xs
xsm
sm
md
lg

PTTEP มั่นใจครึ่งปีหลังยอดขายปิโตรเลียมพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.สผ.ชี้ปริมาณการขายปิโตรเลียมครึ่งหลังปีนี้เฉลี่ย 4.7-4.8 แสนบาร์เรลต่อวัน เติบโตขึ้นกว่าช่วง 6 เดือนแรกปี 66 เหตุมีปริมาณการผลิตโครงการเอราวัณเพิ่มขึ้น

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยแนวโน้มปริมาณการขายปิโตรเลียมในครึ่งหลังของปี 2566 ว่า บริษัทคาดว่าปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ในช่วง 4.7-4.8 แสนบาร์เรลต่อวัน เติบโตมากกว่าครึ่งปีแรก มาจากโครงการ G1/61 (เอราวัณ) ที่เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทำให้ปี 2566 ปริมาณการขายปิโตรเลียมจะอยู่ที่ 4.64 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปี 2565 สาเหตุหลักมาจากปริมาณขายของโครงการต่างประเทศที่ลดลง ขณะที่ราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยไตรมาส 3/2566 และทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 5.8 และ 6.0 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ตามลำดับ ลดลงจากปีก่อนหน้า เป็นผลจากสัดส่วนปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของโครงการ G1/61 และโครงการ G2/61(บงกช) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งมีราคาขายก๊าซธรรมชาติต่ำกว่าในระบบสัมปทานเดิม และราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย

ความคืบหน้าการผลิตก๊าซฯ ในโครงการ G1/61 ปัจจุบันโครงการ G1/61 มีกำลังการผลิตก๊าซเพิ่มขึ้นตามแผนอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือน เม.ย. 2567 ขณะที่โครงการ G2/61 (บงกช) มีปริมาณการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโครงการอาทิตย์ อยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งกำลังการผลิตของทั้ง 3 โครงการรวมอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ช่วยลดการนำเข้า LNG ตลาดโลกที่มีราคาผันผวน

ส่วนโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ปตท.สผ.ถือหุ้นสัดส่วน 8.5% คาดว่าจะสามารถกลับเข้าพื้นที่ได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า และยังคงเป้าหมายการส่งมอบ LNG ล็อตแรกในปี 2570 หลังจากหยุดดำเนินการก่อสร้างด้วยเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่ของโครงการ

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ ปตท.สผ. กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจใหม่ Beyond E&P ได้แก่ โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ซึ่งบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่ม ปตท.สผ. ร่วมกับกลุ่มผู้ร่วมทุน ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมาน และลงนามสัญญาพัฒนาโครงการและสัญญาเช่าแปลงสัมปทานกับบริษัท Hydrogen Oman SPC (Hydrom) เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาเชิงเทคนิค (Technical study) รวมถึงประเมินมูลค่าการลงทุนของโครงการดังกล่าวต่อไป คาดว่าจะเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนได้ในปี 2573 โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกรีนแอมโมเนียประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี และส่งออกไปยังประเทศเกาหลีใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น