xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชี้เป้าสินค้าพระรองตัวจี๊ด พร้อมเสนอแผนเพิ่มโอกาสทำเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” รับนโยบาย “ภูมิธรรม” ศึกษาวิเคราะห์การส่งออกไทย พบกระจุกตัวอยู่ที่สินค้าหลักมาเป็นระยะเวลานาน เผยปี 66 สินค้า 20 อันดับแรก กินสัดส่วนถึง 63.9% ของมูลค่าส่งออกรวม หรือมีมูลค่าส่งออก 6.27 ล้านล้านบาท แต่สินค้ารองมีสัดส่วน 36.1% มีมูลค่าส่งออก 3.53 ล้านล้านบาท เตรียมชี้เป้าสินค้าระดับรองเป้าหมาย หลังพบมีสินค้าโดดเด่นเพียบ ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรม พร้อมเสนอแนะมาตรการผลักดัน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลักดันการส่งออก “สินค้าระดับรอง” ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยผลการศึกษาพบว่าการส่งออกสินค้าในแต่ละหมวดมีการกระจุกตัวอยู่ที่ “สินค้าหลัก” มาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งในปัจจุบัน สินค้ากลุ่มดังกล่าวต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นและการเติบโตที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกของไทยยังไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพเท่าที่ควร ทำให้นอกจากกลยุทธ์การเปิดตลาดใหม่และเพิ่มส่วนแบ่งจากตลาดเดิมแล้ว มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันสินค้าตัวเด่นระดับรอง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ มีการเติบโตได้ดี และมีความต้องการจากตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีมูลค่าการส่งออกน้อยให้ได้เพิ่มขึ้น

ข้อมูลการส่งออกในปี 2566 พบว่า สินค้าส่งออก 20 อันดับแรกของไทยค่อนข้างกระจุกตัวในสินค้ากลุ่มเดิม ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “สินค้าหลัก” ที่เป็น “พระเอก” ในการส่งออกของไทย มีมูลค่าการส่งออกมากถึง 181,864.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 6,270,411.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63.9% ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยประกอบไปด้วย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ สนค.ได้วิเคราะห์สินค้าส่งออกที่เหลือ ซึ่งมีมูลค่า 102,696.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,538,596.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 36.1% ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งนับว่ามีมูลค่าและสัดส่วนการส่งออกที่ไม่น้อย โดยวิเคราะห์จากแนวโน้มการเติบโตและความต้องการของโลกภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 พบว่า สินค้าระดับรองที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี มีความน่าสนใจ มีศักยภาพในการส่งออกเพื่อผลักดันให้มีมูลค่าส่งออกเพิ่มมากขึ้นหลายสินค้า

ยกตัวอย่างเช่น หมวดสินค้าเกษตร เช่น สับปะรดสด ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง ลำไยแช่เย็นจนแข็ง ข้าวโพดอ่อนสดหรือแช่เย็น เห็ดสดหรือแช่เย็น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไข่ไก่สด ธัญพืช ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม และไอศกรีม สินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิดเครื่องยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เครื่องกีฬาและเครื่องเล่นเกม

“ขณะนี้ สนค.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อระบุสินค้าที่จะมาเป็นพระรอง และจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินการผลักดันเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และขอเสนอแนะว่ากระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมไปถึงภาคเอกชนและผู้ประกอบการ จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อร่วมกันหาแนวทางและกลยุทธ์ผลักดันการส่งออกสินค้าระดับรองของไทย รวมไปถึงการวิเคราะห์หาตลาดใหม่ๆ เพื่อเร่งขยับตัวเลขส่งออกตามนโยบาย “ขยายตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” ของรัฐบาล และเพื่อให้การส่งออกยังสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น