ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... เตรียมพร้อมรับการตรวจสอบจาก ICAO โดยปรับให้สะท้อนต้นทุน และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เหตุฉบับเดิมตั้งแต่ปี 54 ไม่ทันสมัยยุค 'กรมการบินพลเรือน'
นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 มีนาคม 2567 มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
กระทรวงคมนาคมเสนอว่า
1. พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 มาตรา 6 (1) และ (4) บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง หรือหนังสือรับรอง ไม่เกินอัตราท้าย พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และมีอำนาจยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมของใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง หรือหนังสือรับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ต่อมาได้มี พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ได้กำหนดใบอนุญาตและใบรับรองที่ต้องออกตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศฯ เพิ่มเติม และกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบรับรองดังกล่าวไว้ท้ายพระราชบัญญัติฯ ซึ่งผู้ขอใบอนุญาตหรือใบรับรองจะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองในกระบวนการขอออกใบอนุญาตหรือใบรับรองดังกล่าว และในทางปฏิบัติพบว่า เมื่อพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับแล้วกระบวนการยื่นคำขอและการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตและใบรับรองดังกล่าวของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ก็ได้ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ เพียงแต่ยังไม่มีกฎกระทรวงเพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบรับรองประเภทใหม่ให้ครบถ้วน อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองที่ออกให้กับผู้ขอได้ และทำให้ไม่สามารถออกใบอนุญาตหรือใบรับรองนั้นๆ ได้ อีกทั้งหากยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจะส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมรับการตรวจสอบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USOAP-CMA) อันจะส่งผลต่อการประเมินเพื่อยกระดับค่าประสิทธิผลของการดำเนินการ (EI [Effective Implementation] Score) ของประเทศไทย
2. นอกจากนี้ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบรับรองบางประเภทที่กำหนดไว้เดิมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรต้องแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุน และความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเนื่องจากค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตที่กำหนดเดิมเป็นอัตราที่กำหนดขึ้นในขณะที่กรมการบินพลเรือนเป็นผู้กำกับดูแลซึ่งมีสถานะเป็นส่วนราชการและได้รับงบประมาณในการดำเนินการจากรัฐ ซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 จัดตั้ง กพท.ขึ้นเพื่อดำเนินการภารกิจกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนแทนกรมการบินพลเรือนโดยให้มีรายได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ได้รับงบประมาณแผ่นดินจึงไม่สามารถใช้อัตราค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตเดิมเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุน (Cost Recovery) การดำเนินการตามภารกิจของ กพท. และความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจได้
3. กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่14) พ.ศ. 2562 และแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดภาระหน้าที่หรือภาระแก่ผู้ขอรับใบรับรองหรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 จะต้องชำระค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่ หรือชำระค่าธรรมเนียมสูงขึ้นสำหรับใบรับรองหรือใบอนุญาตที่มีการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม แต่การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตดังกล่าวซึ่งเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของ กพท. ตามมาตรา 10 (3) แห่งพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เพื่อนำมาใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินการของ กพท.ในการปฏิบัติภารกิจด้านการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ส่งเสริมให้มีการเดินทางทางอากาศและอุตสาหกรรมการบินอื่น ๆ อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ
4. กระทรวงโดย กพท.จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจากประชาชนทั่วไปผ่านทางเว็บไซต์ของ กพท. (www.caat.or.th) และได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นมาประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบด้วยแล้ว รวมถึงได้จัดให้มีการชี้แจงทำความเข้าใจและเผยแพร่ให้ผู้เกี่ยวข้องทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นในการกำหนดและแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าเพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อมสำหรับการชำระค่าธรรมนียมใบรับรองหรือใบอนุญาตที่ได้มีการกำหนดขึ้นใหม่และแก้ไขปรับปรุงตามร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 และแก้ไขปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและอัตราขั้นสูงสำหรับค่าบริการในสนามบิน พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ร่างกฎกระทรวงนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา1) สรุปได้ดังนี้
1. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตหรือใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 เช่น
1.1 ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศตามขนาดของอากาศยานแต่ละประเภทและพื้นที่ปฏิบัติการ (Area of Operation) ภายในประเทศและภูมิภาคในต่างประเทศ (มาตรา 28/1) ดังนี้ เครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์ และบอลลูนการออกใบรับรองผู้ดำเนินอากาศภายในประเทศออกครั้งแรก ฉบับละ 1,500,000 บาท และต่ออายุ ฉบับละ 1,300,000 บาท (ส่วนเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ดูตารางค่าธรรมเนียมประกอบด้านล่าง)
1.2 ใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน
1.2.1 การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบประจำ 1) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 5,000,000 บาท และ2) ใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก น้ำหนักสูงสุด ไม่เกิน 5,700 กิโลกรัมขึ้นไป ฉบับละ 2,500,000 บาท
1.2.2 การขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์ แบบไม่ประจำ 1) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 3,000,000 บาท และ 2) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียวหรือใช้เฮลิคอปเตอร์ ฉบับละ 1,500,000 บาท
1.2.3 การประกอบกิจการทำงานทางอากาศ 1) กรณีใช้อากาศยานปีกแข็ง ฉบับละ 3,000,000 บาท 2) ใช้อากาศยานปีกแข็ง ขนาดเล็ก เครื่องยนต์เดียวหรือใช้เฮลิคอปเตอร์ ฉบับละ 5,000,000 บาท และ 3) กรณีใช้บัลลูน ฉบับละ 300,000 บาท
1.3 ใบรับรองการให้บริการการจัดการจราจรทางอากาศ บริการจราจรทางอากาศ การจัดการความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ และการจัดการห้วงอากาศ ฉบับละ 1,000,000 บาท
1.4 ใบรับรองการให้บริการระบบสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศและระบบติดตามอากาศยาน ฉบับละ 1,000,000 บาท
1.5 ใบรับรองการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน ฉบับละ 1,000,000 บาท
1.6 ใบรับรองการให้บริการข่าวสารการบิน ฉบับละ 1,000,000 บาท
1.7 ใบรับรองการให้บริการการออกแบบวิธีปฏิบัติการบินด้วยเครื่องวัดประกอบการบิน ฉบับละ 1,000,000 บาท
2. แก้ไขปรับปรุงการจำแนกใบอนุญาตหรือใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียมสำหรับค่าบริการในสนามบินเพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ที่สะท้อนต้นทุนและความเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนี้
2.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ฉบับละ 20,000 บาท สำหรับ ใบอนุญาตดำเนินงานเกี่ยวกับรับมอบ จัดเก็บ บรรทุก ขนถ่าย หรือขนส่งวัตถุอันตราย (ตาม ม. 15/27) และ ใบอนุญาตดำเนินงานเกี่ยวกับรับมอบ จัดเก็บ บรรทุก ขนถ่าย หรือขนส่งสิ่งของต้องห้ามหรือต้องดูแลเป็นพิเศษ (ตาม ม. 15/29)
(เดิม กำหนดใบอนุญาตส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ไปกับอากาศยาน รายครั้ง ฉบับละ 100 บาท รายปี ฉบับละ 10,000 บาท)
2.2 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ ฉบับละ 40,000 ดังนี้
2.2.1 ประเภททัศนวิสัย เช่น อุปกรณ์บอกทิศทางและอุปกรณ์ให้สัญญาณ เครื่องหมาย ไฟสนามบิน ฯลฯ
2.2.2 ประเภทระบบการสื่อสาร เช่น ระบบการสื่อสารประจำที่และเคลื่อนที่
2.2.3 ประเภทระบบช่วยการเดินอากาศ
2.2.4 ประเภทระบบติดตามอากาศยาน
2.2.5 ประเภทเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาการบิน เช่น ระบบตรวจอากาศอัตโนมัติและระบบตรวจวัดวินด์เชียร์
(เดิม กำหนดใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ วิทยุเครื่องช่วยเดินอากาศ ฉบับละ 3,000 บาท เรดาห์ติดตามอากาศยาน ฉบับละ 3,000 บาท วิทยุสื่อสารฉบับละ 1,000 บาท เครื่องช่วยการเดินอากาศ ด้วยทัศนวิสัย ระบบไฟฟ้าสนามบิน ฉบับละ 3,000 บาท และกระบอกทิศทางลม หรือเครื่องชี้ทิศทางลมอื่น ฉบับละ 500 บาท เครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศอื่น ฉบับละ 1,000 บาท)
2.3 ใบอนุญาตจัดตั้งที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน ฉบับละ 2,000 บาท (คงเดิม)
2.4 ใบรับรองการดำเนินการสนามบินสาธารณะ (ดูตารางด้านล่าง)
3. กำหนดค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต ใบสำคัญ ใบรับรอง แต่ละฉบับ ยกเว้นใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (ม. 28/1) เนื่องจากค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบรับรองไม่เท่ากับค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตครั้งแรก (เช่น สำหรับบอลลูน ออกครั้งแรก ฉบับละ 1,500,000 บาท ต่ออายุ ฉบับละ 1,300,000)
4. การแก้ไขปรับปรุงการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบรับรองที่ออกให้กับส่วนราชการ
4.1 กำหนดไม่ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตและใบรับรอง ดังนี้ 4.1.1 ใบอนุญาตจัดตั้งสนามบิน 4.1.2 ใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ 4.1.3 ใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ
เนื่องจากส่วนราชการที่ดำเนินการสนามบินราชการถือเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งตามหลักการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการประเภทอื่น ๆ อีกทั้งสนามบินสาธารณะที่ดำเนินการโดยส่วนราชการในปัจจุบันมีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินจากประชาชนเช่นเดียวกัน จึงไม่เหมาะสมที่จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและใบรับรองให้ส่วนราชการดังกล่าว (เดิม ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม)
4.2 กำหนดยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตและใบรับรองเพิ่มเติม ดังนี้ 4.2.1 ใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศประเภทเครื่องมืออุตุนิยมวิทยาการบิน 4.2.2 ใบรับรองการให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน
เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการของกรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งเป็นการให้บริการของภาครัฐไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการ
5. กำหนดบทเฉพาะกาลสำหรับบรรดาคำขอที่ยื่นและยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับให้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้