กาญจนบุรี - กรมทางหลวงเผยงบประมาณปี 76 สร้างสะพานข้ามแยกวังสารภี-แก่งเสี้ยน แก้ปัญหาจราจร จ.กาญจน์ ผ่านแล้ว หากดำเนินก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จคาดเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยว ผลที่ตามมาคือเม็ดเงินจะสะพัดในพื้นที่เพิ่มขึ้น
วันนี้ (25 ก.ย.) นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย เขต 1 เปิดเผยว่า จากการรายงานข้อมูลของกรมทางหลวง ขณะที่นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มาตรวจราชการที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 24 ก.ย.66 ที่ผ่านมานั้น พบว่า ปัจจุบันจุดตัดทางหลวงหมายเลข 323 กับทางหลวงหมายเลข 367 และทางหลวงหมายเลข 3199 (แยกแก่งเสี้ยน) เกิดปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ทั้งพื้นที่ธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเกิดความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งทางหลวงสายนี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการขยายถนน
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ และแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงช่วงดังกล่าว รวมถึงโครงข่ายทางหลวงบริเวณใกล้เคียง ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในการดำเนินงานดังกล่าวจำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถแสดงความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ และเพื่อประกอบการพิจารณาสำรวจและออกแบบโครงการที่เหมาะสมต่อไป
กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท สแปน จำกัด บริษัท เวิลด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท อินฟราทรานส์ คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นแคด คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนจุดตัดทางหลวงหมายเลข 323 กับทางหลวงหมายเลข 367 และทางหลวงหมายเลข 3199 (แยกแก่งเสี้ยน) เพื่อนำเสนอหลักการออกแบบรายละเอียด เพื่อใช้สรุปเป็นแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้บริการในการสำรวจและออกแบบรายละเอียด ตลอดจนจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคาเพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรม และสอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคม ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วนและวันหยุดเทศกาลช่วงจุดตัดทางหลวงหมายเลข 323 กับทางหลวงหมายเลข 367 และทางหลวงหมายเลข 3199 (แยกแก่งเสี้ยน) ให้เกิดการจราจรคล่องตัว ไม่ติดสัญญาณไฟจราจรในทุกทิศทาง และลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงสนับสนุนแผนงานโครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประทศในอนาคต พัฒนาโครงข่ายคมนาคมในอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และสนับสนุนการพัฒนาและขยายตัวของพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี
ลักษณะโครงการเป็นการสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนจุดตัดทางหลวงหมายเลข 323 กับทางหลวงหมายเลข 367 และทางหลวงหมายเลข 3199 (แยกแก่งเสี้ยน) เพื่อนำเสนอหลักการออกแบบรายละเอียด เพื่อใช้สรุปเป็นแนวทางและรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการ ออกแบบทางแยกต่างระดับให้สอดคล้องกับโครงการของกรมทางหลวงในบริเวณใกล้เคียงและโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทำการวิเคราะห์การจราจรในบริเวณทางแยกและโครงข่าย ทำการสำรวจออกแบบทางแยกต่างระดับเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ลดผลกระทบต่อชุมชน สภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการ แนะนำวิธีการก่อสร้างและนำเสนอรูปแบบในลักษณะ Stage Construction สำหรับการรองรับปริมาณจราจรในอนาคต
แนวคิดในการออกแบทางแยกต่างระดับ บริเวณแยกแก่งเสี้ยนเป็นเนินสูงและลาดลงสู่แม่น้ำ/ลำน้ำ ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก ในขณะที่ทิศใต้เป็นลักษณะที่ราบ และทิศตะวันออกมีลักษณะที่ลาดชันขึ้นสูง ในขณะที่เขตทางของทางหลวงหมายเลข 323 และทางหลวงหมายเลข 3199 เขตทางกว้าง 40 เมตร ทางหลวงหมายเลข 323 ด้านทิศตะวันตก เขตทางกว้าง 30 เมตร และทางหลวงหมายเลข 367 หรือถนนเลี่ยงเมืองเขตทางกว้าง 60 เมตร
ซึ่งเขตทางที่มีขนาดแตกต่างกันทำให้ค่อนข้างมีข้อจำกัดในการกำหนดรูปแบบ โดยแบ่งลักษณะการแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณจุดตัดดังกล่าวเป็น 2 ลักษณะ คือ ออกแบบให้รถทางตรงในทิศทางสำคัญ เคลื่อนที่อิสระ (Free Flow) และออกแบบแก้ปัญหารถเลี้ยวขวาในทิศทางที่ก่อให้เกิดการติดขัด
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางแยก จุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 กับ ทางหลวงหมายเลข 367 (แยกวังสารภี) วัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 324 กับทางหลวงหมายเลข 367 เพื่อนำผลจากการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนมาประกอบการพิจารณาและปรับปรุงโครงการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อตอบสนองนโยบายของกรมทางหลวงในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในด้านการพัฒนาด้านวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
สะพานลอยข้ามทางแยกแนวเส้นทางหลวงหมายเลข 367 ช่องจราจรจำนวน 4 ช่องจราจร ไป 2 ช่องจราจร กลับ 2 ช่องจราจร มีความกว้างของช่องจราจรช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านละ 0.50 เมตร แบ่งแยกทิศทางการจราจรด้วย Barrier ไม่มีอุปสรรคสิ่งกีดขวาง ซึ่งออกแบบแล้วเสร็จเมื่อปี 2564 ไม่มีการเวนคืนที่ดินและไม่ต้องศึกษา EIA
ทั้ง 2 โครงการนั้นใช้งบประมาณปี 67 หากกรมทางหลวงดำเนินก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนชาวกาญจนบุรี รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศไม่ต้องมาเสียเวลาเรื่องรถติด แต่จะทำให้สามารถเดินทางไปยังเป้าหมายปลายทางที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่พักผ่อนได้อย่างรวดเร็วขึ้น ผลที่ตามมาคือเม็ดเงินจะสะพัดในพื้นที่เพิ่มขึ้นในทุกวัน