xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก ‘ดัชนีสุขภาวะดิจิทัล’ ฉบับแรกของคนไทย (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่ AIS เผยผลสำรวจการใช้งานดิจิทัลของคนไทยฉบับแรก เพื่อนำไปใช้ผลักดันสู่การพัฒนาและส่งเสริมคนไทยให้มีความรู้เท่าทันในการใช้งานดิจิทัล ที่กลายเป็นว่าคนไทยกว่า 44.04% อยู่ในระดับต้องพัฒนา

การมี ‘ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index’ ที่แสดงให้เห็นถึงมาตรวัดทักษะดิจิทัลที่ชัดเจน จะเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้คนไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจถึงปัญหา และร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการเสริมความเข้าใจการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า จากปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการใช้งานดิจิทัล ทำให้ที่ผ่านมา AIS เริ่มโครงการอย่าง ‘อุ่นใจ Cyber’ เข้ามาช่วยสร้างการตระหนักรู้ภัยทางดิจิทัล จนถึงวิธีการรับมือเพื่อลดผลกระทบจากการใช้งาน

“ในมุมของ AIS นอกจากการพัฒนาสินค้า และบริการที่ให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในการใช้งานโครงข่ายให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนเน็ตเวิร์ก และโซลูชันมาช่วยปกป้องผู้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจุดประกายสังคมผ่านโครงการอุ่นใจ Cyber ตั้งแต่วันที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิต”

จากการที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ส่งผลกระทบทั้งในระดับบุคคลอย่างการขโมยข้อมูลส่วนตัว การหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ จนถึงการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ต่อเนื่องไปถึงภัยความมั่นคงระดับประเทศที่เชื่อมโยงกับเรื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาเตรียมการรับมืออย่างจริงจัง


นับตั้งแต่ปี 2019 ที่เปิดตัวภารกิจอุ่นใจ Cyber ทาง AIS มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องทั้งการทำงานร่วมกับพันธมิตรในการให้บริการเพิ่มความปลอดภัยอย่าง Secure Net และ Google Family Link เข้ามาช่วยป้องกันอันตรายจากลิงก์ และการใช้งานที่ไม่ปลอดภัย ต่อเนื่องไปถึงการพัฒนาหลักสูตรอุ่นใจ Cyber ในปี 2021 และเริ่มอบรมหลักสูตรให้ครูกว่า 1,500 คนทั่วประเทศ พร้อมกับเปิดสายด่วนรับแจ้งเบอร์ และ SMS มิจฉาชีพในปี 2022 ร่วมกับตำรวจไซเบอร์เพื่อชี้เบาะแสในการตามจับมิจฉาชีพ
ตามด้วยการเปิดหลักสูตรอุ่นใจ Cyber สำหรับคนไทย กระตุ้นด้วยแคมเปญสร้างการตระหนักรู้อย่าง ‘มีความรู้ก็อยู่รอด’ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้งานทั่วประเทศ ก่อนนำหลักสูตรเข้าร่วมกับสถานศึกษาในสังกัดของสพฐ. จนทำให้ปัจจุบันมีผู้เรียนหลักสูตรอุ่นใจ Cyber ไปแล้วกว่า 2.5 แสนคน

“ความตั้งใจต่อไปของ AIS คือการสร้าง Cyber Wellness for THAIs เพื่อทำให้คนไทยรู้จักและใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ ซึ่งเฉพาะ AIS เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำโครงการใหญ่ขนาดนี้ได้ ทำให้ AIS พร้อมเข้าไปร่วมงานกับหน่วยงาน หรือองค์กรที่สนใจขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปพร้อมกัน เพราะทุกสิ่งที่คิด ที่พัฒนาขึ้นมาเป็นของคนไทยทุกคน”

แน่นอนว่าเพื่อให้โครงการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยสามารถวัดผลได้ เพื่อที่จะสามารถยกระดับความรู้ของคนไทยได้อย่างตรงจุด ทำให้เกิดแนวคิดในการรวบรวมข้อมูล “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)” ผ่านการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมนักวิชาการหลากหลายภาคส่วน จนออกมาเป็นรายงานชิ้นนี้

***ความสำคัญของ TCWI

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล จะเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันรับมือ และหาวิธีในการจัดการปัญหาภัยออนไลน์ตั้งแต่ต้นเหตุ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้งานดิจิทัลในสังคมไทย ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานดิจิทัลในไทยออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย

1.สุขภาวะดิจิทัลระดับสูง (Advance) คือกลุ่มผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และสร้างสรรค์ รวมถึงยังรู้เท่าทันการใช้งาน และภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ พร้อมสามารถแนะนำให้คนรอบข้างเกิดทักษะในการใช้งานดิจิทัลได้เป็นอย่างดี

2.สุขภาวะดิจิทัลระดับพื้นฐาน (Basic) ผู้ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโลกไซเบอร์ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ 3.สุขภาวะดิจิทัลระดับที่ต้องพัฒนา (Improvement) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอที่จะใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล มีความเสี่ยงต่อการใช้งานในโลกไซเบอร์

ฉัตรกุล สุนทรบุระ หัวหน้าแผนกงานบริหารภาพลักษณ์องค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน AIS ผู้รับผิดชอบโครงการ
ทั้งนี้ ในการเก็บข้อมูล 7 ด้าน 21 องค์ประกอบ ครอบคลุมทั้ง 1.ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use) ในการตระหนักถึงความสำคัญในการใช้งานดิจิทัลในชีวิตประจำวัน 2.ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy) อย่างการเข้าถึงข้อมูล การจัดการข้อมูล และการสร้างสรรค์เนื้อหาทางดิจิทัล 3.ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration) จากการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม 4.ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights) เกี่ยวกับกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงออก 5.ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety) อย่างความเข้าใจกระบวนการเทคโนโลยีเพื่อป้องกันและรับมือจากภัยคุกคาม

6.ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) อย่างการกลั่นแกล้ง คุกคาม หรือรังแกผู้อื่นในแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล และ 7.ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) ในการเอาใจใส่ผู้อื่น และแสดงน้ำใจช่วยเหลือบนโลกออนไลน์

โดยจากดัชนี TCWI ที่ทำการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทั่วประเทศกว่า 21,862 คน พบว่า ภาพรวมคนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับ ‘พื้นฐาน’ แต่เมื่อมองเข้าไปในแต่ละระดับ พบว่า กว่า 44.04% อยู่ในระดับที่ ‘ต้องพัฒนา’


สิ่งที่น่ายินดีคือ ดัชนีทางด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ของคนไทยถือว่าอยู่ในระดับ ‘สูง’ จากการที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพัฒนาทักษะในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ด้านการใช้ดิจิทัล การรู้เท่าทัน และความมั่นคงปลอดภัยดิจิทัลยังอยู่ในระดับ ‘พื้นฐาน’ ส่วนด้านการเข้าใจสิทธิทางดิจิทัล การแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล และการสื่อสาร ทำงานร่วมกัน ยังอยู่ในระดับ ‘ต้องพัฒนา’ แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังต้องมีการพัฒนาทักษะในด้านเหล่านี้เพิ่มเติม

ฉัตรกุล สุนทรบุระ หัวหน้าแผนกงานบริหารภาพลักษณ์องค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน AIS กล่าวเสริมว่า ข้อมูลจากดัชนีนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานดิจิทัลของคนไทยเป็นอย่างไร เพื่อให้สามารถนำไปวัดผลได้ว่าในอนาคตความท้าทายในการพัฒนาองค์ความรู้ หรือภูมิคุ้มกันของคนไทยเป็นอย่างไร

“AIS พร้อมที่จะเข้าไปจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ เข้าไปดูแลเพื่อสนับสนุนสุขภาวะของคนไทยให้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนไทยได้ใช้งานอย่างปลอดภัย และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”


กำลังโหลดความคิดเห็น