xs
xsm
sm
md
lg

“สุชาติ” มอบนโยบายกรมเจรจาฯ เร่งปิดดีล FTA ตั้งกองทุนดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุชาติ” มอบนโยบาย “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” เดินหน้าเจรจา FTA เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ขอเร่งสรุปไทย-เอฟตา ไทย-อียู อาเซียน-แคนาดา ตามเป้า เดินหน้า 2 กรอบใหม่ ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-ภูฏาน และตั้งกองทุน FTA ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการทำงานให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ว่า ได้ขอให้เดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่เจรจา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการของไทย เพราะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญต่อการเจรจา FTA เพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก โดยจะต้องเร่งรัดหาข้อสรุป FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และอาเซียน-แคนาดา ให้สำเร็จโดยเร็ว และเดินหน้าการเจรจา FTA ที่เพิ่งเปิดใหม่ 2 ฉบับ คือ ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน รวมถึงการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

“มั่นใจว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ประกอบไปด้วยข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นมืออาชีพในการเจรจา สามารถเดินหน้าการเจรจา FTA กรอบต่างๆ ตามนโยบายรัฐบาลได้อยู่แล้ว โดยผมพร้อมที่จะช่วยเหลือในส่วนที่ขาด อย่างเรื่องงบประมาณ หรือความร่วมมือระหว่างกระทรวง หากติดขัดก็ให้แจ้งมา จะได้นำเสนอขอนโยบายจากนายภูมิธรรม และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้การเจรจา FTA เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศสำเร็จตามเป้าหมาย” นายสุชาติกล่าว

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้รายงานผลการจัดทำ FTA ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมี FTA จำนวน 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศคู่ค้า โดย FTA ไทย-ศรีลังกา เป็นฉบับล่าสุด และกำลังเร่งหาข้อสรุปการเจรจา ได้แก่ ไทย-เอฟตา ไทย-อียู อาเซียน-แคนาดา ซึ่งจะเร่งดำเนินการตามนโยบายให้สำเร็จโดยเร็ว ส่วนไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน เพิ่งเริ่มต้นการเจรจา แต่ก็จะเร่งรัดการเจรจาให้สำเร็จตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังมีแผนใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาทางการค้า เพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น มาเลเซีย จีน และสหราชอาณาจักร การเข้าร่วมประชุมเวทีเจรจาระหว่างประเทศ เช่น APEC และ WTO การผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ การผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอย่างเป็นระบบ รวมทั้งจะเร่งส่งเสริมธรรมาภิบาลในองค์กร และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (DTN e-services) เพื่อให้บริการต่อผู้ประกอบการและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น