กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยบริษัทตั้งใหม่เดือน มิ.ย. 67 มีจำนวน 7,351 ราย ทุนจดทะเบียน 27,979.07 ล้านบาท รวม 6 เดือนตั้งใหม่ 46,383 ราย ทุนจดทะเบียน 145,078.60 ล้านบาท คาดครึ่งปีหลังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง ทั้งปีมีสิทธิ์ทะลุ 90,000-98,000 ราย เพิ่ม 5-15% เหตุดิจิทัล วอลเล็ต ต่างชาติมาลงทุน ท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน มิ.ย. 2567 มีจำนวน 7,351 ราย ลดลง 3.61% มูลค่าทุนจดทะเบียน 27,979.07 ล้านบาท ลดลง 29.59% โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 1,416 ราย ลดลง 14.65% มูลค่าทุนจดทะเบียน 4,903.58 ล้านบาท ลดลง 22.10%
ทั้งนี้ การจัดตั้งธุรกิจใหม่รวม 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 46,383 ราย ลดลง 2% ทุนจดทะเบียนรวม 145,078.60 ล้านบาท ลดลง 66% เพราะช่วงเดียวกันของปี 2566 มีบริษัทมูลค่าทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท ควบรวมกิจการกัน 2 บริษัท คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น มีทุนจดทะเบียน 138,208.40 ล้านบาท และการแปรสภาพบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ของ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีมูลค่าทุน 124,435.03 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนในปี 2566 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และการเลิกกิจการช่วง 6 เดือน มีจำนวน 6,039 ราย ลดลง 15% ทุนจดทะเบียน 76,748.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55%
นางอรมนกล่าวว่า การจดทะเบียนตั้งใหม่ช่วงครึ่งปี 2567 ที่มีจำนวน 46,383 ราย เป็นไปตามเป้าที่กรมคาดไว้ที่ 44,000-47,000 ราย โดยแบ่งเป็นธุรกิจภาคบริการ 26,479 ราย คิดเป็น 57.09% ของจำนวนการจัดทั้งหมด ภาคขายส่ง ขายปลีก 15,152 ราย คิดเป็น 32.67% และภาคการผลิต 4,752 ราย คิดเป็น 10.25%
โดยธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ ได้แก่ ภาคขายส่ง ขายปลีก อาทิ ธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์ เพิ่ม 90.91% ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของจักรยานยนต์ เพิ่ม 75% และขายปลีกนาฬิกา แว่นตา และอุปกรณ์ถ่ายภาพ เพิ่ม 73.08% ภาคการผลิต อาทิ ธุรกิจผลิตโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้างและเครื่องประกอบอาคาร เพิ่ม 106.67% ธุรกิจผลิตกระดาษลอนลูกฟูกและกระดาษแข็งลอนลูกฟูก เพิ่ม 104.00% และธุรกิจผลิตส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เพิ่ม 96.77% ภาคบริการ อาทิ ธุรกิจวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี เพิ่ม 132.35% ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารทางรถโดยสารประจำทางอื่น ๆ เพิ่ม 95.24% และธุรกิจก่อสร้างโครงการวิศวกรรมโยธาอื่นๆ เพิ่ม 85.71%
อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกตามขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก S มีสัดส่วนการจัดตั้งสูงสุด 99.64% ของจำนวนการจัดตั้งครึ่งปี 2567 หรือ 46,214 ราย ลดลง 1.91% ธุรกิจขนาดกลาง M สัดส่วน 0.30% หรือจำนวน 142 ราย เพิ่มขึ้น 10.08% และธุรกิจขนาดใหญ่ L สัดส่วน 0.06% หรือจำนวน 27 ราย ลดลง 34.15% และในจำนวนนี้ ตั้งธุรกิจในกรุงเทพฯ 13,819 ราย สัดส่วน 29.79% และส่วนภูมิภาค 32,564 ราย สัดส่วน 70.21%
สำหรับแนวโน้มการตั้งใหม่ครึ่งปีหลัง คาดว่าจะอยู่ที่ 90,000-98,000 ราย เพิ่ม 5-15% โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น นโยบายของภาครัฐ การเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากชาวต่างชาติที่มีการกระตุ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี เช่น มาตรการวีซ่าพำนักระยะยาว มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการผลิตและกิจการ รวมทั้งการลงทุนจากภาครัฐที่กำลังดำเนินการหลังจากที่เริ่มงบประมาณปี 2567 ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน แต่ก็ต้องจับตาปัญหาหนี้สินภาครัวเรือนและภาคธุรกิจ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การใช้จ่ายงบประมาณรัฐ