xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อนุมัติแผนการคลังระยะปานกลางปีงบฯ 68-71 ไฟเขียวไทยประสงค์ร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 พร้อมทั้งมีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS

วันนี้ (28 พ.ค.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พฤษภาคม 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2531) ฉบับทบทวน ครั้งที่ 2 ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 สถานะและประมาณการการคลัง และส่วนที่ 3 เป้าหมายและนโยบายการคลัง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 2567 คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 (ค่ากลางร้อยละ 2.5) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 0.8 สำหรับในปี 2568 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) และ GDP Deflator อยู่ที่ร้อยละ 1.2 สำหรับในปี 2569 และ 2570 คาดว่า GDP จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 (ค่ากลางร้อยละ 3.2) และในปี 2571 และ 2572 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 (ค่ากลางร้อยละ 3.0) สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 และ 2570 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9-1.9 และช่วงร้อยละ 1.1-2.1 ตามลำดับ ส่วนในปี 2571-2572 มีแนวโน้มจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.3-2.3
2. สถานะและประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) - 2571 เท่ากับ 2,797,000 2,887,000 3,040,000 3,204,000 และ 3,394,000 ล้านบาท ตามลำดับ
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) - 2571 เท่ากับ 3,602,000 3,752,700 3,743,000 3,897,000 และ 4,077,000 ล้านบาท ตามลำดับ

2.3 จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) - 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณจำนวน 805,000 865,700 703,000 693,000 และ 683,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 4.5 3.5 3.3 และ 3.1 ต่อ GDP ตามลำดับ
2.4 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.4 ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567 (ทบทวน) - 2571 เท่ากับร้อยละ 65.7 67.9 68.8 68.9 และ 68.6 ตามลำดับ

3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลัง (Fiscal Discipline) อย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลด และยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง (Fiscal Buffer) ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น (Policy Space) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ ยังคงยึดเป้าหมายตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ฉบับทบทวน กล่าวคือ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง จะเป็นแผนแม่บทหลักให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคการคลังของประเทศในด้านต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต

นายชัย ยังกล่าวอีกว่า ครม. มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน รัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

โดยในการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 15 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเอกสารการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS หลักการชี้แนะ มาตรฐาน หลักเกณฑ์ และกระบวนการขยายสมาชิก ซึ่งกำหนดกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จำนวน 6 ขั้นตอน และมีหลักการแนวทางสำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการเงิน (3) ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรี

มาตรฐานและหลักเกณฑ์สำหรับการขยายสมาชิกภาพของกลุ่ม BRICS เช่น มีความสัมพันธ์ทางการทูตและความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐสมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้งหมด ยอมรับถ้อยแถลงและปฏิญญาต่างๆ ของกลุ่ม BRICS เป็นต้น

โดย กต. ได้ดำเนินการยกร่างหนังสือแสดงความประสงค์ โดยระบุวิสัยทัศน์ของไทยที่ให้ความสำคัญต่อระบบพหุภาคีนิยมและการเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของกลุ่ม BRICS

การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในหลายมิติ เช่น ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น