xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผย TradeTech บูมต่อเนื่อง แนะรัฐปรับกฎระเบียบ หนุนเอกชนใช้ประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.เผย TradeTech มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เหตุมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการค้ายุคดิจิทัล ระบุทั่วโลก รวมถึงองค์กรสำคัญอย่างสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) และองค์การการค้าโลก (WTO) ต่างหนุนการเติบโตของ TradeTech พร้อมแนะปรับปรุงกฎระเบียบ สร้างการเชื่อมต่อระหว่างแพลตฟอร์ม ส่วนไทยพบมีการปรับตัวรองรับหลายด้าน ทั้งแก้กฎหมาย พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก หนุนภาครัฐพัฒนาโครงการพื้นฐาน ปรับปรุงกฎระเบียบ ขอเอกชนทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน TradeTech หรือ Technologies for Trade หมายถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยให้กระบวนการทางการค้ามีประสิทธิภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืนมากขึ้น เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการออกแบบโลจิสติกส์ในท่าเรือให้มีต้นทุนและระยะเวลาน้อยที่สุด และลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ Internet of Thing สำหรับจัดการคลังสินค้า และแจ้งเตือนการบำรุงรักษาเครื่องจักร และการประยุกต์ใช้ Blockchain สำหรับการรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary certificates) เพื่อลดระยะเวลาดำเนินการ และป้องกันการปลอมแปลงเอกสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ TradeTech ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งในการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความโปร่งใส ตลอดจนการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ McKinsey & Company ประเมินว่า หากมีการนำใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading: B/L) ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ จะช่วยให้ต้นทุนของภาคเอกชนลดลงถึง 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้การจัดการเอกสารมีความรวดเร็วขึ้นและเกิดข้อผิดพลาดน้อยลง ซึ่งทำให้ภาคเอกชนทั่วโลกมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้สำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศกว่า 335 องค์กร ในหลายธุรกิจ พบว่า 1. TradeTech ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกทางการค้าและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทาน จึงทำให้ต้นทุนการค้าลดลงและทำให้การค้าสะดวกรวดเร็วเพิ่มขึ้น 2. ก่อให้เกิดสินค้าและบริการดิจิทัลใหม่ๆ 3. สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น และ 4. ทำให้การเชื่อมต่อด้านโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย แต่การนำ TradeTech มาใช้ยังคงเผชิญกับความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล กฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มงวดและกีดกันการเชื่อมต่อของเทคโนโลยี และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ

นอกจากนี้ ยังพบว่าทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาและจัดการอุปสรรคที่กีดกันการพัฒนา TradeTech โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ร่วมกับ WEF จัดทำข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาระบบนิเวศทางการค้า เพื่อรองรับการเติบโตของ TradeTech ได้แก่ 1. ควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างประเทศ เพื่อให้การส่งต่อและเข้าถึงข้อมูลมีความต่อเนื่อง เชื่อถือได้ ราคาไม่แพง และรวดเร็ว ควบคู่กับการกำหนดกฎเกณฑ์สากลสำหรับปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล 2. ควรจัดทำมาตรการกำกับธุรกรรมและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) และการแปลงสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปดิจิทัล (Tokenization) ซึ่งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการดำเนินการทางการค้าได้ 3. ควรพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identities) ของบุคคล นิติบุคคล และสินค้า ให้สามารถส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการค้าได้ทันที รวมถึงกำหนดประเภทข้อมูลที่ต้องปรับปรุงสถานะให้เป็นปัจจุบัน 4. ควรเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มและระบบที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และ 5. ควรปรับปรุงความตกลงและกฎระเบียบทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายย่อย รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสของภาครัฐ

ขณะเดียวกัน WEF และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ริเริ่มโครงการ TradeTech initiative ซึ่งประกอบด้วย การประชุม TradeTech Forum การจัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มของ TradeTech การก่อตั้ง Regulatory Sandbox เพื่อให้บริษัทและ Start-ups ทดลองนวัตกรรม TradeTech และการก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสำหรับ Start-ups ที่พัฒนา TradeTech

สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินการพัฒนาระบบนิเวศทางการค้าให้สามารถรองรับ TradeTech ในหลายด้าน เช่น การปรับปรุงกฎหมายและจัดทำมาตรการกำกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การก่อตั้ง Thailand Digital Valley เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วน และเป็นศูนย์บ่มเพาะ Start-ups และการพัฒนา Port Community System สำหรับการติดตามสถานะและบริหารจัดการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

“ในอนาคตอันใกล้นี้ TradeTech จะมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ภาครัฐจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศทางการค้า และปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้า ให้เอื้อต่อการประยุกต์ใช้ TradeTech และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่วนภาคเอกชนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ TradeTech ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา และพัฒนาทักษะแรงงาน ให้สามารถรองรับกระบวนการทางการค้าในอนาคต เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นายพูนพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น