xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” วิเคราะห์ “โมดี” นั่งนายกฯ สมัย 3 ไม่เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ-การค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” วิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้า หลัง “นเรนทรา โมดี” ชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ติดต่อกัน เผยไม่มีผลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศและการค้าในระยะยาว คาดยังคงนโยบายเดิมไม่เปลี่ยนมากนัก ทั้งมุ่งพึ่งพาตนเอง การผลักดันส่งออก การเจรจาทำ FTA “ภูมิธรรม” สั่งเร่งอัปเกรด FTA ที่มีกับอินเดีย 2 ฉบับ และผลักดันสินค้าไทยขายทั้งออฟไลน์ ออนไลน์

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ถึงผลการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้า จากการที่นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย จากพรรค BJP ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 และได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน โดยคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบในการกำหนดทิศทางนโยบายด้านต่างประเทศและการค้าต่างประเทศในระยะยาว เพราะรัฐบาลอินเดียจะยังคงนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศไว้ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการวิเคราะห์ เนื่องจากพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Alliance : NDA) ประกอบด้วยพรรค BJP ของนายโมดี และพรรคแนวร่วมที่สำคัญ โดยเฉพาะพรรค TDP และพรรค JDU ก็มีนโยบายที่คล้ายคลึงกับนายโมดี ประกอบกับที่ผ่านมาอินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและเป็นเอกเทศ สนับสนุนโลกหลายขั้วอำนาจ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งส่งผลดีต่ออินเดียอย่างชัดเจนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างระหว่างจีน-สหรัฐฯ นำไปสู่การยกระดับอินเดียสู่ระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกแทนที่จีน และพาอินเดียเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่

นอกจากนี้ อินเดียเพิ่งมีการเริ่มใช้นโยบายด้านการค้าต่างประเทศใหม่ปี 2566 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 จากเดิมที่มีการใช้นโยบายการค้าต่างประเทศในช่วงปี 2558-2563 จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาดการณ์ว่าทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับสภาวะปัจจุบันและก่อนหน้านี้ของอินเดีย โดยนโยบายปี 2566 ได้กำหนดแผนงานในการบูรณาการอินเดียเข้ากับตลาดโลก และทำให้อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยเพื่อสนับสนุนปรัชญา “อัตมานิรภาร์ ภารัต” (Atmanirbhar Bharat) หรือนโยบายพึ่งพาตนเองของอินเดีย ในการส่งเสริมสินค้าอินเดียในตลาดห่วงโซ่อุปทานโลก ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการส่งออกโลก มุ่งเน้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร โอมาน ศรีลังกา ออสเตรเลีย และเปรู โดยล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2567 ที่ผ่านมาอินเดียได้ลงนามความตกลง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์

ทั้งนี้ ผลการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่งของอินเดีย สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการส่งออกของอินเดียที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย. 2566-มี.ค. 2567) โดยการส่งออกสินค้าและบริการของอินเดียรวมกันมีมูลค่าสูงกว่า 776.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าต่างประเทศของอินเดียต่อไป เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดที่น่าจับตามองจากนานาประเทศ จากขนาดตลาดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกมากกว่า 1,400 ล้านคน และเมื่อเร็วๆ นี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังคาดว่าอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2568 รองจากสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี

“อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย 10 ประเทศสำคัญที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งผลักดันการใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลง FTA ที่ไทยมีกับอินเดียทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างการยกระดับความตกลงให้มีความทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทย รวมถึงผลักดันสินค้าไทยให้สามารถจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ของอินเดีย” นายภูมิธรรมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น