xs
xsm
sm
md
lg

TKC เสริมจิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย ‘ไซเบอร์ซิเคียวริตี’ เดินหน้าบุกสมาร์ทโซลูชัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นระยะเวลากว่า 18 เดือน หลังจากที่ เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น (TKC) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และเริ่มเดินหน้าเข้าสู่การให้บริการโซลูชันอัจฉริยะ (Smart Solutions) ครอบคลุม 8 ธุรกิจ เพื่อที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ของ TKC และช่วยให้สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง 15-20% ในแต่ละปี

ความเคลื่อนไหวล่าสุดในการลงนามบันทึกข้อตกลง และการเจรจาร่วมลงทุนกับทาง EC-Council ผู้ให้บริการฝึกอบรมบุคลากรทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี และมีความเชี่ยวชาญในการให้บริการศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Security Operations Center : SOC) ทำให้ปัจจุบัน TKC มีพันธมิตรที่เข้ามาร่วมงาน และช่วยให้สามารถเดินหน้าทั้ง 8 สมาร์ทโซลูชันที่เตรียมการไว้ครบทุกด้านแล้ว

สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (TKC) ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์การลงทุนดิจิทัลในไทยของทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทยตอนนี้เริ่มให้ความสำคัญกับไซเบอร์ซิเคียวริตีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากคำถามแรกๆ ที่เกิดขึ้นในการเข้าไปนำเสนอเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบโทรคมนาคม คือ เน็ตเวิร์กมีความปลอดภัยหรือไม่

“ก่อนหน้านี้ การลงทุนทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีถือเป็นหมวดสุดท้ายที่หลายฝ่ายคำนึงถึง มองเป็นเรื่องไกลตัว ทำให้การลงทุนทางด้านไอทีส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์เป็นหลัก แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์ที่หน่วยงานต่างๆ โดนโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้น ทำให้ลูกค้าของ TKC ทั้งหมดหันมาให้ความสำคัญกับไซเบอร์ซิเคียวริตีเป็นลำดับแรกๆ”

เมื่อเห็นถึงเทรนด์ดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าโอกาสในการเติบโตของธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี ที่ทาง TKC วางไว้เป็น 1 ใน 8 เสาหลักของสมาร์ทโซลูชัน จะเข้ามาช่วยเสริมให้ธุรกิจสามารถสร้างการเติบโตต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้จากสัดส่วนรายได้ของไซเบอร์ซิเคียวริตีที่มีอยู่ราว 3-5% เติบโตในระดับตัวเลข 2 หลักขึ้นไปในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ในแง่ของภาพรวมธุรกิจ TKC ปีนี้ เชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้ตามเป้ารายได้ที่วางไว้ 3,300 ล้านบาท ซึ่งรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาถือว่าตามเป้าหมายที่วางไว้ เช่นเดียวกับรายได้ Backlog กว่า 3,000 ล้านบาทที่จะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 50% และเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเดินหน้าเข้าร่วมประมูลโครงการตามแผนที่วางไว้

“สิ้นปีนี้จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าหลังจาก IPO เข้าสู่ตลาดทาง TKC ได้นำเงินลงทุนเข้ามาขยายธุรกิจหลักได้ครบทั้ง 8 สมาร์ทโซลูชันเรียบร้อยแล้ว พร้อมไปกับการชำระหนี้บางส่วน และยังสร้างโอกาสในการเข้าร่วมประมูลงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นรวมๆ แล้วกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดหวังว่าจะชนะไม่ต่ำกว่า 30-40%”

ความแตกต่างที่ชัดเจนหลังจากระดมทุน คือก่อนหน้านี้ ในการเข้าร่วมประมูลโครงการจะมีข้อจำกัดในแง่ของเงินทุน ทำให้ถ้าต้องเข้าร่วมประมูลโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท ต้องใช้การเข้าไปร่วมกับพันธมิตรเพื่อตั้งเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) เพื่อเข้าประมูล แต่หลังจากนี้ TKC มีศักยภาพที่จะเข้าประมูลในงานที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมกับลดความเสี่ยงในการไม่เข้างานที่ไม่มีความรู้มาก่อนด้วย

***ลงทุนครบ 8 สมาร์ทโซลูชัน


สำหรับแผนการให้บริการ 8 สมาร์ทโซลูชัน ที่ทาง TKC ประกาศไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นการนำไปให้บริการแล้วไม่ว่าจะเป็น 1.โรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ที่เข้าไปร่วมกับโรงพยาบาลศิริราชสร้างต้นแบบในการนำเทคโนโลยี 5G Cloud และ AI เข้าไปใช้งานในระบบห้องฉุกเฉิน และรถฉุกเฉิน ที่พร้อมจะขยายไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สนใจ

ถัดมาในส่วนของ 2.อาคารอัจฉริยะและสนามบินอัจฉริยะ (Smart Building) นอกจากโปรเจกต์ที่ให้บริการกับท่าอากาศยานไทย ในการพัฒนาระบบสนามบินอัจฉริยะแล้ว TKC เพิ่งเซ็นสัญญาร่วมกับ 3 บริษัทระดับโลก ในการนำเทคโนโลยีตรวจวิเคราะห์การหมุนเวียนของผู้โดยสารในพื้นที่สาธารณะ และในอาคาร เพื่อนำมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในสนามบิน ก่อนที่จะต่อยอดไปใช้งานภายในอาคารสำนักงาน ไปจนถึงเชื่อมต่อไปยังสมาร์ทซิตีในอนาคต

ขณะที่ในส่วนของ 3.การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ได้เข้าไปร่วมมือกับมูลนิธิณัฐภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง นำระบบ IoT โดรน และพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปทำโครงการเพื่อความยั่งยืนและตอบแทนสังคม 4.ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ (Smart Logistics) จะเน้นเข้าไปให้บริการเพื่อออกใบอนุญาตและใบรับรองทางดิจิทัลแก่ผู้ประกอบการ 5.แพลตฟอร์มอัจฉริยะ (Smart Platform) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้งานอย่างการแจ้งความออนไลน์ ระบบเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์

6.ระบบรถยนต์อัจฉริยะ (Autonomous Solutions) ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พัฒนาต้นแบบรถบัสไฟฟ้าไร้คนขับ ใช้รับส่งนักท่องเที่ยวในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567

ส่วนในแง่ของแพลตฟอร์มการศึกษา (Smart Learning) ด้วยการนำโซลูชันของการสื่อสาร 4G และ 5G เข้าไปใช้งาน พร้อมกับ 8.การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ซึ่งการที่ได้พันธมิตรอย่างอีซี เคาน์ซิล โกลบอล เซอร์วิส (EC-Council Global Services) เข้ามาจะช่วยเติมเต็มในแง่ของการพัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านไซเบอร์ให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ในแง่ของไซเบอร์ซิเคียวริตี ทาง TKC ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อจัดอบรมบุคลากรในหน่วยงานที่ดูแลโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญกับประเทศ (Critical Infrastructure : CI) อย่างไฟฟ้า และประปา ซึ่งปีที่ผ่านมาได้อบรม และรับรองบุคลากรไปแล้วกว่า 3,000 คนในการสร้างความแข็งแกร่งและรับมือกับภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์

“ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในแง่ความปลอดภัยถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นความร่วมมือกับทาง EC-Council จะช่วยให้พัฒนางานด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี เพื่อให้ TKC ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในไทยได้”

***อบรมบุคลากรรับมือภัยไซเบอร์ 10,000 คน

ขั้นตอนหลังจากนี้คือ ทาง EC-Council จะดำเนินการร่วมกับทาง สกมช. เพื่อบรรจุหลักสูตรในการอบรมด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ให้ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อให้บุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมสามารถนำไปใช้เพื่อให้บริการ หรือดูแลรักษาความปลอดภัยได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา และปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสม โดยเฉพาะการแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น

เบื้องต้น TKC จะให้บริการฝึกอบรมผ่านไอบีเอส คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ได้รับสิทธิเพียงรายเดียวในไทย คาดว่าหลังจากผ่านขั้นตอนแล้วเสร็จภายใน 1 ปี จะสามารถฝึกอบรมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ประเทศราว 10,000 ราย ซึ่งที่ผ่านมาหลักสูตรที่ EC-Council ใช้อบรมได้รับการยอมรับจากหน่วยงานความมั่นคงในระดับโลก ผ่านการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยของรัฐบาล โดยตั้งเป้าไว้ 10 แห่งในปีแรก ซึ่งขณะที่อยู่ระหว่างการพูดคุยเบื้องต้นราว 4-5 แห่ง ก่อนขยายไปยังองค์กรธุรกิจ หรือหน่วยงานภาครัฐที่มีความอ่อนไหวต่อการคุกคามทางไซเบอร์ อย่างธนาคาร สถาบันการเงิน สนามบิน และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน

เจย์ บาวิซี ประธานบริษัทอีซี เคาน์ซิล โกลบอล เซอร์วิส ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ว่า ได้สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้นมาสูงเป็นลำดับที่ 3 เมื่อเทียบกับจีดีพีของทุกประเทศทั่วโลก และยังมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมไซเบอร์ได้สร้างความเสียหายมากกว่า 8.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นมูลค่าสูงอันดับที่ 3 ของเศรษฐกิจโลก และมีการเติบโตในระดับตัวเลข 2 หลักในแต่ละปี สูงกว่าจีดีพีของประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตในตัวเลขหลักเดียว”

นอกจากนี้ TKC ยังอยู่ระหว่างการลงทุนร่วมกับทาง EC-Council เพื่อให้บริการศูนย์ปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (SOC) ด้วยงบราว 5 ล้านเหรียญ หรือราว 175 ล้านบาท เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในกลุ่ม CI โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งประโยชน์หลักที่จะได้คือความเชี่ยวชาญจากทาง EC-Council ที่สามารถดึงบุคลากรระดับโลกที่มีความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตีมาช่วยในกรณีที่เกิดการคุกคาม หรือในกรณีที่มีเหตุการณ์ที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องใช้ศูนย์ควบคุมระดับโลกเข้ามาช่วยเหลือก็สามารถประสานงานไปได้ทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น