xs
xsm
sm
md
lg

ใครอยากซื้อก็พร้อมขาย! โดรน AI สัญชาติไทย "ฮอร์รัส" บินตรวจอัตโนมัติบน 5G! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โครงการพัฒนาโดรนอัตโนมัติ AI บนโครงข่าย 5G กำลังอยู่ระหว่างการประสานกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อนำไปสู่การฝึกหรือเทรนข้อมูลที่แข็งแรง และในอนาคตอาจจะนำไปสู่การสร้างเครื่องบิน
ถ้าใครอยากซื้อก็พร้อมขายให้ทันทีสำหรับนวัตกรรมใหม่ “ฮอร์รัส” (Horrus) ระบบโดรนอัตโนมัติพลัง AI หรือ AI Autonomous Drone System บนโครงข่าย 5G เจ้าเหยี่ยวอากาศยานไร้คนขับสำหรับนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผลงานของคนไทยชิ้นนี้ถูกยกย่องว่าจะมีอิมแพกต์ช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นสมาร์ทซิตีเต็มตัว เพราะสามารถรับบทตรวจตราอะไรก็ได้ตามมอบหมาย 

ตัวอย่างเช่น การเป็น รปภ. ที่จะดูแลรักษาความปลอดภัยแบบตลอด 24 ชั่วโมง การเป็นตัวช่วยตำรวจจราจรเพื่อเฝ้าระวังภัยช่วงเทศกาลวันหยุด หรือการเป็น “ผู้ตรวจงาน” ที่ติดตามได้ว่าโครงการก่อสร้างนั้นคืบหน้าไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละวัน

นัยของการพร้อมวางจำหน่าย Horrus คือการเป็นหลักไมล์สำคัญของการดึงศักยภาพปัญญาประดิษฐ์ในนวัตกรรมโดรน AI อัตโนมัติบน 5G ผลจากการร่วมแรงของ 3 ส่วนผสมหลักในการพัฒนาที่ทำให้ AI Autonomous Drone System บนโครงข่ายอัจฉริยะ 5G พร้อมทำตลาดเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศ 

ส่วนแรกของโปรเจกต์นี้คือ เอไอเอส (AIS) ผู้ติดตั้งเสา 5G และทำ Network Slicing ช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล ลดความหน่วงในการสั่งการควบคุมโดรน รองรับการควบคุมระยะไกลที่เสถียรมากกว่าสัญญาณวิทยุและ Wifi

ส่วนที่ 2 คือเออาร์วี (ARV) หรือบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หนึ่งในเครือ ปตท.สผ.ที่เน้นการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงและขยายผลไปใช้ธุรกิจต่างๆ เช่น อากาศยาน ภาคพื้นดิน หรือแม้กระทั่งใต้ทะเล และส่วนที่ 3 คือการใช้พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ฐานที่ตั้งสำคัญของกลุ่ม ปตท. ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่ได้รับการผ่อนปรนทางกฎหมายจนเอื้อต่อการทดสอบระหว่างพัฒนา ต่างจากพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุญาตทุกครั้งที่ปล่อยโดรนขึ้นบิน

กรอบบรรจุโดรนที่มีน้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม ที่เป็นทั้งตัวปล่อย จอด และสถานีชาร์จโดยเป็นฮับสำหรับอัปโหลด ดาวน์โหลดข้อมูลระหว่างโดรนและซอฟต์แวร์
สำหรับโดรนเหยี่ยวอัจฉริยะนี้ถูกพัฒนาให้บินได้นานจากเดิมที่ทำได้ 2 นาที มาเป็นครึ่งชั่วโมงต่อเนื่อง ความเก่งของโดรน AI นี้คือซอฟต์แวร์ที่สามารถจำกัดพื้นที่ห้ามเข้าได้อัตโนมัติ สามารถตั้งค่าให้ตรงตามกฎระเบียบการบิน รวมถึงสร้างแผนการบินด้วยตัวเองขณะบินสูงจากพื้น 50 เมตร บินได้ไกลกว่า 6 กิโลเมตรที่ทำได้บนคลื่นวิทยุทั่วไป ซึ่งจากการตั้งค่าให้ตรวจจับรถในพื้นที่ที่กำหนด ระบบจะสามารถแสดงหน้าต่างป็อปอัปแจ้งเตือนแบบชัดเจนในแพลตฟอร์ม

***ปตท.-AIS-ARV ปลดล็อกโดรน AI


นายสุรชัย เหล่าพูนสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรมภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อการพัฒนาธุรกิจ New S-Curves ของประเทศไทย ว่านอกจากเทคโนโลยีด้านสุขภาพและอาหารที่จะเป็นพื้นที่ขยายตัวสูงทางเศรษฐกิจในอนาคต ยังมีเทคโนโลยีด้านการบินที่ยังพัฒนาได้ค่อนข้างยากในไทย วังจันทร์วัลเลย์จึงเป็นพื้นที่ที่มุ่งทำแซนด์บ็อกซ์หรือพื้นที่สาธิตเทคโนโลยีหลายโครงการที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโดรนอัตโนมัติ AI บนโครงข่าย 5G ที่กำลังอยู่ระหว่างการประสานกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อนำไปสู่การฝึกหรือเทรนข้อมูลที่แข็งแรง และในอนาคตอาจจะนำไปสู่การสร้างเครื่องบิน

“ทั้งหมดนี้ต้องการโครงสร้างข้อมูลดิจิทัล AIS เป็นผู้กล้าที่มาร่วมกับเราและแซนด์บ็อกซ์ที่เราทำ” สุรชัยกล่าว “โครงการนี้ไม่สร้างแพทย์ ไม่สร้างวิศวะ แต่สร้างนักวิทยาศาสตร์ วังจันทร์วัลเลย์คือเมืองในป่าแต่ทันสมัยที่สุด เป็นเมืองทดลองที่เน้นการทดสอบ ทดลองโดยที่ 5G จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมทั้งหมดที่นี่”

จากซ้าย ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย, วสิษฐ์ วัฒนศัพท์, สุรชัย เหล่าพูนสุข และธนา สราญเวทย์พันธุ์
5G ที่ถูกติดตั้งในวังจันทร์วัลเลย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ AIS ที่จะนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกมาผลักดันประเทศไทย ประเด็นนี้ ‘ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย’ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวถึงบทบาทความร่วมมือของ AIS และ ปตท.บนโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก วังจันทร์วัลเลย์ EECi ว่า 5G เป็นตัวเชื่อมทุกสิ่งในการสร้างนวัตกรรมทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลกในเรื่องการรับส่งข้อมูลที่เร็วขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดองค์กรไทย ดังนั้น การลงทุนของ AIS จึงให้ความสำคัญกับโครงการ EEC เป็นพิเศษ นำไปสู่การลงทุนที่วังจันทร์วัลเลย์แบบ 100% ของพื้นที่ ซึ่งมากกว่าสัดส่วนการลงทุนของทั้งประเทศที่ตอนนี้อยู่ที่ 87%

“โครงการพัฒนาโดรนเริ่มมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่เทคโนโลยีในตอนนั้นทดลองเพียงว่าทำอะไรได้บ้าง ขณะนั้นโดรนยังไม่ซัปพอร์ต 5G วันนี้จึงมีความน่าตื่นเต้นว่าการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว” ธนพงษ์ระบุ “5G สามารถนำไปสู่การพัฒนาหลายโซลูชัน เช่น ระบบวิเคราะห์วิดีโอ การพยากรณ์ หรือระบบสั่งการแบบเรียลไทม์โดยไม่หน่วง ปลดข้อจำกัดเรื่องความหน่วงที่ทำให้ผู้ใช้อุปกรณ์ VR ยุคเก่าคลื่นไส้ เวียนหัว”

ธนพงษ์ ย้ำว่า โครงการพัฒนาโดรน AI บน 5G เป็นหนึ่งในหลายโปรเจกต์ที่ AIS ทำอยู่ โดยสามารถตอกย้ำ 3 ความเชื่อของ AIS นั่นคือโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม และการร่วมมือทางทรัพยากร จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเปิดตัวโดรน AI ตัวแรกที่ฉลาดขึ้นจากการใช้ 5G ผสมกับความรู้ของ ปตท. จึงถูกมองเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับใช้โดรนกับหลายโซลูชัน ทั้งเรื่องการส่งของ การเดินทาง การถ่ายวิดีโอ และการวิเคราะห์ โดยจะใช้ 5G เป็นตัวเชื่อมข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อให้สั่งการได้ เชื่อว่าจะนำไปสู่การร่วมมือเพื่อเป็นโซลูชันอื่นอีกมาก

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวว่า โดรนนี้เป็นโปรเจกต์ที่ทำงานบนเน็ตเวิร์กอัตโนมัติของ AIS ซึ่งมีการเอา AI มาใช้บริหารจัดการเครือข่ายร่วมกับมนุษย์เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพ จุดนี้ AIS พยายามตั้งเป้าให้ตัวเองเป็นเน็ตเวิร์กอัตโนมัติระดับ 3 ให้ได้ในปี 2023 ก่อนจะขยับเป็นระดับ 4 ที่งานดูแลเครือข่ายจะพึ่งพาพนักงานมนุษย์น้อยลงในปี 2025

ลักษณะการแสดงผลบนแดชบอร์ดของระบบโดรน Horrus
ขณะเดียวกัน โปรเจกต์โดรนยังพัฒนาบนกฎเหล็กว่าผู้ขับโดรนจะต้องเห็นภาพ line of sight หรือแนวสายตาที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ซึ่งการถ่ายทอดภาพแนวสายตาในโดรนไร้คนขับนั้นเป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยีมาตลอด ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 นักพัฒนาจะต้องนำระบบ CPE ติดตั้งไปกับโดรน จนขยับมาเริ่มติดโทรศัพท์มือถือไปกับโดรน และปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์ที่ผังด้านในโดรน ทำให้ใส่ซิมแล้วสามารถใช้งานได้เลย

“จากเดิมทำไม่ได้เลยถ้าใช้เซลลูลาร์โดรนแต่ที่นี่คือแซนด์บ็อกซ์” วสิษฐ์เล่า “การส่งต่อภาพจำเป็นต้องใช้เครือข่ายแบนด์วิธสูง เป็นเหตุผลของการต้องใช้ 5G จะตอบโจทย์การที่โดรนบินไปโดยที่เราไม่เห็น line of sight เราจะตื่นเต้นว่าโดรนไปไหน แต่ถ้าทำได้ งานตรวจท่อก๊าซ ตรวจสายไฟฟ้า ตรวจรับถนนจะทำได้ วันนี้ AIS ทำงานกับ ARV เพื่อให้โดรน 5G เกิด ซึ่งการใช้งานจริงก็จะเกิด จากที่ก่อนนี้ทำงานไม่ได้ในไทย”

ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV กล่าวว่า Horrus เป็นอีกโซลูชันที่ถูกพัฒนาขึ้นจากพันธกิจของบริษัทในด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจ 1 ใน 3 ส่วนประกอบหลักของโดรน Horrus คือกรอบบรรจุโดรนที่มีน้ำหนักกว่า 400 กิโลกรัม ที่เป็นทั้งตัวปล่อย จอด และสถานีชาร์จโดยเป็นฮับสำหรับอัปโหลด ดาวน์โหลดข้อมูลระหว่างโดรนและซอฟต์แวร์ 

ส่วนที่ 2 คือฮาร์ดแวร์ที่ประกอบด้วยทั้งอุปกรณ์เพื่อการบินและส่วนเสริม เช่น กล้อง รวมถึงอุปกรณ์อื่นที่จะเพิ่มฟังก์ชันการทำงานได้หลากหลายมากขึ้น น้ำหนักรวมขณะทดสอบราว 2 กิโลกรัม และส่วนที่ 3 คือซอฟต์แวร์ที่จัดการการบินระหว่างโดรนหลายลำ และวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาได้ด้วย AI ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานบน 5G ที่เสถียร ปลอดภัย และเร็ว ลดข้อจำกัดที่ทำไม่ได้บนคลื่นวิทยุ

“เราพร้อมที่จะเป็นฮับของเทคโนโลยี ความพร้อมทั้งเครือข่ายสัญญาณ มีการผ่อนคลายกฎระเบียบให้ทดลองง่ายขึ้น และมีการให้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษี เอื้อต่อธุรกิจ” ธนากล่าว “ตอนนี้โดรนอัตโนมัติพัฒนาเสร็จแล้ว เอาไปใช้แล้วหลายส่วน ส่วนแรกคือ การติดตามผลความคืบหน้างานก่อสร้าง เรามีระบบเรียนรู้ด้วยเครื่อง (ML) ที่วิเคราะห์ภาพถ่ายที่เก็บได้จากการบินโดรนว่ามีความคืบหน้าไปเท่าไหร่ นอกจากนี้ มีการทำโซลูชันสำรวจการจราจร เป็นการแสดงศักยภาพของทุกพันธมิตรในโครงการนี้ ว่ามีการขยายผลในวงกว้าง เป็นการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ในไทยต่อไปในอนาคต”

Horrus โดรน AI ฝีมือคนไทยถูกพัฒนาถึงขั้นพร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์
ธนาย้ำว่า โดรน AI บน 5G เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ ARV พัฒนาขึ้นมาโดยบุกเบิกเป็นเจ้าแรกในภูมิภาคเอเชีย จากยุคแรกที่พัฒนาขึ้นเองสำหรับใช้กับการปฏิบัติการของ ปตท.สผ. วันนี้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลิตผลของการเข้ามาใช้วังจันทร์วัลเลย์อย่าง Horrus นั้นได้รับข้อดีจากความได้เปรียบหลายด้านทั้งการมีระบบนิเวศที่ครบ มีหน่วยงานการศึกษา การผ่อนปรนกฎหมายที่ทำให้ทดสอบง่าย และด้านภาษีที่ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ

“ถ้ากฎหมายรองรับก็สามารถเอาไปใช้ได้เลย Horrus อยู่ในขั้นพร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ งบจัดซื้อโดรนยังต้องดูก่อนว่าจะใช้ในลักษณะไหน รูปแบบการจ่ายทำได้หลายแบบ ทั้งการซื้อเลยและเช่าใช้ ยังอยู่ช่วงหาข้อมูล ตอนนี้เรามุ่งที่การปรับใช้มากกว่าสร้างรายได้ แผนโกทูมาร์เก็ตยังไม่แน่ ถ้าเคสนี้สำเร็จแล้วทำให้ผู้คนรับรู้ได้มาก ก็ไปต่อได้”

สำหรับแผนการทำตลาดนอกประเทศไทย ธนามองว่าจะเน้นที่การใช้งานในประเทศก่อนในช่วงแรก โดยปัจจุบัน ARV เป็นบริษัทที่รับรู้รายได้จากการเป็นเวนเจอร์บิลเดอร์ รวมถึงการซัปพอร์ตเทคโนโลยีที่มีในมือในกรณีของโดรนที่ ARV ประกาศพร้อมขายเต็มตัวนั้นบริษัทยังไม่ได้กำหนดกำลังการผลิตที่ชัดเจน

“กำลังการผลิตยังไม่ได้ดู เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่ได้กังวล ที่เราเน้นคือเรื่องการใช้ เราพยายามสื่อสารกับนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่ผู้คนไม่สะดวกในการเข้าไปทำงาน รวมถึงองค์กรที่ต้องการทุ่นแรงคน ซึ่งการจราจรก็เป็นอีกยูสเคสเช่นเดียวกับการตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างอาคาร ถือว่าเทรนด์การใช้โดรน AI จะต่างที่การใช้งานโดยจะเหมือนกันที่การเข้าลำบากและออกลำบาก”

แนวทางการพัฒนาโดรน AI บน 5G ที่พร้อมขายในไทยคือการเพิ่มระยะเวลาให้สามารถบินได้นานขึ้น
ที่สุดแล้ว ธนายังอุบเงียบเกี่ยวกับโรดแมปการพัฒนาโดรน AI บน 5G โดยทิ้งท้ายเพียงว่าเทคโนโลยีนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ แต่จะอยู่ในขอบเขตให้โดรนดำเนินการบินได้ด้วยตัวเองเช่นกรณีที่แบตเตอรี่หมด เครื่องจะต้องบินกลับมาที่ฐานเอง และสามารถสื่อสารข้อมูลระหว่างโดรนและศูนย์ที่ต้องรู้ตำแหน่งโดรนและหลบหลีกการชนได้เอง

จากการสอบถามทีมนักพัฒนาพบว่า แนวทางการพัฒนาโดรน AI ที่พร้อมขายในไทยคือการเพิ่มระยะเวลาให้สามารถบินได้นานขึ้น บนพื้นที่กล่องเล็กลงและเพิ่มความยืดหยุ่นให้สามารถติดอุปกรณ์เสริมได้หลากหลาย ขณะนี้ทีมกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดรนขนส่ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้โดรนทำหน้าที่เหมือนรถกระบะ ที่เมื่อติดถังน้ำจะเป็นรถดับเพลิง หรือติดตั้งอุปกรณ์การแพทย์จะเป็นรถพยาบาล 

จุดนี้องค์กรที่ต้องการใช้งานจะต้องไปหาสิ่งที่อยากได้ เพื่อให้ระบบ AI ที่ทำงานบนออนไลน์ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการบินตรวจอัตโนมัติบน 5G ไปปรุง แล้วมาเสิร์ฟบนแดชบอร์ดในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น