มนุษย์ล้อ-คนพิการ" สุดจะทน ! โดนสายการบินต่างชาติปฏิเสธการเดินทางบุกสภาทนายความช่วยเหลือทางกฎหมาย
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (18 มี.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ตัวแทนภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชน ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อขอให้สภาทนายความช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีสายการบินต่างชาติ ปฏิเสธไม่ให้เดินทาง ด้วยเหตุผลไม่สามารถเดินเองได้ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญาภัชระสามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล นายวรกร ไหลหรั่งประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส สภาทนายความ และนายสนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส สภาทนายความ รับเรื่อง
นายกฤษนะ ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ได้เรียกร้องให้สภาทนายความดำเนินการด้านกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา และป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารที่มีความพิการหรือข้อจำกัดทางการเคลื่อนไหว
นายกฤษนะ กล่าวว่า มาเพื่อขอเป็นธรรม ด้าน กฎหมายต่างๆ เรื่องเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศ เพราะตนเองถูกปฏิเสธ เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนจะไปทำงานที่ จ.พะเยา ต้องขึ้นเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปเชียงรายแล้วต่อรถยนต์ โดยได้นัดผู้ใหญ่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งวันนั้นได้จองสายการบินหนึ่งที่ไฟล์เช้า เวลา 6.30 น. ตนทราบข่าวมาบ้างว่าสายการบินนี้ปฏิเสธไม่รับคนพิการ แต่ปกติตนก็เดินทางบ่อยไม่เคยเจอปัญหา วันดังกล่าวเองตนก็มีทีมงาน 5 คน ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกเวลาตนเดินทาง เมื่อไปถึงเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบินดังกล่าว ปรากฎมีเจ้าหน้าที่ แจ้งว่าทางสายการบินไม่มีนโยบายบริการดูแล คนพิการใช้วิลแชร์ เพราะไม่มีรถเคบิน รวมทั้งพนักงานบริการ ให้เหตุผลว่าเดินเองไม่ได้ ตอนนั้นตนอธิบายว่ามีงานสำคัญ นัดผู้ใหญ่คนสำคัญไว้แล้ว และมีทีมงานเดินทางไปด้วย ท้ายที่สุดทางสายการบินดังกล่าวก็ยืนยันว่าเดินทางไม่ได้ ตนรู้สึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิตกับการเดินทางด้วยสายการบิน ตนช็อกมาก รู้สึกว่ายังมีการเลือกปฏิบัติกับคนพิการอยู่ ทั้งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในปัจจุบันอีกแล้ว ยิ่งนายก มีนโยบายศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub). หากว่ามีบุคคลอื่นหรือคนต่างชาติ ถูกปฏิเสธอย่างตนอาจจะทำลายชื่อเสียงของประเทศได้ วันนี้จึงมาขอความช่วยเหลือกับทางสภาทนายขอความเป็นธรรม ละเมิดเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และเรียกร้องไม่ให้เกิดเหตุนี้อีก
ด้านผู้พิการใช้วิลแชร์คนอื่นก็ได้ออกมาให้ข้อมูลตรงกันว่าถูกสายการบินดังกล่าวปฏิเสธไม่ให้เดินทางเช่นกัน ทั้งที่เวลาพวกตนใช้บริการสายการบินอื่นก็ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม เดินทางได้ปกติ
ด้าน ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความเล็งเห็นความสำคัญของคนพิการและส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลพิการ ซึ่งที่ผ่านมาสภาทนายความได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อให้คำปรึกษาทางกฎหมายและปฏิบัติงานทางคดีให้แก่คนพิการหรือองค์กรด้านคนพิการ และจัดอบรมให้ความรู้ทางกฎหมาย รวมถึงพัฒนากฎหมายและนโยบายสาธารณะให้สิทธิคนพิการเป็นจริงตามอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Right of People with Disability, CRPD) ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริมพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีความเสมอภาคอย่างไรก็ตามในเรื่องนี้สภาทนายความจะตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางคดีต่อไปสำหรับภาษีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ประกอบด้วย องค์กรและภาคเครือข่ายๆและภาคประชาชน
ดร.วิเชียร กล่าวต่อว่า ตนได้มอบนโยบาย ไว้กับสภาทนายความว่าเราจะดูแลประชาชนทุกหมู่เหล่า และตนให้ความสำคัญกับคนพิการเนื่องจากมีความด้อยโอกาส กว่าคนอื่นอยู่แล้วเราจะไม่ทิ้งคนพิการไว้ข้างหลัง และจะดูแลอย่างดีขอให้ประชาชนมั่นใจว่าทางสภาทนายความจะดูแลประชาชนในข้อกฎหมายทุกหมู่เหล่า และคนพิการเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีโอกาสเท่าเทียมหรือมากกว่าคนปกติ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนในวันนี้เราจะช่วยเหลือเต็มที่ ในเบื้องต้นจะต้องตรวจดูเอกสารของผู้ร้อง ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พร้อมทั้งสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อเป็นผลดีกับรูปคดีมากที่สุด แต่ถ้าตามหลักการแล้วทุกสายการบินไม่สามารถปฏิเสธคนพิการได้ และยังมีอนุสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ส่วนบทลงโทษสายการบินนั้นเพราะจะต้องไปดูระเบียบข้อกฎหมายอีกที โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสายการบินคาดว่าน่าจะเป็นกรมการบินพลเรือน ซึ่งเมื่อมีการดำเนินคดีและมีคำพิพากษาเราก็จะใช้ตรงนี้ ดำเนินการต่อไป โดยเบื้องต้นน่าจะผิดละเมิดสิทธิ เเละยังเป็นเรื่องละเมิดสิทธิคนพิการเป็นคดีแพ่ง
นายสนธิพงศ์ รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการฯ กล่าวว่ามีกฎหมายที่มาสอดรับ หากว่าการกระทำเป็นความผิดจริง พรบ.ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มีการบัญญัติไว้ว่ากรณีที่มีการปฏิบัติ ทำให้คนพิการเสียสิทธิ ได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมก็สามารถนำคดีร้องสู่กรรมการส่งเสริมฯ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้วินิจฉัยว่า บุคคลนั้นมีการกระทำที่เป็นการละเมิด ต่อคนพิการหรือไม่ และมีการบัญญัติไว้อีกด้วยว่าคนพิการที่ได้รับความเสียหาย หรือจะได้รับความเสียหาย จะสามารถนำคดีขึ้นฟ้องร้องเป็นความผิดฐานละเมิดได้ และสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ไม่เกิน4 เท่า ของความเสียหายที่แท้จริง ยังมี ความผิดอาญา พรบ.การเดินอากาศ ได้บัญญัติไว้ทำนองว่ากรณีที่ปฏิเสธรับผู้โดยสารที่เป็นคนพิการถ้าไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องความปลอดภัย เพราะจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5หมื่นบาท-5เเสนบาท นอกจากนี้ยังมีเรื่องข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ด้าน นางสุพรณี กิตติรัตนา ผู้ประสบอุบัติเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ตนก็มาให้กำลังใจพวกพี่ๆ คนพิการ ส่วนเรื่องคดีของตนเองก็ผ่านมา 9 เดือนแล้ว เพราะเหตุเกิดตั้งแต่ 29 มิ.ย.2566 ตนได้เรียกร้องค่าเสียหายไปตอนนี้อยู่ระหว่างประกันของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เจรจากับพวกตนอยู่เป็นการต่อรองเรื่องราคา ตอนนี้รอทาง บ.ท่าอากาศยานไทยพิจารณา อย่างไรก็ตามในสัปดาห์หน้าตนจะติดตามเรื่อง
นางสุพรณี กล่าวต่อว่า ตนเองเคยเป็นคนปกติจนกระทั่ง เกิดอุบัติเหตุเกิดความร่างกาย และเกิดความเสียหายต่อเนื่องในครอบครัวและการทำงาน จึงอยากเรียกร้องทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยเหลือตามมาตรการที่เขาสามารถทำได้ให้เร็วขึ้น เพราะตอนนี้ใกล้กำหนดเวลา 1 ปี ในส่วนของสถานที่บริการก็อยากให้ ดูแลสถานที่ที่ประชาชนใช้บริการ ให้มีความแข็งแรง เรียบร้อย อย่างใส่ใจ ให้มีความปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น