xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลดันนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก รักษาตลาดเดิมเพิ่มการเจรจา FTA ใหม่กับประเทศเป้าหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลมุ่งขับเคลื่อน ‘นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ เน้นรักษาตลาดเดิม เพิ่มการเจรจา FTA ใหม่กับประเทศเป้าหมาย ขยายการค้า ดึงดูดการลงทุน และสร้างรายได้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าได้ข้อสรุป FTA เกาหลีใต้ UAE EFTA ในปี 2567

วันนี้ (14ม.ค.) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่ารัฐบาลเห็นประโยชน์และความสำคัญของความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ในฐานะเครื่องมือเสริมสร้างขีดความสามารถส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยได้ผลักดันการเจรจาขยายโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนผ่านการรักษา FTA กับประเทศคู่ค้าเดิม และจัดทำFTA กับประเทศคู่ค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำชับใช้ประโยชน์สูงสุดจาก FTA เอื้อให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สอดรับกับ ‘นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย และสร้างรายได้เข้าประเทศ

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งระบุว่า ปัจจุบันไทยได้เจรจาจัดทำ FTA สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยทั้งสิ้น 14 ฉบับกับคู่ค้า 18 ประเทศ/ดินแดน ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี ฮ่องกง และประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 11 ฉบับ โดยจะเป็นการยกระดับ FTA ที่มีอยู่แล้ว 5 ฉบับ เพื่อปรับปรุงความตกลงกับประเทศคู่ค้าเดิม และเป็นการพัฒนา FTA ใหม่ทั้งสิ้น 6 ฉบับ เพื่อขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญเป้าหมายใหม่ในหลาย ๆ ภูมิภาค

โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาจัดทำ FTA กับประเทศศรีลังกาเป็นผลสำเร็จ โดยมีแผนลงนามความตกลง FTA ฉบับดังกล่าวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะเป็น FTA แรกภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย ทั้งนี้ ในช่วงปี 2567 ไทยมีเป้าหมายในการเจรจา FTA เพิ่มเติมอีก 3 ฉบับ ได้แก่ (1) การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ เพื่อต่อยอดการเปิดเสรีเพิ่มเติมจาก FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ที่มีอยู่แล้ว (2) การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าของไทยสู่ตลาดตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น และ (3) การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) เพิ่มเติม เพื่อสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และในช่วงปี 2568 ไทยมีเป้าหมายในการเจรจา FTA เพิ่มเติมกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหภาพยุโรป

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า FTA ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ถูกจำกัดการนำเข้า รับสิทธิพิเศษ และได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทำ FTA จะต้องศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงการศึกษาประโยชน์ ข้อท้าทาย และผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก FTA พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนก่อนดำเนินการเจรจา เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องชาวไทย

“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการเจรจาใช้ FTA เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ขับเคลื่อน ‘นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ ให้เกิดประโยชน์จริงแก่ประชาชน โดยโฆษกรัฐบาลย้ำแนวทางการทำงานของนายกรัฐมนตรีว่า ต้องการขยายโอกาสทางการค้า และดึงดูดการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งในเวทีโลกและยกระดับความเป็นอยู่คนไทย ทำการทูตที่กินได้ จับต้องได้ ได้ประโยชน์จริง” นายชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น