xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.กางแผนปี 67 นำเข้า Spot LNG 6 ล้านตัน คาด 3 รายยื่นแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกพ.เผยการนำเข้า Spot LNG ปี 2567 อยู่ที่ราว 6 ล้านตันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คาด “กฟผ.-หินกอง-PTTGL” ยื่นแผนนำเข้า ขณะที่ความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 อีกกว่า 3,600 เมกะวัตต์ยังรอศาลตัดสินอีก 2 คดี

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ปี 2567 นี้คาดว่าปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) จะใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านตัน หรือจำนวน 100 ลำ โดยขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตการเป็นผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใดจะนำเข้าบ้าง เพราะหาก Shipper รายใหม่ต้องการนำเข้าจะต้องมีความต้องการ LNG ประกอบด้วย

ทั้งนี้ เบื้องต้นในปีนี้จะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมนำเข้า LNG เพื่อใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกง และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ถือหุ้น 49% กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 51% มีแผนนำเข้า LNG ประมาณ 0.5 ล้านตัน เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าโรงไฟฟ้าหินกอง หน่วยที่ 1 กำลังผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ในช่วงเดือนมีนาคมนี้

นอกจากนี้ บริษัท พีทีที โกลบอล แอลเอ็นจี จำกัด (PTTGL) ในกลุ่ม ปตท.เตรียมนำเข้า LNG เพื่อซัปพลายให้กับลูกค้าเก่า อย่างไรก็ตาม PTTGL ยังมีแผนนำเข้า LNG สัญญาระยะยาว จำนวน 1 ล้านตัน ที่จะเริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป ส่งผลให้ ปตท.มี LNG สัญญาระยะยาว จากปัจจุบันอยู่ที่ 5.2 ล้านตัน เพิ่มเป็น 6.2 ล้านตันในปี 2569 เป็นต้นไป

นายคมกฤชยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังรอศาลตัดสินอีก 2 คดี หลังจากก่อนหน้านี้จบไปแล้ว 1 คดี คือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ที่ศาลปกครองเพชรบุรีมีคำสั่งยกฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ส่วนอีก 2 คดีนั้น หากศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว คาดว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการพลังงานหมุนเวียนรอบสองได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโครงการที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ ได้ทยอยลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว เหลือเพียงโครงการพลังงานลม จำนวน 1,490 เมกะวัตต์ ที่ยังรอลงนาม PPA ดังนั้นหากคดีเสร็จสิ้นก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) นั้น เบื้องต้นประเมินศักยภาพก๊าซฯ จากแหล่งดังกล่าวค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการ G1/61 ของกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP หากในอนาคตสามารถพัฒนาโครงการได้ตามแผน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพัฒนาไม่มากเหมือนกับที่ผ่านมา เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างไรก็ตามยังต้องรอการตัดสินใจจากทางภาครัฐก่อน

“ความท้าทายภาคพลังงานต่อการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืนมี 4 ด้าน คือ 1. ต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน 2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม 3. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และ 4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานอย่างเหมาะสม” นายคมกฤชกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น