กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดลิสต์สินค้า GI ที่ทำรายได้จากการส่งออกสูงสุดและสร้างรายได้ในประเทศสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 66 พบทุเรียนหมอนทองระยอง นำโด่งส่งออก ตามด้วยทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ส่วนในประเทศ ทุเรียนหมอนทองระยองก็ครองแชมป์ เตรียมจับมือทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด หาตลาดและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า GI รายการอื่นต่อ พร้อมดันขึ้นทะเบียน GI เพิ่ม
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้สำรวจสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรก ในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ทุเรียนหมอนทองระยองเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 15,645 ล้านบาท โดยมีตลาดสำคัญคือ จีน อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 4,890.2 ล้านบาท ตลาดสำคัญคือ จีน และมาเลเซีย อันดับ 3 มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มูลค่า 285 ล้านบาท ตลาดส่งออกคือ จีน สหรัฐฯ แคนาดา และฝรั่งเศส อันดับ 4 มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว มูลค่า 107 ล้านบาท ตลาดสำคัญคือ ฮ่องกง
ส่วนอันดับ 5 มังคุดทิพย์พังงา มูลค่า 80.12 ล้านบาท ตลาดคือ จีน และเวียดนาม อันดับ 6 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า (จ.ฉะเชิงเทรา) มูลค่า 35 ล้านบาท ตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อันดับ 7 กล้วยหอมทองเพชรบุรี มูลค่า 24 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น อันดับ 8 ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร มูลค่า 10.4 ล้านบาท ตลาดจีน อันดับ 9 กล้วยตากบางกระทุ่ม พิษณุโลก มูลค่า 10 ล้านบาท ตลาดซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ตุรกี บรูไน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์ และอันดับ 10 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มูลค่า 9.45 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย
“สินค้า GI ที่สร้างรายได้เข้าประเทศข้างต้น เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของไทยอยู่แล้ว แต่การเป็นสินค้า GI ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ส่วนสินค้า GI ที่ยังมีมูลค่าส่งออกน้อย กระทรวงพาณิชย์ ทั้งทูตพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ และพาณิชย์จังหวัดได้ร่วมมือกันหาตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของนายภูมิธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าจะสร้างรายได้จากการส่งออกได้อีกมาก” น.ส.กนิษฐากล่าว
สำหรับสินค้า GI ที่ขายดีและทำรายได้สูงสุดสำหรับตลาดในประเทศ 10 อันดับแรก ที่กรมได้รวบรวมข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศในปี 2566 อันดับ 1 ได้แก่ ทุเรียนหมอนทองระยอง มูลค่า 20,530.8 ล้านบาท อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 6,661.2 ล้านบาท อันดับ 3 น้ำตาลโตนดเมืองเพชร มูลค่า 4,813 ล้านบาท อันดับ 4 กล้วยหอมทองปทุม มูลค่า 3,268 ล้านบาท อันดับ 5 มะนาวเพชรบุรี มูลค่า 3,061.4 ล้านบาท อันดับ 6 กุ้งก้ามกรามบางแพ (จ.ราชบุรี) มูลค่า 2,570 ล้านบาท อันดับ 7 ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ มูลค่า 2,360.5 ล้านบาท อันดับ 8 ข้าวหอมมะลิพะเยา มูลค่า 1,969.7 ล้านบาท อันดับ 9 ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา มูลค่า 1,579.2 ล้านบาท และอันดับ 10 มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว (จ.สมุทรสาคร) มูลค่า 1,460 ล้านบาท
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะยังคงเดินหน้าส่งเสริม และผลักดันให้สินค้าท้องถิ่น สินค้าอัตลักษณ์ของพื้นที่ต่างๆ ขึ้นทะเบียน GI อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมช่องทางการตลาด จากปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไอในประเทศแล้ว 205 รายการ และขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 8 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดรวมกว่า 71,000 ล้านบาท