xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 13 คืบ ยกร่างปฏิญญา-ความตกลงเกษตร-ประมงได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” เผยความคืบหน้าการประชุมรัฐมนตรีการค้า WTO ครั้งที่ 13 วันที่ 26-29 ก.พ.นี้ ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการยกร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบีออกมาเป็นกรอบแล้ว พร้อมกับร่างความตกลงเกษตร และการอุดหนุนประมงภาคสอง แต่ยังต้องเจรจาเข้มก่อนถึงการประชุม ระบุยังมีประเด็นสำคัญอื่นอีก 6 ประเด็นที่จะเสนอให้ที่ประชุม “พิมพ์ชนก” ยันไทยให้ความสำคัญเรื่องเกษตร ประมง จับตาการเจรจาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ส่อแววยืดเยื้อ

นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจาเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าของ WTO ครั้งที่ 13 ที่จะมีขึ้นที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26-29 ก.พ. 2567 ได้เข้มข้นขึ้นจนสามารถมีร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) ออกมาเป็นกรอบแล้ว พร้อมกับร่างความตกลงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ ความตกลงเรื่องเกษตร และความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงภาคสอง แต่ทุกเรื่องยังต้องเจรจาในรายละเอียดต่ออีกมากกว่าจะไปถึงอาบูดาบีในช่วงปลายเดือน

โดยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ประเทศสมาชิก WTO ได้เริ่มสรุปผลการเจรจาหลายเรื่องต่อเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 ที่จะรวมไว้ในปฏิญญารัฐมนตรี รวมทั้งหาท่าทีร่วมเพื่อยกร่างความตกลงเรื่องการปฏิรูปภาคเกษตรที่มีการเชื่อมโยงกับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และร่างความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงภาคสอง ซึ่งสองเรื่องนี้มีการเจรจามาอย่างยาวนาน มีท่าทีขัดแย้งกันและประเด็นซับซ้อนอ่อนไหวจำนวนมาก แต่ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกก็ยอมรับร่างที่ประธานคณะเจรจาเสนอมาให้เป็นพื้นฐานการเจรจาได้ในที่สุด

ทั้งนี้ นอกจากเรื่องเกษตรและประมงแล้ว การประชุม MC13 จะมีประเด็นสำคัญอื่น เช่น 1. การสรุปผลการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของติมอร์เลสเตและสหภาพคอโมโรส 2. การเจรจาเพื่อปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาทและองค์กร WTO 3. การพิจารณาการขยายอายุของการไม่เก็บอากรศุลกากรกับ electronic transmission 4. การหารือแนวทางที่ WTO จะดำเนินการเพื่อรองรับโควิดและโรคระบาดต่างๆ ในอนาคต 5. การหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อย และ 6. การเพิ่มประเด็นเจรจาใหม่ๆ เพื่อให้กฎเกณฑ์ WTO ทันต่อโลกสมัยใหม่ เช่น การทบทวนกฎเกณฑ์ WTO ให้เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาโลกร้อน นโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา MSMEs และการยกระดับบทบาทของสตรีในภาคเศรษฐกิจการค้า อีกทั้งยังน่าจะมีการประกาศความสำเร็จของการเจรจาหลายฝ่ายเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การดำเนินการด้านกฎระเบียบภายในของภาคบริการ

นางพิมพ์ชนกกล่าวว่า ในส่วนของไทย ให้ความสำคัญต่อการเจรจาภาคเกษตรและอาหาร และการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมง เป็นลำดับแรก เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก โดยในเรื่องเกษตร กระทรวงพาณิชย์โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการดูแลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญในประเทศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการรับตำแหน่ง แต่สถานะการแข่งขันของสินค้าเกษตรภายนอกประเทศยังมีความรุนแรงมาก โดยนโยบายอุดหนุนและการสำรองอาหารไว้มากเกินความจำเป็นของหลายประเทศ รวมไปถึงการออกมาตรการห้ามส่งออกของคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีความเสถียร ทำให้ยากต่อการเตรียมการผลิตในปีต่อไป โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย ที่ประกาศห้ามส่งออกข้าวบางประเภท แต่กลับยอมให้ประเทศคู่ค้ามาขอเจรจายกเว้นเป็นประเทศประเทศไป และไม่แจ้งมาตรการต่อ WTO ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าเดิมไปบางส่วน และไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้มาตรการ ซึ่งมีแนวโน้มที่อินเดียจะใช้วิธีการนี้มากขึ้น ดังนั้น ไทยต้องติดตามการเจรจาอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันไม่ให้เสียผลประโยชน์ในการส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่น และเพื่อรักษาตลาดส่งออกของไทยผ่านการเจรจาสร้างกฎเกณฑ์พหุภาคีที่เป็นธรรมมากที่สุด

ส่วนเรื่องการเจรจาการอุดหนุนประมงภาคสอง ที่เน้นเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอุดหนุนที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด และการให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนานั้น เนื่องจากรัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างการปรับทบทวนนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคประมงและชาวประมงทั้งหมด ท่าทีไทยในการเจรจาเรื่องดังกล่าวจึงเน้นดูให้สอดคล้องกับทิศทางของนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการทำประมงพื้นบ้าน และยกระดับมาตรฐานและการตรวจสอบ (traceability) ของสินค้าประมงไทยด้วยพร้อมกัน ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีประเด็นอ่อนไหวที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น คือ การเจรจาเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เมื่อเร็วๆ นี้สหรัฐฯ ประกาศทบทวนนโยบายดิจิทัล พร้อมถอนข้อเสนอและท่าทีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในประเด็นที่เกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูล (access to data) ในการเจรจาหลายฝ่าย และประเทศกำลังพัฒนาใหญ่ๆ เรียกร้องให้กฎเกณฑ์ด้านการค้าดิจิทัลเปิดช่องให้กำหนดนโยบายภายในประเทศที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นเพราะทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจในอนาคตที่พึ่งพาการค้าผ่านสื่อ (digital trade) และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งสิทธิความเป็นเจ้าของในตัวดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น เพลง ภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หนังสือ แม้แต่สิทธิในเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย คาดว่าเรื่องนี้จะไปถึงมือรัฐมนตรีแน่นอน

นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้น พบว่าในการเจรจาปัจจุบัน ยังไม่มีผลกระทบต่อ MC13 มากนัก ต่างจากการประชุมรัฐมนตรีครั้งก่อน แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในหลายประเทศใหญ่ๆ ปีนี้มากกว่า ที่ส่งผลให้แต่ละประเทศมีท่าทีที่แข็ง ไม่ยอมยืดหยุ่นง่าย เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย หรือสหภาพยุโรป ที่กำลังเผชิญปัญหาการประท้วงโดยเกษตรกรและชาวนาในหลายประเทศ และสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ ทำให้ไม่สามารถมีท่าทีที่ชัดเจนได้ในหลายเรื่อง เช่น การระงับข้อพิพาท พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่ที่แน่นอนคือ สหรัฐฯ จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ

“มองว่าการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 13 ในปลายเดือนนี้น่าจะมีข้อตกลงในเรื่องสำคัญๆ ได้ แต่อาจจะไม่ได้ครบทุกประเด็น รวมทั้งจะมีการวางรากฐานการเจรจาเรื่องใหม่ที่จะมีขึ้นต่อไปภายหลังการประชุม ที่สำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม โลกร้อน นโยบายการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การทบทวนการอุดหนุนสีเขียว และอาจมีเรื่องความมั่นคงกับการค้าด้วย ซึ่งต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด” นางพิมพ์ชนกกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น