ส่งออก ม.ค.67 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10% บวกต่อเนื่อง 6 เดือนติด สูงสุดในรอบ 19 เดือน ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลก คาดแนวโน้มยังส่งออกได้ดี ทั้งนี้ ยังคงเป้า 1-2%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ม.ค.2567 มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจาก มิ.ย.2565 ที่เพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 784,580.4 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.5% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 890,687.4 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 106,106.9 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.2% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 14% และอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผักกระป๋องและผักแปรรูป ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 10.3% เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
ทางด้านตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า การฟื้นตัวของการค้าโลก และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต โดยตลาดหลัก เพิ่ม 10.5% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 13.7% จีน เพิ่ม 2.1% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 4.5% อาเซียน (5) เพิ่ม 18.1% และ CLMV เพิ่ม 16.6% ตลาดรอง เพิ่ม 8.8% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 0.04% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 27.2% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 2.9% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 64.6% ส่วนตลาดที่ลดลง เช่น แอฟริกา ลด 24.2% ลาตินอเมริกา ลด 4% และสหราชอาณาจักร ลด 1.6% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 11.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 5.1%
นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 จะยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น ส่วนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก แต่ก็ยังคงต้องจับตา เพราะหากขยายวงกว้าง ก็อาจจะมีผลกระทบได้ รวมถึงต้องจับตาปัญหาค่าระวางเรือที่ยังไม่แน่นอน แม้ว่าจะปรับลดจากจุดพีกลงมาแล้วก็ตาม และอัตราแลกเปลี่ยนอาจยังมีความผันผวน
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกในปี 2567 ที่ 1-2% ต่อไป โดยหากจะทำให้ได้ตามเป้า การส่งออกแต่ละเดือน จะต้องมีมูลค่า 24,009-24,358 ล้านเหรียญสหรัฐ