xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทตั้งใหม่ปี 66 พุ่ง 8.5 หมื่นราย สูงสุด 10 ปี ต่างชาติลงทุน 667 ราย นำเงินเข้า 1.27 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนของคนไทยและต่างชาติ จากคลังข้อมูลธุรกิจ พบทั้งปี 66 มียอดตั้งบริษัทใหม่ ทะลุ 8.5 หมื่นราย เพิ่ม 12% สูงสุดในรอบ 10 ปี มีทุนจดทะเบียน 562,469.64 ล้าน เพิ่ม 31% โดย 3 ธุรกิจที่นิยม อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้างอาคาร ภัตตาคาร ร้านอาหาร ส่วนต่างชาติเข้ามาลงทุนรวม 667 ราย เพิ่ม 14% นำเงินเข้า 1.27 แสนล้าน จ้างงาน 6,845 คน ญี่ปุ่นนำโด่ง ตามด้วยสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง คาดปี 67 ตั้งใหม่แตะ 9.5 หมื่นราย ต่างชาตินำเงินมาลงทุน 1.4 แสนล้าน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำข้อมูลจากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย DBD DataWarehouse+ ทั้งข้อมูลการลงทุนของคนไทยและชาวต่างชาติ จากการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในประเทศพร้อมเงินทุนจดทะเบียน และการลงทุนของชาวต่างชาติภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มาทำการวิเคราะห์และประมวลผลออกมาเป็น “ที่สุดแห่งปี 2566 ด้านการลงทุนในประเทศไทย” เพื่อเป็นข้อมูลให้เห็นถึงแนวโน้มและทิศทางการลงทุน ซึ่งเป็นผลดีต่อนักลงทุน ทั้งผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มเติม หรือนักลงทุนชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เห็นถึงภาพรวมการลงทุนของปีที่ผ่านมาในมุมกว้าง และสามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ในปี 2566 เป็นปีที่มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในรอบ 10 (ปี 2557-2566) โดยจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 85,300 ราย เพิ่มขึ้น 12% มูลค่าทุนจดทะเบียน 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% โดยธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร 4.ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ 5.ธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ 6.ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 7.ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร 8.ธุรกิจขายปลีกสินค้าในร้านค้าทั่วไป 9.ธุรกิจจัดนำเที่ยว และ 10.ธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป

ส่วนการจัดตั้งธุรกิจทั้ง 85,300 ราย พบว่า เป็นการจัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ 25,120 ราย สัดส่วน 29% และ ภูมิภาค 60,180 ราย สัดส่วน 71% โดยในกรุงเทพฯ เขตที่มีการจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เขตวัฒนา ห้วยขวาง และคลองสามวา และธุรกิจที่จัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2.ธุรกิจผับบาร์สถานบันเทิง 3.ธุรกิจขนมอบและเบเกอรี่ 4.ธุรกิจเกม ของเล่น รวมถึงโมเดลสะสม และ 5.ธุรกิจจัดหางาน ส่วนต่างจังหวัด จัดตั้งสูงสุด 3 จังหวัดแรก คือ ชลบุรี ภูเก็ต และนนทบุรี โดยธุรกิจที่จัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์จักรยานยนต์ 2.ธุรกิจเช่าจักรยานยนต์ 3.ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4.ธุรกิจขนส่งทางน้ำ และ 5.ธุรกิจการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี

สำหรับการเลิกประกอบธุรกิจ ปี 2566 มีธุรกิจเลิกประกอบกิจการรวม 23,380 ราย เพิ่มขึ้น 7% มูลค่าทุนเลิก 160,056.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% ธุรกิจที่เลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร

โดยตั้งแต่รับจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลมาตั้งแต่ ปี 2466 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 101 ปี มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทั้งสิ้น 1,877,236 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 29.41 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบัน มีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ 890,317 ราย แบ่งออกเป็น บริษัทจำกัด 689,917 ราย สัดส่น 77.49% ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 198,955 ราย สัดส่วน 22.35% และบริษัทมหาชนจำกัด 1,445 ราย สัดส่วน 0.16%

นางอรมนกล่าวว่า ทางด้านการลงทุนของชาวต่างชาติในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในปี 2566 มีการอนุญาตรวมทั้งสิ้น 667 ราย เพิ่มขึ้น 14% เงินลงทุนรวม 127,532 ล้านบาท ลดลง 1% จ้างงานคนไทยรวม 6,845 คน เพิ่มขึ้น 30% แบ่งเป็นเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 228 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 439 ราย

โดย 10 ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด คือ 1.ญี่ปุ่น 2.สิงคโปร์ 3.สหรัฐฯ 4.จีน 5.ฮ่องกง 6.เยอรมนี 7.สวิตเซอร์แลนด์ 8.เนเธอร์แลนด์ 9.สหราชอาณาจักร และ 10.ไต้หวัน และธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.บริการรับจ้างผลิต 2.บริการด้านคอมพิวเตอร์ (ให้ใช้สิทธิ์โปรแกรม แอปพลิเคชัน พัฒนาซอฟต์แวร์ e-Commerce) 3.บริการให้คำปรึกษาแนะนำ และบริหารจัดการ 4.ค้าส่งสินค้า 5.บริการทางวิศวกรรม 6.บริการให้เช่า (สินค้า ที่ดิน อาคาร) 7.ค้าปลีกสินค้า 8.บริการทางการเงิน (สินเชื่อ ให้กู้ รับค้ำประกันหนี้) 9.คู่สัญญาเอกชน (ขุดเจาะปิโตรเลียม ก่อสร้างโครงการ) และ 10.นายหน้า

ทางด้านการลงทุนในพื้นที่ EEC ในปี 2566 มีจำนวน 134 ราย สัดส่วน 20% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย มูลค่าการลงทุน 38,613 ล้านบาท สัดส่วน 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยนักลงทุน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 2.จีน 3.ฮ่องกง 4.สิงคโปร์ 5.สหรัฐฯ 6.เกาหลีใต้ 7.ไต้หวัน 8.สวิตเซอร์แลนด์ 9.ลักเซมเบิร์ก และ 10.นอร์เวย์ และธุรกิจที่ลงทุน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.บริการรับจ้างผลิต 2.บริการให้เช่า (สินค้า ที่ดิน อาคาร) 3.ค้าส่งสินค้า 4.บริการทางวิศวกรรม 5.ค้าปลีกสินค้า 6.บริการให้คำปรึกษาแนะนำ และบริหารจัดการ 7.บริการทางการเงิน 8.บริการติดตั้ง ซ่อมแซม และบำรุงรักษา 9.กิจการโรงแรม และ 10.การขายอาหารและเครื่องดื่ม

นางอรมนกล่าวว่า ปัจจัยบวกที่จะส่งผลดีต่อการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2567 มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าจะโต 2.7-3.7% กระทรวงการคลังคาด 3.2% และเศรษฐกิจโลก ที่คาดว่าจะโต 2.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว รัฐมีมาตรการส่งเสริมการบริโภค เช่น อี-รีฟันด์ (e-Refund) มาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) มาตรการแก้หนี้นอกระบบ และนโยบายสนับสนุน Soft Power แต่ก็ต้องระวังปัจจัยลบ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนโลก ความผันผวนของตลาดการเงินโลก สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย รวมทั้งปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อสถานการณ์แล้งและต้นทุนราคาอาหาร และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนที่สูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในปี 2567 ได้

ทางด้านกระแสความนิยมหรือเทรนด์ต่าง ๆ ในปี 2567 ที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ เทรนด์สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เทรนด์การใส่ใจสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อม เทรนด์สังคมผู้สูงอายุ

“จากปัจจัยข้างต้น กรมคาดว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ปี 2567 น่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจะมีจำนวนการจัดตั้งอยู่ที่ 90,000-95,000 ราย เพิ่มขึ้น 5-10% และคาดว่าจะมีนักลงทุนชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.4 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10%”นางอรมนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น