บอร์ด ปตท.นัดถกวาระเงินค่า Shortfall 4,300 ล้านบาทพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) หลังกกพ.สรุปค่า Ft รอบ ม.ค.-เม.ย. 67 ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยระบุใช้เงินค่า Shortfall จาก ปตท.มาอุ้มค่าไฟ ด้านปตท.หวั่นกระทบความเชื่อมั่นระดับประเทศ
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (12 ม.ค. 2567) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พิจารณาเรื่องเงินค่าปรับการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบค่า Ft รอบ ม.ค.-เม.ย. 67 ที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ซึ่งมาตรการลดค่าไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือให้ ปตท.จ่ายค่าปรับ Shortfall เป็นจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565
ทั้งนี้ ปตท.จะต้องกลับมาดูรายละเอียดข้อกฎหมายทั้งหมดว่าสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากสัญญาการซื้อขายก๊าซฯ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจากแหล่งผลิตก๊าซฯ ต่างๆเป็นสัญญามาตรฐานสากล หากดำเนินการผิดเงื่อนไขสัญญาจะส่งผลกระทบความเชื่อมั่นระดับประเทศและอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปตท.พร้อมปฏิบัติตามมติ ครม.เรื่องมาตรการลดค่าไฟฟ้า แต่อาจจะไม่ใช่เงินค่าปรับ Shortfall แต่จะมาจากเงินส่วนอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือทดแทน ขณะเดียวกัน หากใช้เงินจาก ปตท.เพียงรายเดียว จำนวน 4,300 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียของ ปตท. ดังนั้น กกพ.ควรพิจารณาโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องสแตนด์บาย ที่มีค่าพร้อมจ่าย (AP) ในระดับสูง รวมทั้งเงินส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่มีราคารับซื้อไฟฟ้าสูง หากปรับลดลงมาก็เชื่อว่าจะสามารถช่วยลดค่าไฟลงได้เช่นกัน
แหล่งข่าวจาก กกพ.กล่าวว่า เงินค่า Shortfall เป็นสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายก๊าซฯ ดังนั้น ปตท.ในฐานะผู้ซื้อก๊าซฯ จะต้องจ่ายเงินจำนวน 4,300 ล้านบาท จากเดิม ปตท.ควรจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่ปลายปี 2566 แต่ ปตท.อุทธรณ์มาถึงต้นปี 2567 แต่เมื่อมติ ครม.ออกมาแล้วว่า ปตท.ต้องจ่ายเงินก้อนนี้ เพื่อเอามาเป็นส่วนลดค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 2567 อย่างไรก็ตาม หาก ปตท.มองว่าไม่เป็นธรรมสามารถยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่อไป
ก่อนหน้านี้ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 (ครั้งที่ 887) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบ Ft สำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 39.72 สตางค์ต่อหน่วยตามสูตรการคำนวณ Ft ส่งผลค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย มาจากการที่ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสมสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางก่อน ส่งผลให้ค่า Ft ลดลงได้ 25.37 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.43 บาทต่อหน่วย และปรับปรุงราคาประมาณการ Spot LNG จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 14.3 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้สามารถลดค่าFtลงได้ 9.98 สตางค์ต่อหน่วย
การปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซฯเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมก๊าซฯจากแหล่งอื่นๆ ด้วย ยกเว้นก๊าซฯ ที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่า Ft ลดลงได้ 10.01 สตางค์ต่อหน่วย และการเรียกเก็บเงินค่า Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาทจาก ปตท. โดยให้นำมาลดค่าก๊าซฯในรอบเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 2567 ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่า Ft ลดลงได้ 4.47 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย