xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์ฯ ปี 67 มาแรงรับค่าไฟทะลุ 4 บาท ประชาชน-ธุรกิจแห่ติดตั้งลดรายจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์มองแนวโน้มการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในอาคาร โรงงาน และบ้านที่อยู่อาศัยปี 2567 ยังคงมาแรงต่อเนื่อง เหตุค่าไฟฟ้าของไทยยังคงสูงทะลุ 4 บาท/หน่วยเอื้อให้ติดตั้งเพื่อลดรายจ่าย แนะหาช่างรับเหมาที่ได้มาตรฐานสมาคมฯ พร้อมเป็นสื่อกลางแนะนำ ขณะที่โซลาร์ภาคประชาชนปี 66 แห่ติดสูงสุดตั้งแต่เปิดโครงการคิดเป็น 10.18 เมกะวัตต์

นายปิยะศักดิ์ พิเชศฐนาวิน อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์
เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจติดตั้งแผงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) ปี 2567 ยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากปัจจัยหลักมาจากค่าไฟฟ้าของไทยยังคงอยู่ในอัตราสูงเฉลี่ยประมาณ 4.18 บาท/หน่วย (งวด ม.ค.-เม.ย. 67) ทำให้ภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐมีการลงทุนติดตั้งในอาคาร โรงงาน ฯลฯ เพื่อควบคุมต้นทุนในระยะยาว

“การติดแผงโซลาร์ฯ ผลิตไฟนั้นความคุ้มค่าได้ตอบโจทย์ไปนานแล้ว ซึ่งตลาดการติดตั้งในธุรกิจ โรงงาน ที่ผ่านมามีการติดตั้งกันค่อนข้างมากและเป็นตลาดใหญ่สุดและเติบโตต่อเนื่อง แต่แม้ว่าภาคครัวเรือนจะเป็นตลาดเล็กแต่อัตราการเติบโตในขณะนี้กลับสูงกว่าพอสมควรนับเป็นสัญญาณที่ประชาชนเองเริ่มหันมาหาวิธีลดรายจ่ายมากขึ้นจากค่าไฟฟ้า” นายปิยะศักดิ์กล่าว

สำหรับทิศทางของราคาแผงและอุปกรณ์การติดตั้งภาพรวมปีนี้แนวโน้มยังคงทรงตัวหลังจากที่ราคาต่างๆ ได้มีการปรับลดลงอย่างมากในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่อาจจะเปลี่ยนบ้างเล็กน้อยตามทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ความต้องการของตลาดโลกที่สูง และวัตถุดิบการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่แผงโซลาร์ฯ ไทยนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจีน ขณะเดียวกันผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซลาร์ฯ และอุปกรณ์ในไทยขณะนี้ก็มีปริมาณที่มากพอสมควรส่งผลให้การติดตั้งมีการแข่งขันค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้หลังคาบ้านหรูที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์ฯ เมื่อเร็วๆ นี้นั้นทางสมาคมฯ ก็อยากเข้าไปร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงและพร้อมที่จะร่วมมือหากได้รับเชิญมา เพราะในข้อเท็จจริงจำเป็นจะต้องตรวจลึกในรายละเอียดด้วยเพราะระบบไฟฟ้าภาพรวมมีอุปกรณ์หลายส่วนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการติดตั้งแผงโซลาร์ฯ ในภาพรวมอย่างแน่นอน

“สิ่งสำคัญของการติดตั้งแผงโซลาร์ฯ คือประชาชนจำเป็นจะต้องตระหนักถึงความสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ ที่ต้องได้มาตรฐาน ผู้รับเหมามีช่างฝีมือที่มีประสบการณ์ เป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือได้ เพราะหากดำเนินการตามนี้แล้วความปลอดภัยจะสูงมาก ซึ่งหากประชาชนสนใจสามารถสอบถามมายังสมาคมฯ ได้ตลอดเวลาเพื่อที่จะช่วยดูในเรื่องของผู้รับเหมาที่มีมาตรฐาน” นายปิยะศักดิ์กล่าว

นายปิยะศักดิ์ยังกล่าวถึงโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2566 โดยกำหนดการรับซื้อแบบระยะยาว 10 ปี (2564-2573) แทนการรับซื้อปีต่อปี รวมการรับซื้อไฟฟ้า 10 ปี จำนวน 90 เมกะวัตต์และราคารับซื้ออยู่ที่ 2.20 บาท/หน่วยมีส่วนช่วยให้ประชาชนติดตั้งแล้วมีความคุ้มค่ามากขึ้นเพราะบางส่วนที่เหลือจากการใช้สามารถจำหน่ายได้ แต่ทั้งนี้ การติดตั้งโซลาร์ฯ ของประชาชนนั้นความคุ้มค่าคือต้องใช้ไฟฟ้าเองเป็นหลักเพราะค่าไฟสูง 4.18 บาท/หน่วยย่อมประหยัดกว่า

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เผยว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชนสำหรับปี 2566 พบว่ามีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการและผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) รวม 1,878 ราย กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10.18 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากการสมัครเข้าร่วมโครงการกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จำนวน 1,664 ราย มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 9.11 เมกะวัตต์ และมาจากการสมัครเข้าร่วมโครงการกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) จำนวน 214 ราย กำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 1.06 เมกะวัตต์ นับเป็นการเข้าร่วมโครงการฯ ที่มีปริมาณผลิตไฟฟ้าเข้าระบบสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดจากค่าไฟฟ้าของไทยที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมการเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2562-2566 มีจำนวนผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์และขายไฟฟ้าเข้าระบบรวม 8,431 ราย ปริมาณไฟฟ้าที่ขาย 46.28 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น