xs
xsm
sm
md
lg

“ตุลาการ” แถลงยกฟ้องคดี ”สายสีส้ม” ชี้ปรับ TOR ทำตามกฎหมาย ไม่กีดกัน "บีทีเอส" ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดความเห็น “ตุลาการ” เห็นควรยกฟ้อง "สายสีส้ม" ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางคดี ชี้เอกสาร RFP ฉบับเดือน พ.ค. 65 ชอบด้วยกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนและไม่เข้าข่ายกีดกัน และไม่ละเมิด "บีทีเอส" รอศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีร่วมกันออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนโดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ชอบด้วยกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีแล้ว อันมีลักษณะเป็นการกีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

โดยตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.1437/2566 เห็นว่าคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นการละมิดผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ถ้าละเมิดต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลวินิจฉัยโดยสรุป ดังนี้

1. ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าการดำเนินการคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เห็นชอบในหลักการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอ ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีผูกพันเฉพาะหลักการในการดำเนินโครงการ ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือการกำหนดคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือคุณสมบัติในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนจึงเป็นอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง และไม่ต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด

2. การดำเนินการรับฟังความคิดเห็นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้ในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการจัดทำร่างประกาศเชิญชวนร่างเอกสาร RFP และร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยการรับฟังความเห็นดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการรับฟังความเห็นไว้ เพียงแต่กำหนดว่าต้องมีการประกาศข้อมูลให้กลุ่มเป้าหมายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มรับฟังความคิดเห็น ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการรับฟังความเห็นตามความในข้อ 4 และข้อ 5 ของประกาศฉบับดังกล่าวแล้ว

3. การกำหนดคุณสมบัติตามประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่พิพาทดังกล่าว เป็นการก่อสร้างโครงสร้างใต้ดินตลอดทั้งสาย โดยมีแนวสายทางผ่านพื้นที่สำคัญหลายแห่ง ซึ่งในการรับฟังความเห็นมีภาคเอกชนแสดงความเห็นว่า การก่อสร้างควรให้ความสำคัญต่องานโยธา เนื่องจากแนวสายทางผ่านพื้นที่สำคัญ บริษัทที่ปรึกษาจึงมีการรวบรวมข้อมูลและความเห็นเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาจัดทำประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้ว เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่กำหนดไว้ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565

ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขบางช่วงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่เป็นธรรม กล่าวคือ การกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานการก่อสร้างอุโมงค์แล้วเสร็จในประเทศไทย ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมั่นใจว่าจะได้ผู้รับจ้างที่มีฝีมือการก่อสร้างที่เชื่อถือได้ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนการกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถใช้ผลงานของ Contractor ที่เป็นนิติบุคคลไทย หรือมีบุคคลไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนกิจการของคนไทย และสร้างความมั่นใจว่าในการก่อสร้าง คนไทยจะสามารถควบคุมการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการออกประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาพื้นที่โครงการ ความเห็นของภาคเอกชน และการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาแล้ว จึงพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการดำเนินการที่มีเหตุผลอันสมควรเพื่อให้การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มบรรลุตามเป้าหมาย ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ และไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ หรือกีดกันเอกชนรายใด

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า มีการกีดกันพันธมิตรของผู้ฟ้องคดีจนไม่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกได้ กรณีนี้ผู้ฟ้องคดีสามารถหาพันธมิตรอื่นเพื่อรวมกลุ่มเข้าร่วมการคัดเลือกได้ ดังเช่นที่ผู้ฟ้องคดีเคยมีหนังสือขอขยายระยะเวลาในการหาพันธมิตร เนื่องจากอยู่ระหว่างเจรจากับผู้รับจ้างจากต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกในโครงการดังกล่าว และถึงแม้ว่าประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 จะมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมการคัดเลือกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สะดวกกับผู้ฟ้องคดีหรือเอกชนที่ประสงค์จะเข้าร่วมลงทุน แต่ความไม่สะดวกดังกล่าวย่อมเทียบไม่ได้กับความปลอดภัย หรือประโยชน์ของสาธารณะชนที่จะได้รับจากการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น ดังนั้น ประกาศเชิญชวนและเอกสาร RFP ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้ทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ยกฟ้อง

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณี บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 และ รฟม. กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ซึ่งศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 ยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ต่อมา บีทีเอสยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยศาลได้กำหนดการสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 และตุลาการผู้แถลงคดี นั่งพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2567 หลังจากนี้จับตาศาลปกครองสูงสุดนัดประชุมองค์คณะศาลชุดใหญ่เพื่อพิจารณาคดีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น