“อนุทิน-ศักดิ์สยาม” เร่ง ทอท.ปรับแบบ "ต่อขยายอาคารตะวันออก" สุวรรณภูมิ 7.8 พันล้านบาท คาดชง ครม. ม.ค. 66 ประมูล เม.ย.ลุยตอกเข็ม ส.ค. 66 เพิ่มขีดรับผู้โดยสารอีก 15 ล้านคน/ปี พร้อมสั่งเช็กสัญญาร่วมทุน "อู่ตะเภา" หวั่นพัฒนา "สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง" กระทบเงื่อนไขอาจถูกฟ้องได้
วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 2/2565 (ครั้งที่ 4) ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารรัฐสภา โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานกรรมการ และมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม มีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้ากรณี บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ดำเนินงานจ้างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาร่างข้อตกลง (Agreement) สำหรับการจ้าง ICAO ศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการดำเนินงานตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ก่อนลงนามในสัญญาจ้าง โดยคาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะพิจารณาร่างข้อตกลงแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565
ส่วนการดำเนินงานเพื่อก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) นั้น ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าแนวทางการปรับแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกเพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางการบินในปัจจุบัน โดยจะใช้ระยะเวลา 7 เดือน แล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2565 และจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ก่อน จากนั้นนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป คาดว่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2565-มีนาคม 2566
คาดว่าจะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างช่วงเดือนเมษายน 2566-กรกฎาคม 2566 และเริ่มก่อสร้างในเดือนสิงหาคม 2566-ธันวาคม 2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 29 เดือน แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความพร้อมรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะกลับมาในระดับประมาณ 65 ล้านคนต่อปี เท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ได้ในปี 2568
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ซึ่งได้มอบหมายให้คณะกรรมการฯ พิจารณาข้อร้องเรียนของเอกชนคู่สัญญาโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ โดยตรวจสอบผลกระทบจากทั้ง 2 สนามบิน (ดอนเมือง/สุวรรณภูมิ) ต่อสนามบินอู่ตะเภาด้วย
ที่ประชุมมอบหมายให้ ทอท.พิจารณาตรวจสอบข้อสัญญาและเงื่อนไขการร่วมลงทุนโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ให้ชัดเจนว่า การพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองของ ทอท.มีลักษณะส่งผลกระทบต่อการประกอบการ และ/หรือการดำเนินโครงการฯ และวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ อันเป็นการกระทำที่ผิดต่อสัญญาร่วมลงทุนตามข้อใดหรือไม่ อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทและฟ้องร้องต่อรัฐได้ และให้กระทรวงคมนาคมมีหนังสือแจ้งยืนยันผลการพิจารณาไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ทราบด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า ตามแผนพัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) นั้น ใช้รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศพื้นที่ 66,000 ตร.ม. รับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคนต่อปี พื้นที่เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน วงเงินงบประมาณ 7,830 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างปรับแบบและนำเสนอบอร์ด ทอท.ได้มีการรื้อย้ายซิตี้การ์เด้น และศาลพระเจ้าตากสิน เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2565
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการฯ ไว้แล้ว ซึ่ง ทอท.ได้เร่งรัดศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย ICAO เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้มีข้อมูลมาประกอบการพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2564