“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 ตอน บทเรียน ‘แอชตัน อโศก’ ประชาชนต้องรับกรรม ด้วยน้ำมือหน่วยงานรัฐ
แม้จะเป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินไปตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนคำพิพากษาของศาลจะยังไม่ค่อยมีความหมายเท่าใดนัก สำหรับกรณีปัญหาการก่อสร้างคอนโดแอชตัน อโศก ภายหลังกระบวนการบังคับคดียังไม่มีความคืบหน้า
ในเรื่องนี้ นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในชั้นปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด แสดงความคิดเห็นว่า การบังคับคดี เป็นเรื่องที่ กทม. จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ดังนั้น อีก 3 เดือนต่อจากนี้ จะครบกำหนดตามคำพิพากษา ที่ให้ กทม. อนันดา เอฟเอ็ม เอเชีย อโศก จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เร่งแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หากหาทางออกไม่ได้ กทม.มีหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยการรื้อถอนส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างถนนให้เสร็จภายใน 90 วัน
ถือได้ว่าเวลาอีก 3 เดือนจากนี้ไปจะเป็นการวัดใจผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสามฝ่ายว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งต่างฝ่ายก็ลำบากใจด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนที่เปิดขายโครงการและมีคนเข้าไปอยู่อาศัยแล้ว ครั้นพร้อมยอมควักเนื้อเพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใกล้คอนโดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่หากเจ้าของที่ดินไม่อยากขาย ก็จนปัญญา หรือ ฝ่ายกทม.แม้จะมีอำนาจตามกฎหมาย แต่การที่มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ในโครงการแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับใช้กฎหมายได้โดยง่าย กลับกันถ้าปล่อยให้คาราคาซังต่อไป ก็คงถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นและผู้ซื้อคอนโดไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเช่นนี้ หากทุกฝ่ายทำตามกติกาของบ้านเมือง
ที่ดินผืนนี้่ไม่ควรถูกโครงการดังกล่าวนำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่แรก เพราะเป็นพื้นที่่ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเวนคืนมาจากประชาชนเพื่อใช้สร้างรถไฟฟ้า ดังนั้น การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรฟม. ย่อมเป็นการใช้พื้นที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์และขัดต่อกฎหมายว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญคณะกรรมการกฤษฎีกา เคยมีความเห็นแล้วว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว จะต้องเป็นไปเพื่อการจัดสร้าง ขยาย บูรณะ ปรับปรุง ช่อมแซม และบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า การจัดให้มีสถานที่จอดรถ การให้บริการ การอำนวยความสะดวก และการดำเนินกิจการอื่น ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครเท่านั้น แต่ปัญหาก็ยิ่งซ้ำเติมเข้าไปอีกเมื่อสำนักการโยธาของกรุงเทพมหานคร ออกใบรับหนังสือแจ้งการก่อสร้างคอนโดดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ก่อสร้าง ทำให้เรื่องบานปลายไปกันใหญ่ จนต้องมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะได้ตัดสินเด็ดขาดในเวลาต่อมา
ทุกอย่างดูเหมือนจะพัวพันอีรุงตุงนังไปหมด ซึ่งถ้าไม่หลอกตัวเองและไม่มองโลกในแง่ดีมากเกินไป แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ทั้ง 3 ฝ่ายจะหาทางออกเรื่องนี้ในแบบที่วินวินกันทุกฝ่าย เพราะถึงอย่างไรเสียการบังคับให้เป็นไปคำพิพากษามีเพียงอย่างเดียว คือ การรื้ออาคาร เว้นเสียแต่บริษัทเจ้าของโครงการจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ โดยเฉพาะการหาช่องทางที่ทำให้ที่ดินที่มาจากการเวนคืนตามกฎหมาย กลายเป็นที่ดินที่สามารถแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก
สุดท้ายคนที่ต้องมารับเคราะห์กรรมที่สุด คือ คนซื้อคอนโดโครงการนี้ และกฎหมายของประเทศก็ไม่อาจให้ความคุ้มครองหรือเยียวยาอะไรได้เลย ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐกำลังลอยตัวปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ทราบกันว่าคอนโดใกล้สถานีรถไฟฟ้ามีเป็นจำนวนมาก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่กรณีของแอชตันจะเป็นกรณีสุดท้าย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ควรมีมาตรการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และไม่ให้ประชาชนต้องมารับกรรมในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อไว้
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android