xs
xsm
sm
md
lg

ปี 66 ธุรกิจไทยสุดอู้ฟู่ รายได้ 57.86 ล้านล้าน กำไร 2.34 ล้านล้าน ปิโตรฯ แชมป์ ประดับ ยานยนต์ แบงก์ อสังหาฯ โดดเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ทำการวิเคราะห์งบการเงินของนิติบุคคล ที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2566 และได้ส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พ.ค.2567 ปรากฏว่ามีจำนวน 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% ของนิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินทั้งหมด 671,823 ราย โดยได้เข้าไปดูผลประกอบการ การดำเนินธุรกิจ ผลกำไรขาดทุน ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าเจอหลายตัวเลขที่น่าสนใจ และทำให้มองเห็นทิศทางการดำเนินธุรกิจของไทยได้อย่างชัดเจนว่าธุรกิจไหนทำเงิน ธุรกิจไหนเติบโต

โดยผลการวิเคราะห์ผลการดำเนินธุรกิจในปี 2564 พบว่า นิติบุคคลที่ส่งงบการเงิน 581,856 ราย มีรายได้รวมกันสูงถึง 57.86 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจกว่า 2.34 ล้านล้านบาท

กลุ่มภาคการผลิตทำเงินสูงสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากข้อมูลงบการเงินและผลประกอบการของธุรกิจที่ได้รับจากนิติบุคคล จำนวน 581,856 ราย กรมได้นำมาวิเคราะห์เชิงลึกในรายกลุ่มธุรกิจ พบว่า กลุ่มภาคการผลิต ทำรายได้สูงสุดที่ 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด และมีผลกำไร 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด รองลงมา คือ กลุ่มภาคขายส่งปลีก ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% และกลุ่มภาคบริการ ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% และทำกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40%

ธุรกิจปิโตรเคมีแชมป์รายได้สูงสุด

ทั้งนี้ หากเจาะลึกลงไปเป็นรายธุรกิจ พบว่า 10 อันดับแรกที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม สร้างรายได้เป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 3.84 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 7.50% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 3.83 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.89% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

รองลงมา อันดับที่ 2 คือ ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ สร้างรายได้อยู่ที่ 3.12 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 13.67% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 3.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.01% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 3 ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ สร้างรายได้อยู่ที่ 2.39 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 26.42% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 74.53% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 4 ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล สร้างรายได้อยู่ที่ 1.56 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 11.57% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.96% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 5 ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ซึ่งไม่ได้จัดประเภทไว้ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.55 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 5.05% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.45% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 6 ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคล สร้างรายได้อยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.33% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.49% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 7 ธนาคารพาณิชย์ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 21.17% และ 100% เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท

อันดับที่ 8 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างรายได้อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 1.13% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 0.68 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.54% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 9 ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน สร้างรายได้อยู่ที่ 1.02 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 2.38% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 0.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56.95% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

อันดับที่ 10 ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว สร้างรายได้อยู่ที่ 0.96 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.82% และเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) สร้างรายได้มากที่สุดอยู่ที่ 0.91 ล้านล้านบาท คิดเป็น 94.88% ของธุรกิจในกลุ่มนี้

ปัจจัยสนับสนุนการเติบโต

นางอรมนกล่าวว่า ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงสุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะต้องลงทุนสูง และยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับ ก็เติบโตจากการเติบโตของการค้าทองคำและความต้องการเครื่องประดับ ขณะที่ธุรกิจในกลุ่มยานยนต์ ยังเติบโต ทั้งจากความต้องการในประเทศและส่งออก และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับเชื้อเพลิงและพลังงาน ก็เติบโตตามความต้องการใช้รถยนต์ แม้ว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามา

ทางด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็เติบโตได้ดี จากความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตาว่า การเติบโตของกลุ่มปิโตรเลียมและน้ำมันจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มีทางเลือกในการใช้พลังงาน อาจจะส่งผลกระทบบางส่วนต่อรายได้ของธุรกิจกลุ่มนี้

Kidult ดัน Art Toy บูม

นางอรมนกล่าวว่า กรมยังได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี พบว่า ธุรกิจของเล่นไทย อยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประสบปัญหาเช่นเดียวกับหลายธุรกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ขณะนี้กลับมาพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ ด้านการผลิต ชาวต่างชาตินิยมสั่งซื้อของเล่นจากผู้ผลิตไทยเพราะมีคุณภาพที่ดีเยี่ยม จนในปี 2566 สามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้หลายประเทศ สร้างมูลค่าการส่งออกได้มากถึง 8,776.24 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง และไทยเองมีข้อได้เปรียบด้านความสมบูรณ์และคุณภาพของวัตถุดิบอย่างไม้และยางพาราที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตของเล่น

ด้านการขาย ปัจจุบันของเล่นไม่ได้อยู่คู่กับเด็กเท่านั้น หากแต่เกิดกลุ่มที่ชื่อว่า Kidult ขึ้นมาในอุตสาหกรรมของเล่น ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างคำว่า Kid (เด็ก) และ Adult (ผู้ใหญ่) แน่นอนว่าหากเราพิจารณาดี ๆ การจะจ่ายเงินซื้อของเล่นสักหนึ่งชิ้น ไม่ว่าในเวลาต่อมาเจ้าของของเล่นชิ้นนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม แต่การตัดสินใจส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการซื้อ รวมถึงความนิยมของเล่นในกลุ่ม Art Toy ได้สร้างกระแสสำคัญในวงการของเล่นทั่วโลก โดยในประเทศไทยเกิดการแข่งขันสูงในการซื้อขาย Art Toy ผ่านรูปแบบต่าง ๆ ทั้งขายทางหน้าร้าน ขายผ่านออนไลน์ หรือแม้อาชีพนักหิ้ว ก็ยังสร้างได้ไปกับการซื้อขาย Art Toy ด้วย

ประกอบกับความน่าสนใจของ Art Toy เป็นการนำเอาศิลปะจากดีไซเนอร์นักวาดรูปมาผสมกับการตลาดยุคใหม่อย่างการจำกัดจำนวนการผลิตในแต่ละรุ่น เพื่อสร้างคุณค่าให้สินค้าเป็นที่ต้องการ การบรรจุสินค้าอยู่ในกล่องสุ่มที่ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้ตัวหายากหรือ Secret หรือไม่ ซึ่งดีไซเนอร์นักวาดการ์ตูนของไทยก็ได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการสร้าง Art Toy ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและสากล จนกลายเป็นที่ต้องการของ Kidult ในระดับโลกด้วย

“กระบวนการเหล่านี้ จะสร้างการมีส่วนร่วมและความจงรักภักดีแก่ผู้ซื้อให้เป็นส่วนหนึ่งในแบรนด์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการกระตุ้นความน่าสนใจด้วยอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความต้องการครอบครองสินค้าและกลายเป็นกระแสนิยมในตลาดเกิดนักสะสมรุ่นใหม่และเก่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าตลอดระยะเวลาที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และทั้งหมดนี้นำไปสู่วงจรการเติบโตอย่างเข้มแข็งในธุรกิจของเล่นในประเทศไทย”นางอรมนกล่าว

มีธุรกิจผลิต-ขายของเล่นเป็นพันราย

สำหรับธุรกิจของเล่น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิต อาทิ การผลิตของเล่นที่มีล้อ การผลิตตุ๊กตา และเกมต่าง ๆ และกลุ่มขายส่ง ขายปลีก และปัจจุบันมีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นในรูปแบบนิติบุคคลทั้งหมด จำนวน 1,093 ราย แยกเป็นผลิต 238 ราย และขาย 855 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท เป็นส่วนผลิต 2,909.61 ล้านบาท และขาย 2,782.60 ล้านบาท และในนี้ แบ่งเป็นบริษัทจำกัด จำนวน 935 ราย ผลิต 209 ราย และขาย 726 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,517.15 ล้านบาท ผลิต 2,843.11 ล้านบาท และขาย 2,674.04 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 158 ราย ผลิต 29 ราย และขาย 129 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 175.06 ล้านบาท ผลิต 66.50 ล้านบาท และขาย 108.56 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในจำนวนธุรกิจทั้งหมด เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) เป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งธุรกิจมากที่สุด จำนวน 1,024 ราย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของ SME ในธุรกิจของเล่นที่ยังเปิดกว้างให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้ามาลงทุนช่วงชิงตลาด โดยจำนวนนี้เป็นกลุ่มขายมากถึง 804 ราย และผลิต 220 ราย สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นได้ว่าตลาดของเล่นมีการซื้อขายอย่างคึกคักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ส่วนการจัดตั้งธุรกิจของเล่นช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวน 57 ราย ผลิต 50 ราย และขาย 7 ราย โดยทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 67 ล้านบาท ผลิต 56 ล้านบาท และขาย 11 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ระหว่างปี 2565-2566 พบว่า ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจของเล่นจำนวน 120 ราย เพิ่มขึ้น 69.01% มูลค่าทุนจดทะเบียน 2,736.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.52% โดยตลอดปี 2566 ธุรกิจของเล่นสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท ทำกำไรอยู่ที่ 467.62 ล้านบาท โดยกลุ่มขายสามารถพลิกฟื้นธุรกิจพร้อมสร้างกำไรได้อย่างโดดเด่นในปี 2566 มูลค่า 175.07 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีกำไรอยู่ที่ 83.58 ล้านบาท และขาดทุน 42.25 ล้านบาท ในปี 2564

สำหรับการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจของเล่น มีมูลค่าการลงทุนในไทยทั้งหมด 10,068.04 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับ คือ ฮ่องกง มูลค่าการลงทุน 989.37 ล้านบาท จีน มูลค่าการลงทุน 784.16 ล้านบาท และญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 541.81 ล้านบาท

นั่นแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจของเล่น ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และน่าจะเป็นสินค้าดาวรุ่งตัวใหม่ ที่จะเป็นตัวทำเงินและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยหากจับทางถูกอย่างการทำ Art Toy จะยิ่งเพิ่มโอกาสเติบโตมากยิ่งขึ้น และโด่งดังในระดับโลกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น