรับภาระด้านโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับการประมาณการรายได้ในปี 2566 ภายใต้สมมติฐานโครงการรถไฟทางคู่ยังไม่แล้วเสร็จทั้งหมด ประกอบด้วยรายได้จากรถชานเมืองสายสีแดง รายได้จากค่าโดยสาร ขนส่งสินค้า รายได้จากบริหารทรัพย์สินรวมทั้งสิ้นประมาณ 9,620 ล้านบาท ประมาณการรายจ่าย ประกอบด้วย ค่าบำรุงรักษาทาง อาณัติสัญญาณ ขบวนรถ และค่าดำเนินการเดินรถ 16,355 ล้านบาท มี EBITDA ขาดทุน 6,735 ล้านบาท ทั้งนี้ (ไม่รวมค่าบำนาญดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเสื่อมราคา)
เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนจริงได้ อีกทั้งมีบริการเชิงสังคมที่ได้รับการอุดหนุนหรือชดเชยส่วนขาดทุนจากรัฐไม่ครบถ้วน ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาโดยตลอด ซึ่ง รฟท.ต้องกู้เงินในการเสริมสภาพคล่องทุกปี โดยในปี 2566 รฟท.ได้ประเมินสถานการณ์ด้านการเงิน ซึ่งคาดว่าจะขาดสภาพคล่องประมาณ 15,200 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มจะดีขึ้น และส่งผลให้มีการเดินทาง การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คาดหมายว่าการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) จากโครงการ SRTO จะสมบูรณ์และมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ให้ รฟท.อีกทาง