กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รับนโยบาย “ภูมิธรรม” กางแผนทำงานครึ่งหลังปี 67 เดินหน้าเจรจา FTA ทั้งกรอบใหม่ ที่ค้างการเจรจา และอัปเกรดของเดิม พร้อมใช้เวที JTA แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าและร่วมมือเศรษฐกิจกับคู่ค้าสำคัญ เดินหน้าชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA ให้กับเกษตรกร SME ดันกองทุน FTA ถาวรให้สำเร็จ
น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และแผนการทำงานครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 82 ปี ว่า กรมได้ขานรับนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้เร่งการเจรจาเชิงรุก เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งผลักดันการใช้ประโยชน์ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย SME โดยเฉพาะรายเล็ก ให้สามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ของโลก พร้อมทั้งนำผลของการเจรจาไปสื่อสารทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก
ทั้งนี้ ผลการทำงานที่ผ่านมา กรมได้ขับเคลื่อนการทำงานตามวิสัยทัศน์ “ขับเคลื่อนการเจรจาการค้าเชิงรุก เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ครอบคลุม 80% ของการค้าไทยกับโลก ภายในปี 2570” โดยล่าสุดวันที่ 3 ก.พ.2567 ลงนาม FTA กับศรีลังกา เป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย วันที่ 28 มี.ค.2567 ลงนามเอกสารการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี นับหนึ่งการเริ่มต้นเจรจา FTA ระหว่างกัน และวันที่ 26 เม.ย.2567 ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเริ่มเจรจา FTA ไทย-บังกลาเทศ รวมทั้งได้ผลักดันการเจรจา FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา ทั้งไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และอัปเกรด FTA ที่มีอยู่เดิม ในกรอบอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ส่วนแผนการทำงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 กรมจะเข้าร่วมการประชุมสำคัญ อาทิ การประชุมหารือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ที่กรุงเทพฯ การประชุมคณะกรรมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA-TNC) ครั้งที่ 10 ที่เวียดนาม การประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-อียู รอบที่ 3 ที่เบลเยียม การประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-EFTA รอบที่ 10 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA อาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 8 ที่กรุงเทพฯ การประชุมเจรจายกระดับ FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) รอบที่ 9 ที่กรุงเทพฯ และการประชุมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-เกาหลี ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ ยังมีแผนใช้เวทีการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ มีแผนจะประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ภูฏาน มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และจีน
น.ส.โชติมากล่าวว่า กรมจะจับมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ศอ.บต. ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SME ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำผลสำเร็จจากการเจรจา FTA ไปชี้ช่องโอกาสและลู่ทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนจะลงพื้นที่ในต่างจังหวัด อาทิ ลำปาง ยะลา จันทบุรี และราชบุรี เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในพื้นที่ ทั้งอัญมณี และเครื่องประดับ โกโก้ ผลไม้ พริกไทย กล้วยหินแปรรูป มะพร้าวน้ำหอม และกุ้งก้ามกราม ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ขณะเดียวกัน จะให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในภาคการผลิต ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือ โดยพิจารณาตามความคิดเห็นที่ได้รับ รวมถึงการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องและหลักเกณฑ์ในการใช้เงินกองทุน เพื่อประกอบการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป
ส่วนงานด้านอื่น ๆ กรมจะใช้ศูนย์บริการข้อมูล FTA Center ณ ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) อัตราภาษี พิกัดศุลกากร ข้อมูลผู้นำเข้า-ส่งออก และสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยให้บริการข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยที่สุด และยังสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ http://ftacenter.dtn.go.th หรือ Call Center 0 2507 7555 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จาก FTA ถือเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก