xs
xsm
sm
md
lg

‘รถไฟฟ้าสีส้ม’ ยังไม่จบ! ต้องลุ้นด่านสุดท้าย ครม.ชี้ชะตา "ไฟเขียวหรือพลิกเกมล้มกระดาน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มน่าจะเดินหน้าได้เสียที หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นคดีทางปกครองคดีสุดท้าย โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นยกฟ้องนั้น ถือเป็นการปลดล็อกข้อพิพาทที่ทำให้โครงการชะงักมาเกือบ 4 ปี

@ฟ้องร้องจบทุกคดี “สุริยะ” เร่งชง ครม.ภายใน 1 เดือน

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ประเด็นพิพาทการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ สายสีส้มในศาลปกครอง มีคำพิพากษาถึงที่สุดทุกคดีแล้ว และล่าสุดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เสนอผลการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ ที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด มาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กระทรวงคมนาคมมีระยะเวลาในการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

โดยเมื่อ ครม.มีมติให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ แล้ว รฟม.จะมีการลงนามในสัญญากับเอกชน โดยมีแผนเร่งเปิดให้บริการ ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในเดือนพฤษภาคม 2571 และเปิดให้บริการตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในเดือนพฤศจิกายน 2573


@ย้อนรอย BTSC ฟ้องศาลปกครอง 3 คดี ยกฟ้องหมด

มหากาพย์คดีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เริ่มต้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ ต่อมามีการปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ใหม่ จนต้องยกเลิกการประมูลรอบแรกและเปิดประมูลรอบ 2 ทำให้ BTSC ยื่นฟ้องต่อเนื่อง จนกระทั่ง รฟม.สรุปผลว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประกวดราคา

ในขณะนั้น "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งมี 5 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 1-4 นั้นเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ส่วนรัฐมนตรีนั้นจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนที่ 5 ซึ่ง รฟม.ได้รายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าเรื่องยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้น จะต้องรอให้กระบวนการยุติธรรมมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดก่อน ตอนนี้ยังไม่มีกระบวนการที่จะนำเสนอเข้า ครม.แต่อย่างใด ไม่อยากให้มโนไปเอง แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ ความรับผิดชอบตามอำนาจ และกฎหมายที่มี หลักการทำงานของตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คือยึดระเบียบกฎหมายหลักธรรมาภิบาล

แม้ในช่วงท้ายรัฐบาลชุดที่แล้วจะมีการเสนอที่ประชุม ครม. แต่ ครม.ในขณะนั้นมีความเห็นว่าเนื่องจากยังมีประเด็นฟ้องร้อง กันอยู่ที่ศาลปกครอง จึงควรรอให้คดีสิ้นสุดที่ศาลปกครองก่อนตามคำแนะนำของคณะกรรมการกฤษฎีกา


ย้อนรอยคดีพิพาท การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เอกชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง 3 คดี และยื่นเป็นคดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี

แยกเป็นคดีการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ที่ออกประกาศเชิญชวนฯ วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และต่อมาได้ประกาศยกเลิก ประกาศเชิญชวนฯ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 มีดังนี้

1. คดีหมายเลขแดงที่ อ.168/2566 BTSC ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเด็นการแก้ RFP ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิด BTSC
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยเห็นว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ RFP โดยชอบแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อBTSC สถานะคดีถึงที่สุดแล้ว

2. คดีหมายเลขแดงที่ อ.254/2566 BTSC ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเด็นการยกเลิก การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 โดยเห็นว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจในการยกเลิกการคัดเลือกและใช้ดุลพินิจในการยกเลิก โดยชอบ สุจริต และไม่เลือกปฏิบัติ สถานะคดีถึงที่สุดแล้ว

3. คดีหมายเลขแดงที่ อท.133/2565 BTSC ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเด็นการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก โดยทุจริต

ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 โดยเห็นว่าการแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต สถานะอยู่ระหว่างศาลพิจารณาอุทธรณ์ของ BTSC

คดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ ประกาศเชิญชวนฯ วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 มีดังนี้
1. คดีหมายเลขแดงที่ อ.574/2567 BTSC ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ประเด็นการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดยเห็นว่าประกาศเชิญชวนและ RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดำเนินการถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้และชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่เป็นการทำละเมิดต่อ BTSC สถานะคดีถึงที่สุดแล้ว

2. คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


@สรุปคำพิพากษาคดีสุดท้าย ชี้ RFP ประมูลรอบ 2 ตาม กม.

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องประกาศเชิญชวนและเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (เอกสาร RFP) ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

สรุปว่า การดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คณะรัฐมนตรีอนุมัติเฉพาะหลักการในการดำเนินโครงการ ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่ปรากฏหลักเกณฑ์วิธีการ หรือการกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือคุณสมบัติในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม.ดำเนินการคัดเลือก โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และนำความเห็นจากเอกชนมาจัดทำประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP โดยได้พิจารณากำหนดเงื่อนไข หรือหลักเกณฑ์ทางเทคนิคต่างๆ ในประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP ตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความโปร่งใส ประโยชน์สูงสุดแห่งรัฐ เพื่อให้รัฐได้ผู้รับจ้างที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้บรรลุตามวัตถุประสงค์แล้ว

ดังนั้น ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
“ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ยกฟ้อง”


@เปิดเดินรถด้านตะวันออกเร็ว ปชช.ได้ประโยชน์-แก้ปัญหาค่าดูแลโครงสร้างเดือนละ 41 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ (Heavy Rail) วงเงินลงทุนรวมกว่า 1.4 แสนล้าน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 39.8 กม. แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กม. และส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทาง 22.57 กม.ซึ่งด้านตะวันออกก่อสร้างงานโยธาเสร็จ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ทำให้ตอนนี้ รฟม.มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูแลรักษาโครงสร้างงานโยธา (Care of Work) เฉลี่ยเดือนละ 41.26 ล้านบาท ดังนั้น หากยิ่งล่าช้าจะยิ่งเกิดความเสียหายต่อภาครัฐ และประชาชนเสียประโยชน์ที่จะได้ใช้บริการ

ขณะที่ BEM ผู้ได้รับคัดเลือกตอบ รฟม. ยืนราคาที่ได้ยื่นข้อเสนอและ รฟม.ได้มีการเจรจาต่อรองโดยคิดเป็นผลประโยชน์สุทธิ PV ขออุดหนุนที่ 78,288 ล้านบาท (มาจากเงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม. หักลบด้วยจำนวนเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.) ซึ่งต่ำกว่าผลศึกษาหรือราคากลางประมาณ 7%


@ยังไม่จบ! ลุ้น ครม.ด่านสุดท้าย ชี้ชะตา "เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบผลคัดเลือกฯ"

สิ่งที่ต้องจับตาคือ เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเห็นชอบเสนอเรื่องไปที่ ครม.แล้ว ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ กำหนดว่า กรณีเข้า ครม.ครั้งแรก หาก ครม.เห็นว่าประเด็นยังไม่ครบถ้วน หรือต้องการให้การเจรจาเพิ่มเติม สามารถส่งเรื่องให้คณะกก.คัดเลือกฯ มาตรา 36 ดำเนินการเพิ่มเติมได้ ซึ่ง กก.มาตรา 36 มีหน้าที่ดำเนินการ ผลจะเป็นอย่างไร เมื่อเห็นว่าแล้วเสร็จก็นำเรื่องส่ง ครม. ซึ่งในการเสนอ ครม.ครั้งที่ 2 นี้ ครม.จะต้องพิจารณา หากเห็นชอบผลการคัดเลือกก็เข้าสู่ขั้นตอนการลงนามสัญญา แต่หากไม่เห็นชอบก็เป็นอันจบเกม รฟม.ต้องกลับไปเริ่มต้นเปิดประมูลคัดเลือกกันใหม่

ศึกชิงรถไฟฟ้าสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท การประมูลยืดเยื้อมาเกือบ 4 ปี ถึงวันนี้คงไม่จบง่ายๆ แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษายกฟ้องแล้วตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ยังมี ครม.เป็นด่านสุดท้ายที่มีอำนาจชี้ชะตาพลิกเกม…ซึ่ง BTSC ยังหวังมีโอกาส ล้มกระดาน!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น