“นภินทร” มอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับ “กล้วยหอมทองเพชรบุรี” มั่นใจช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น หลังปัจจุบันทำเงินให้กว่าปีละ 580 ล้านบาท เผยเตรียมเข้าส่งเสริมทำระบบควบคุมคุณภาพ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และเพิ่มช่องทางการตลาดให้ต่อเนื่อง
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับสินค้ากล้วยหอมทองเพชรบุรี ให้กลุ่มเกษตรกรกล้วยหอมทองเพชรบุรี ซึ่งเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 5 ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่งขึ้นทะเบียนตัวล่าสุดของจังหวัดเพชรบุรีเมื่อเดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมา และมั่นใจว่าหลังจากขึ้นทะเบียน GI แล้วจะช่วยให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร และสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ผลิตกล้วยหอมทองเพชรบุรีได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับลักษณะเด่นของกล้วยหอมทองเพชรบุรี มีเปลือกบาง เนื้อกลัวยมีสีครีมถึงเหลืองอ่อน ไร้เมล็ด เนื้อเนียนละเอียด ละมุน นุ่มฟู ไส้ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน ทำให้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการกว่า 580 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังได้รับความนิยมในตลาดญี่ปุ่นที่มีการส่งออกกว่า 7,100 ตันต่อปี และเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ
“หลังจากมอบประกาศขึ้นทะเบียน GI ให้กับกล้วยหอมทองเพชรบุรีแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมผู้ผลิตและผู้ประกอบการกล้วยหอมทองเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค การส่งเสริมการตลาดให้กับกล้วยหอมทองเพชรบุรี ทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การขยายช่องทางการตลาดทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อทางโอกาสทางการค้าให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการกล้วยหอมทองของเพชรบุรีให้เพิ่มขึ้น และการผลักดันให้กล้วยหอมทองเพชรบุรีขึ้นทะเบียน GI ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป” นายนภินทรกล่าว
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วย GI เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน ผลักดันการขึ้นทะเบียนสินค้า GI และการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน ตลอดจนมีการส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI ไทย และด้วยสินค้า GI มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่แหล่งผลิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้สินค้ามีอัตลักษณ์เฉพาะตัว จึงทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
ปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 203 รายการ สร้างมูลค่ากว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในชุมชน นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดใดที่สนใจนำสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ สามารถนำมาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368