กกพ.ปิดประตูตายไม่ลดค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วยตามข้อเสนอเอกชน ย้ำคงที่ 4.45 บาทต่อหน่วยตามการรับฟังความเห็น แย้มหากต้องการลดเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยต้องใช้งบประมาณรัฐมาอุดหนุนราว 1-1.2 หมื่นล้านบาท โยนรัฐบาลใหม่ชี้ชะตาระยะต่อไป แย้มค่าไฟงวดแรกปี 67 ยังส่งสัญญาณทรงตัวกับงวดนี้แต่ยังมีปัจจัยลบที่น่าห่วงอาจทำให้เห็นขาขึ้นได้เช่นกัน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยถึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค. 66) ที่ได้พิจารณาหลังการเปิดรับฟังความเห็นไปแล้วใน 3 แนวทางและสุดท้ายเลือกแนวทางค่า Ft เรียกเก็บที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย โดยให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย.นี้ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้อีกโดยเฉพาะตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการขอให้เฉลี่ยเหลือเป็น 4.25 บาทต่อหน่วย
“การลดค่าไฟฟ้าในช่วงงวดสุดท้ายของปีนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากต้องมีกระบวนการคำนวณสูตรค่าไฟฟ้าใหม่ ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการพิจารณาต้นทุนที่เกี่ยวข้องทั้งของทาง บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” นายคมกฤชกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากจะปรับลดลงมาเป็น 4.25 บาทต่อหน่วยนั้นที่ผ่านมารัฐบาลมีงบประมาณบางส่วนมาสนับสนุนเพราะ กกพ.เองไม่มีงบประมาณแต่ใช้วิธีการบริหารต้นทุนที่มีอยู่ในโครงสร้างมาบริหารแทนเพื่อให้เป็นภาระแก่ประชาชนน้อยที่สุดเท่านั้น ดังนั้นหากจะลดลงในอัตราดังกล่าวจะต้องใช้เงินงบประมาณราว 1-1.2 หมื่นล้านบาทหรือคิดง่ายๆ ว่าจะลดให้ได้ทุก 1 สตางค์จะต้องใช้เงินราว 500-600 ล้านบาทแต่คงจะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะต้องรอรัฐบาลใหม่จึงไม่ทันในงวดนี้
"ค่าไฟฟ้างวดหน้ามีแนวโน้มเบื้องต้นที่ใกล้เคียงกับงวดนี้แต่ยังคงมีปัจจัยต้องติดตามเพราะแม้ว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยโดยเฉพาะแหล่งเอราวัณจะเพิ่มขึ้นมาแต่บางส่วนยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่แพงอยู่ที่ล่าสุดราคาตลาดโลกเริ่มสูงขึ้นนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การปรับลดค่าไฟในงวดปลายปีค่อนข้างลำบาก หากจะเปลี่ยนศูนย์การคำนวณค่าไฟก็ต้องใช้กระบวนการอำนาจรัฐเข้ามาจัดการ อาจต้องเป็นคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. แล้วยังมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอาจจะใช้เวลา ต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารก่อน และอีกปัจจัยคือการลดหนี้ กฟผ.ที่ขณะนี้ยังคงมีภาระค้างค่าเชื้อเพลิงนับแสนล้านบาท" นายคมกฤชกล่าว
สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าในปี 2567 โดยเฉพาะในงวดแรก (ม.ค.-เม.ย.) ยังเผชิญกับหลายปัจจัยลบ ตัวเลขต้นทุนยังคงที่คล้ายกับในปัจจุบัน มีบวกลบเพียงเล็กน้อย ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย กับตัว LNG ที่สำคัญคือ ก๊าซในพม่ามีโอกาสจะหายไปหรือไม่ การใช้ก๊าซของโรงแยกก๊าซที่เพิ่มขึ้น กระทั่งภาวะภัยแล้ง ที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนของ สปป.ลาว ลดน้อยลง ย่อมทำให้ต้นทุนค่าไฟที่ไทยรับซื้อปรับตัวสูงขึ้นและบางส่วนอาจทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่ม ซึ่ง ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าในปีหน้ามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้อีกเช่นกันจึงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด