xs
xsm
sm
md
lg

“ไอทีดี” ปั้นนักเจรจาการค้า เสริมเขี้ยวเล็บคนรุ่นใหม่ให้พร้อม ขึ้นเวทีถกเปิดเสรี-วางกติกาการค้าโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์การค้าโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งด้านการแข่งขันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โครงสร้างประชากร ปัญหาสิ่งแวดล้อม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนแต่ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ หากขาดความเข้าใจในปัญหาและสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผันผวน ก็จะทำให้เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมของประเทศไม่สามารถก้าวทันเกมในกติกาการค้าโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้

ไม่เพียงแค่นั้น ทิศการเจรจาการค้าในปัจจุบันมุ่งเน้นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ร่วมกัน จึงมุ่งจัดทำกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยขณะนี้มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพหุภาคี ระดับภูมิภาค และทวิภาคี แต่ระดับพหุภาคี อย่างองค์การการค้าโลก (WTO) มีความล่าช้าและยืดเยื้อ เพราะมีความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาเจรจาระดับภูมิภาคและทวิภาคีกันมากขึ้นเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ไอทีดี) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรขั้นสูงเกี่ยวกับการทูตเชิงพาณิชย์และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (Advanced Program on Commercial Diplomacy and International Trade Negotiations) ขึ้นมา เพื่อพัฒนานักเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้รู้เท่าทันการเจรจาการค้า การสร้างเครือข่ายนักเจรจาการค้า และการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและของภูมิภาค

นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ไอทีดี)
ที่มาของการทำโครงการ

นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ไอทีดี) มองว่า การเจรจาการค้าระหว่างประเทศในกรอบต่างๆ ที่มีมากขึ้น ทำให้ต้องพัฒนาและผลิตศักยภาพของนักเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย เพราะการเจรจาการค้าในอนาคตจะมีความซับซ้อนมากขึ้น มีประเด็นใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น นักเจรจาต้องรู้เท่าทัน และมีความรู้ มีทักษะที่หลากหลาย ที่จะนำมาใช้ในการเจรจา และอย่างยิ่งการเจรจาบนโต๊ะเจรจาไม่ใช่แค่เจรจากันเท่านั้น แต่ต้องมีเทคนิคการเจรจาการทูตเชิงพาณิชย์เข้ามาปรับใช้ด้วย

ทั้งนี้ หากผู้เจรจาไม่มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์จริง อาจจะกดดัน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ ไอทีดีจึงได้ร่วมมือกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (UNESCAP) จัดโครงการฝึกอบรมครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อปิดจุดอ่อนตรงนี้ และมุ่งสนับสนุนให้นักเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความรู้ความเข้าใจในการเจรจาการค้า ประเด็นใหม่ๆ ที่จะมีการเจรจา และช่วยสร้างเครือข่ายในการเจรจาการค้า ซึ่งจะทำให้ท่าทีทั้งของไทยและภูมิภาคเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

น.ส.สิริกาญจน์ ประเสริฐยิ่ง ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ
โลกเปลี่ยน ต้องเสริมแกร่งนักเจรจา

น.ส.สิริกาญจน์ ประเสริฐยิ่ง ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ ไอทีดี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานของโครงการ เล่าที่มาที่ไปว่า โครงการนี้จัดปีแรกน่าจะเป็นช่วงหลังโควิด-19 เพราะตอนนั้นโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยน การค้าโลกเปลี่ยน การเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็เปลี่ยน ไอทีดีจึงมองว่าทุกคนปิดประเทศ ถ้าเปิดขึ้นมาจะทำยังไงต่อ การเจรจาการค้าก็เปลี่ยน มีการใช้ออนไลน์กันมากขึ้น และอนาคตต่อไปจะเจรจากันยังไง มีประเด็นอะไรที่จะต้องมุ่งโฟกัสและให้ความสำคัญ จึงเป็นที่มาของการเตรียมความพร้อมให้กับนักเจรจา ซึ่งไม่ได้มองแค่นักเจรจาการค้าในประเทศ เรามองถึงภาคเอกชน ที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และนักการทูตพาณิชย์ของประเทศต่างๆ ที่มาประจำอยู่ในประเทศไทยด้วย

ไอทีดีได้คิดหลักสูตรฝึกอบรมหลักสูตรขั้นสูงเกี่ยวกับการทูตเชิงพาณิชย์และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเจรจา เพราะมองว่าการเจรจาการค้าในอนาคตจะมีเรื่องใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตัวนักเจรจาจึงเป็นผู้ที่สำคัญที่สุด ที่จะกำหนดทิศทางการเจรจา แต่การเจรจาก็ต้องมีศาสตร์และศิลป์ ไม่ใช่แค่เจรจาอย่างเดียว ต้องมีความรู้ ความเข้าใจประเทศที่เจรจา เขามีวัฒนธรรมอย่างไร สนใจอะไร ผลประโยชน์อยู่ตรงไหน ที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องการทูตเชิงพาณิชย์ ที่จะต้องเอามาผสมผสานกับการเจรจาการค้าให้เข้ากัน และจะทำให้สามารถตกลงผลประโยชน์ร่วมกันได้

“ถ้าถามว่าทำไมถึงมองเรื่องนี้สำคัญ เพราะไอทีดีมีหน้าที่ มีบทบาท ผลิตนักเจรจารุ่นใหม่ เรามองว่าต้องพัฒนานักเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะการเจรจาการค้ามีกรอบเยอะมาก ทุกวันนี้โลกโปรโมตให้เกิดการค้าเสรี และยังมีการกำหนดกรอบ กฎ กติกา ขึ้นมามากมาย ผู้นำเจรจา นักเจรจา จะต้องรู้เท่าทัน ทันเกม เพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกันให้ได้มากที่สุด”


ใครบ้างที่มีสิทธิ์เข้ามาอบรม

สำหรับคนที่เข้ามาอบรม จะมีทั้งภาคเอกชน นักเจรจาที่อยู่ในกระทรวงต่างๆ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สถาบันการศึกษา นักการทูตของต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ปีนี้มีมาจากบังกลาเทศ ศรีลังกา ติมอร์ และภาคเอกชน โดยปีนี้มีทั้งหมด 24 คน ก็มาจากหน่วยงานเหล่านี้ เอามาอบรมด้วยกันเพื่อให้รู้จักกัน

“ที่เราดึงภาคเอกชนมาเข้าร่วมด้วยเพื่ออยากให้เห็นมุมมองของภาคเอกชน เพราะเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเจรจา จะให้ได้ข้อเสนอแนะในการเจรจา และอยากให้ภาครัฐเห็นฟีดแบ็ก จะได้นำไปใช้ประกอบการเจรจาได้ และการมีนักเจรจาจากประเทศในภูมิภาคเอเชียแฟชิฟิกมาเข้าร่วมก็จะได้เห็นมุมมองของประเทศต่างๆ ในเรื่องเจรจา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับท่าทีเจรจาในอนาคต”


รูปแบบการอบรม

น.ส.สิริกาญจน์กล่าวว่า รูปแบบการฝึกอบรม เดิมใช้เวลา 2-3 วัน แต่ครั้งนี้ปรับใหม่ ใช้เวลา 5 วัน ทำหลักสูตรสุดเข้ม เรียกว่าเป็นหลักสูตรขั้นสูงเลยก็ว่าได้ โดยจัดให้มีการเรียนภาคทฤษฎีจากผู้นำในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศระดับโลกจากประเทศต่างๆ มาอบรม เราเคยเชิญเอกอัครราชทูตที่เป็นนักเจรจา มาให้ความรู้ เล่าประสบการณ์จริง เอามาเล่าให้ฟังเลย การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นยังไง เทคนิคที่เคยใช้อะไร ประสบการณ์จริงเป็นยังไง เพื่อให้นักเจรจาการค้ารุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และเมื่อเข้าสู่เวทีเจรจาจริง จะได้เข้าใจ และปรับตัวได้ หรือปีนี้ได้นักเจรจาจากอินเดียมาแชร์ประสบการณ์ คนคนนี้เป็นคนเจรจาการค้าให้กับอินเดีย และยังมีเอกอัครราชทูต มีผู้แทนการค้า มีอาจารย์มหาวิทยาลัย มีนักเจรจาการค้าที่เก่งๆ มาร่วมแชร์ประสบการณ์ด้วย

“ก็อย่างที่บอก การเจรจาการค้าจะมุ่งเจรจาอย่างเดียว จะเอาผลประโยชน์อย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องมีจุดยืนชัดเจนว่าประเทศเอายังไง และต้องรู้จุดยืนคู่เจรจาเป็นยังไง มันถึงจะคุยกันได้ และหาจุดที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เหมือนกับเราจะรู้จักใครสักคนก็ต้องศึกษามาว่าคนคนนี้เป็นยังไง การศึกษายังไง ชอบไม่ชอบอะไร พอรู้พื้นฐาน เวลาไปคุยก็จะง่าย การเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ต้องรู้ว่าประเทศนั้นๆ คู่เจรจานั้น เป็นยังไง แล้วการเจรจา ไม่ใช่ว่าจะอยู่บนโต๊ะอย่างเดียว บางทีอาจจะจบตอนที่รับประทานข้าวกัน หรือนั่งคุยกันเวทีอื่นก็ได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการเจรจาการทูตเชิงพาณิชย์กับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่เป็นหลักสูตรที่ไอทีดีดำเนินการ และเป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น”

ทั้งนี้ เมื่อสอนให้เรียนรู้เทคนิคการเจรจาแล้ว ก็จะจัดจำลองสถานการณ์จริง จัดเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสมือนจริง โดยจำลองเหตุการณ์ขึ้นมา กำหนดหัวข้อเจรจาขึ้นมา และให้คนที่เข้ารับการอบรมอยู่กันคนละฝั่ง เพื่อให้ได้เจรจากันจริงๆ เพื่อให้ฝึกทักษะเจรจา โดยจะมีคอมเมนเตเตอร์คอยกำกับดูแล จะดูว่าการเจรจาเหมาะสมหรือไม่ เข้มไปไหม หรือท่าทีเป็นยังไง เป็นการฝึกคนให้พร้อมสำหรับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในอนาคต


ปีนี้ให้ความสำคัญดิจิทัลเทรด

สำหรับการจัดอบรมที่ผ่านมา นอกจากจะฝึกนักเจรจาให้เป็นนักเจรจาที่ดีแล้ว ยังมีประเด็นที่มองกันว่าอะไรจะเป็นเรื่องสำคัญ และมีการเจรจากันต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งปีแรกๆ ประเด็นเจรจาที่หลายประเทศให้ความสำคัญจะเป็นเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อม เรื่องสภาพภูมิอากาศ จนต่อมาหลายๆ ประเทศมีมาตรการออกมา อย่างสหภาพยุโรปมีเรื่อง CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เป็นต้น

ส่วนปีนี้ ประเด็นที่หลายประเทศให้ความสนใจ คือ เรื่องดิจิทัลเทรด เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น จะค้าขายกันยังไง เก็บภาษียังไง การค้าข้ามพรมแดนเป็นยังไง และต่อไปจะมีการกำหนดกฎ กติกาในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น เพราะหากมองไปในอนาคตจะเจอทั้งเรื่องเอไอ ดิจิทัล เทรด อีคอมเมิร์ซ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การอบรมในปีนี้ก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และน่าจะเป็นประเด็นหลักสำหรับการเจรจาการค้าในอนาคตเลยก็ว่าได้

ไม่เพียงแค่ประเด็นใหม่ที่คนเป็นนักเจรจาต้องรู้ แต่จะต้องรู้ทิศทางโลก อย่างตอนนี้ ขั้วอำนาจเศรษฐกิจโลกจมีหลายขั้วมาก แต่ละขั้วเป็นยังไง ท่าทียังไง หรืออย่างกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ที่กำลังขยายตัว กำลังจะเป็นกลุ่มที่คานอำนาจขั้วเศรษฐกิจโลก ไทยควรจะเข้าหรือไม่ เข้าแล้วจะเป็นยังไง หรือนโยบายกลุ่มนี้เป็นยังไง เป็นเรื่องที่นักเจรจาต้องรู้ทั้งหมด


เป้าหมายที่ต้องการ

น.ส.สิริกาญจน์กล่าวว่า สิ่งที่ไอทีดีต้องการและคาดหวังจากการจัดโครงการนี้ คือ ในฐานะที่ไอทีดีเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้และการพัฒนาคน ก็อยากจะช่วยพัฒนานักเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เป็นแรงเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต และไม่ใช่แค่นักเจรจาในประเทศไทย แต่มองถึงนักเจรจาของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย เพราะการเจรจาการค้า การทำการค้า ต้องมีพวก มีเพื่อน เราค้าขายคนเดียวไม่ได้ เจรจาการค้าคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องร่วมมือกันถึงจะสำเร็จ

“โครงการปีนี้มีภาคเอกชนเข้ามาอบรม มีนักเจรจาจากกระทรวงต่างๆ มาเข้าร่วม และมีนักการทูตจากต่างประเทศอีก 8-9 คน คนเหล่านี้จะเป็นผู้นำการเจรจาในอนาคต อย่างภาคเอกชนก็จะเป็นคนขับเคลื่อนการค้า เขารู้ว่าต้องการอะไร ก็จะมาบอกภาครัฐ ส่วนภาครัฐก็จะรู้ว่าจะต้องสนับสนุนเอกชนยังไง เป็นเวทีที่จะเจอกันทั้งรัฐ เอกชน ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น การเจรจาจะง่ายขึ้น เพราะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือถ้าให้ใหญ่กว่านั้น เมื่อนักเจรจาในภูมิภาคมองการเจรจาเป็นท่าทีเดียวกัน ก็จะขับเคลื่อนการเจรจาได้ง่าย เป็นประโยชน์ทั้งต่อไทยและประเทศในภูมิภาค”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากจบโครงการ

น.ส.สิริกาญจน์สรุปว่า เมื่อจบโครงการนี้ไปแล้วจะมีนักเจรจาที่มีความพร้อมในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของประเทศในอนาคต นักเจรจาจะมีความรู้ความเข้าใจนโยบายการค้า กฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ ได้ประสบการณ์ และจะมีการสร้างเครือข่ายระหว่างนักเจรจาด้วยกัน เพราะเมื่อรู้จักกันแล้ว ต่อไปเมื่อเจอกันในเวทีเจรจาการค้าก็จะทำให้การเจรจาง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ ประเทศไทยจะมีนักเจรจารุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ และสามารถทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนได้ดีขึ้น อันจะนำมาซึ่งการกำหนดนโยบายในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น และส่งผลให้ไทยมีบทบาทนำในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น